“เทียนฉาย” วอนอย่าวิตกความเห็นแตกต่าง เรื่องคนนอกนั่งโควตา สปช. ใน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ให้ที่ประชุมใหญ่ตัดสิน ด้านโฆษกวิป สปช. ระบุขึ้นกับมติที่ประชุม 27 ต.ค. นี้ เผย “คำนูณ” เป็นตัวแทน สปช. ด้านกฎหมายเข้านั่ง กมธ. แน่ ด้าน “ดิเรก ถึงฝั่ง” ได้ทีแนะ หากให้โควตาคนนอกควรเป็นตัวแทนพรรคการเมือง
วันนี้ (25 ต.ค.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่มี สปช. คัดค้านโควตาคนนอก 5 คน ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสัดส่วนของ สปช. ว่า ถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีคนออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน เพราะในวิป สปช. เอง ความเห็นออกยังหลายหลาย ไม่ได้ตรงกันหมดทั้งวิป มีการแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลายทั้ง 2 ด้าน บ่อยครั้งที่ข้อเสนอของวิปจะไม่ตรงกับเสียงส่วนใหญ่ เรื่องนี้ไม่น่าเป็นเรื่องที่ควรวิตกกังวลอะไร ส่วนตัวได้รับเลือกให้เป็นประธานจะออกมาแสดงความคิดเห็นอะไรไม่ได้ ดังนั้น ต้องให้ที่ประชุมใหญ่ตัดสิน คงจะต้องมีการโหวตหากความคิดเห็นไม่คล้อยไปในทางเดียวกัน
ด้าน นายวันชัย สอนศิริ สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในฐานะโฆษกวิป สปช. (ชั่วคราว) กล่าวถึงกรณีที่ขณะนี้มี สปช. หลายกลุ่มไม่เห็นด้วยที่จะนำคนนอกจำนวน 5 คน มาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในโควตาของ สปช. เนื่องจากเชื่อว่าคนในมีความรู้ความสามารถเพียงพอ ว่า แนวคิดอัตราส่วนคนใน 15 คน และคนนอก 5 คน เป็นข้อเสนอของวิป สปช. (ชั่วคราว) ซึ่งต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 27 ต.ค. นี้ ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอของวิปก็จบ แต่ถ้าไม่เห็นด้วย และเห็นว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นคนใน สปช. ทั้ง 20 คน ก็ต้องเป็นตามเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมเนื่องจากวิปไม่ได้ตั้งธงว่าจะต้องเป็นแบบนี้หรือแบบนั้น
นายวันชัย กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตอนนี้เชื่อว่าจะเป็น นายคำนูณ สิทธิสมาน โดยทางกลุ่มจะมีการประชุมอีกครั้งในเวลา 09.00 น. ก่อนเริ่มประชุมในวันที่ 27 ต.ค. นี้
ด้าน นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช. จากจังหวัดนนทบุรี กล่าวถึงกรณีที่มี สปช. คัดค้านโควตาคนนอก 5 คน ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสัดส่วนของ สปช. ว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยในโควตาคนนอกหากไม่ได้มีการระบุว่าคนนอกจะเป็นกลุ่มใดบ้าง เพราะ สปช. 250 คน ก็มีความหลายหลายอยู่แล้ว คงไม่จำเป็นต้องเอาคนนอกเข้ามา รวมทั้ง สปช. น่าจะมีการสมัครกันจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองต่างๆ จะเห็นด้วย เพราะตัวแทนการพรรคต่างๆ น่าจะมีข้อมูลและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ การยอมรับจะมีสูงขึ้น แต่พรรคการเมืองจะสามารถหาตัวแทนมาได้หรือไม่คงจะเป็นเรื่องยาก เพราะการเป็น กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง คงไม่มีใครอยากจะเข้ามา ดังนั้น เรื่องนี้คงต้องรอหารือกันในที่ประชุมใหญ่ว่าจะให้มีสัดส่วนอย่างไร ในสัดส่วนของภาคจังหวัดคงจะไม่มีการขอเพิ่มหากที่ประชุมมีมติให้สัดส่วน กมธ. เป็น สปช. ทั้ง 20 คน เพราะอย่างไรก็เป็นการทำงานร่วมกันทั้งสภาอยู่แล้ว
“จรัส-วุฒิสาร” เต็งกรรมาธิการยกร่างฯ สายท้องถิ่น - “มานิจ” ตัวแทนสื่อ
นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช. ด้านการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า ในส่วนของตัวแทนของ สปช. ด้านการปกครองท้องถิ่นที่จะเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังไม่เคาะว่าใครจะเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ เพราะทางกลุ่มเห็นว่ามีผู้เหมาะสม 2 คน ได้แก่ นายวุฒิสาร ตันไชย และ นายจรัส สุวรรณมาลา โดยทางกลุ่มจะได้มีการนัดประชุมเวลา 09.00 น. ก่อนที่จะมีการประชุม สปช. ในวันที่ 27 ต.ค. นี้ เวลา 10.00 น. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ตกผลึกว่าที่ประชุม สปช. จะเห็นด้วยตามมติวิป สปช. (ชั่วคราว) ที่เสนอว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วน สปช. จำนวน 20 คน ควรจะเป็นคนใน สปช. 15 คน และเป็นคนนอก 5 คน เพราะถ้ามติที่ประชุมใหญ่เห็นตามมติวิป สปช. (ชั่วคราว) ก็จะได้ไปคัดตัวแทนจาก 11 ด้าน และ 4 ภาค เข้ามาอย่างละ 1 คน ก็จะเป็น 15 คน รวมไปถึงการพิจารณาคุณสมบัติของคนนอก 5 คน
“เมื่อที่ประชุมวงใหญ่ สปช. ตกผลึกชัดเจนถึงจำนวน สปช. ที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ว่าจะเป็นคนในทั้งหมด 20 คน หรือจะเป็นคนนอกเข้ามาด้วย 5 คน ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะได้นำมาสู่แบ่งสัดส่วนที่ชัดเจน ซึ่งทาง สปช. ด้านการปกครองท้องถิ่นก็มีบุคคลที่มีความพร้อมเป็นตัวแทนเข้าร่วมอยู่แล้ว” นายเกรียงไกร กล่าว
ข่าวแจ้งว่า สำหรับ นายวุฒิสาร และ นายจรัส ทั้ง 2 คน ยังมีความต้องการที่จะเข้ามาปฏิรูปงานทางด้านท้องถิ่นมากกว่า จึงต้องรอการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ในส่วนของ สปช. ด้านสื่อสารมวลชน ก็เคาะชื่อของ นายมานิจ สุขสมจิตร เป็นตัวแทนกลุ่มแล้ว