xs
xsm
sm
md
lg

สปช.หักวิปฯ ลงมติไม่เอาคนนอก 5 คนนั่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปช.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมติวิปฯ ลงมติ 175 ต่อ 39 ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็น สปช.ทั้งหมด 20 คน ไม่เอาคนนอก



ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หลังนายเทียนฉาย กีรนันท์ ว่าที่ประธาน สปช.ฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมชั่วคราว สั่งพักการประชุมและเริ่มประชุมอีกครั้งเวลา 13.50 น.วันนี้ (27 ต.ค.) เพื่อพิจารณาสัดส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่วิป สปช.เสนอให้เป็นคนใน สปช.15 และคนนอก 5 คนจากโควตาของ สปช. 20 คน

โดยนายเฉียนชายได้เปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการกิจการ สปช.ชี้แจง ซึ่งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช.คนที่ 1 ในฐานะกรรมาธิการประสานงาน สปช. (วิป สปช.) ได้ชี้แจงว่า ทางกรรมาธิการมีดำริให้เสนอต่อสภา เพื่อให้มี สมาชิก สปช.เข้าไปเป็นสมาชิกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 15 คนนั้น ส่วนอีก 5 คนที่เหลือ ทางกรรมาธิการเห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศกว่า 10 ปี และมีปัญหาในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญมาหลายยุคหลายสมัย และความขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปในครั้งนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะต้องไม่เป็นเพียงเอกสารที่ถูกตราว่าเป็นกติกาของผู้ชนะที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นจะต้องมีการเปิดโอกาสให้คู่ขัดแย้งเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย แต่ต้องไม่ใช่เสียงข้างมาก

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ในตอนนี้ก็มีหลายพรรคการเมืองเข้าร่วม แต่พรรคการเมืองใหญ่อย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือกลุ่ม กปปส. กลุ่ม นปช.ยังไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งสภาแห่งนี้ต้องการความปรองดอง สมานฉันท์ ที่จะเปิดโอกาสให้คนนอกเข้าร่วมได้ แต่ถ้าพวกเขาไม่ยอมเข้ามาเอง ในอนาคตหากจะต่อต้านว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ประชาชนก็จะได้พิจารณากันต่อไปได้

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช.ในฐานะเลขานุการวิป สปช.กล่าวว่า กลุ่มการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงอาจจะดูถึงการตอบรับ หรือปฏิเสธในการเข้าร่วม ซึ่งทางกรรมาธิการฯก็ต้องนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้ทางสภาแห่งนี้พิจารณา ตัวแทนของพรรคการเมืองจึงถือว่าสำคัญมากในการเข้าร่วมปฏิรูปในครั้งนี้ ทางกรรมาธิการฯ จึงพยายามที่จะเสนอทางออก ทางเลือก เพราะไม่ต้องถูกมองว่าในอนาคตเราจะถูกตราว่า เป็นผลพวงของผลไม้พิษ รัฐประหาร สปช.จึงจะต้องเริ่มด้วยความไม่ใจซึ่งกันและกัน และถือเป็นสันติวิธี

“ทางกรรมาธิการไม่ได้สงสัยในความรู้ความสามารถของสมาชิก สปช.ทั้ง 250 คน แต่เมื่อได้รับมอบหมายให้ไปพิจารณาในชุดเล็ก มีการถกกันเรื่องบุคคลที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียเยอะมาก และที่สำคัญวันนี้บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ การมีส่วนร่วม และหันหน้าเข้าหากัน จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นหากเราไม่ให้โอกาสเขา ในขณะที่เราสามารถให้ได้ เป็นข้อคิดที่น่าสนใจ”

จากนั้นนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช.กล่าวว่า เหตุผลที่แท้จริงที่จะให้ 5 คนเข้ามาเป็นสมาชิกยกร่างฯ ก็น่าจะทำให้การอภิปรายของสมาชิกชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากสมาชิก สปช.เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการฯ แต่หากคู่ขัดแย้งเหล่านั้นแสดงความจำนงไม่ต้องการเข้าร่วมการยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะมีวิธีการดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะในวันนี้เราต้องยอรับว่า คู่ขัดแย้งเหล่านั้นไม่ยอมรับการรัฐประหาร จึงไม่ต้องการเข้าร่วมงานในส่วนนี้ เห็นได้จากบทสัมภาษณ์ของหลายๆ คน แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นไปได้สูงที่จะไม่มาเข้าร่วมกับเรา และคำถามต่อจากนี้คือ หากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ยอมรับคำเชิญ แต่อีกกลุ่มขัดแย้งหนึ่งไม่ยอมมา ทางกรรมาธิการจะมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป

แต่ทางด้านนายเทียนฉายยังไม่เปิดโอกาสให้ทางกรรมาธิการได้ตอบคำถามของนายคำนูณ จึงเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายในประเด็นเดิมต่อไปก่อน เพราะเกรงว่าจะทำให้การประชุมมีการอภิปรายแตกประเด็นออกไปอีก และหากการอภิปรายเรื่องสัดส่วนคนในกับคนนอกจบแล้ว ก็จะย้อนกลับมาที่คำถามของนายคำนูณอีกครั้ง

เมื่อมีสมาชิกอภิปรายไปได้เพียง 2 คน ทางนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิก สปช. ได้เสนอให้ที่ประชุมปิดการอภิปราย เพื่อลงมติจะเห็นด้วยกับกรรมาธิการหรือไม่

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับข้อเสนอของวิป สนช.ชัวคราวที่ เสนอให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะมีสมาชิก สปช.จำนวน 15 คน และคนนอก 5 คน หรือจะเป็นสมาชิก สปช.ทั้งหมด 20 คน เห็นด้วย 39 ไม่เห็นด้วย 175 งดออกเสียง 5 สรุปเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมาจากสมาชิก สปช.ทั้งหมด 20 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น