xs
xsm
sm
md
lg

"เทียนฉาย"ขอสปช.ต้นแบบปรองดอง รัฏฐาธิปัตย์ล็อกร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา เมื่อวานนี้ (3พ.ย.) ว่า บริเวณห้องโถงชั้นล่าง อาคารรัฐสภา 1 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากจะมีพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่ 1 น.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่ 2 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ
โดยในเวลา 07.45 น. นายเทียนฉาย นายบวรศักดิ์ น.ส.ทัศนา พร้อมด้วยสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) และข้าราชการระดับสูง ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมในพิธี โดยในเวลา 08.00 น. นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. เป็นผู้อัญเชิญพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ไปวางไว้บนพานโต๊ะหมู่ในห้องพิธี และในเวลา 08.04 น .ประธาน สปช. และรองประธาน สปช. ทั้ง 2 คน ได้ทำพิธีรับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประธาน และ รองประธาน สปช. ได้สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระภูมิเจ้าที่ ประจำรัฐสภา ตามลำดับ
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นำข้าราชการรัฐสภา มอบดอกไม้แสดงความยินดีกับ นายเทียนฉาย นายบวรศักดิ์ และน.ส.ทัศนา ในโอกาสได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งด้วย
ต่อมาได้มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี นายเทียนฉาย ทำหน้าที่ประธานการประชุมอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรก ภายหลังจากมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ ซึ่งนายเทียนฉาย แจ้งต่อที่ประชุมว่า หลังจากนี้ สปช. ต้องทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้การทำงานเดินหน้ามากที่สุด ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ หลายเรื่องที่จะต้องมุ่งไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งวิธีการทำงานของสปช. ต้องไม่ทำในทำนองผู้ออกกฎหมาย ซึ่งการทำงานของสปช. ต้องใช้เวลา ความสามัคคี รวมถึงการปรองดองของสปช. จะต้องเป็นต้นแบบให้ของคนในชาติ ส่วนการประชุม สปช. จะประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน ทุกวันจันทร์ และวันอังคาร
ต่อมาที่ประชุม เริ่มพิจารณาระเบียบวาระเรื่อง ร่างข้อบังคับการประชุมสปช. ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายเทียนฉาย แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอยกเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุมที่ 13 ไม่ให้มีการถ่ายทอดสด เรื่องการพิจารณา ร่างข้อบังคับการประชุมฯ ทางวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธาน กมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุมสปช. พ.ศ....ได้เสนอหลักการและเหตุผล ของร่างข้อบังคับดังกล่าว ก่อนให้สมาชิกได้อภิปรายความเห็นวาระแรก ประมาณ 15 นาที ที่ประชุมจึงลงมติรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนน 204 ต่อ 1 พร้อมกับตั้งกรรมาธิการฯเต็มคณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมในวาระ 2 ประเด็นที่ถก เถียงกันมากคือข้อ 80 เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 17 คณะ ที่สมาชิกบางส่วน อาทิ นายดุสิต เครืองาม นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ไม่เห็นด้วย ให้ใช้ชื่อกรรมาธิการวิสามัญฯ เพราะประชาชนไม่เข้าใจความหมายคำว่า วิสามัญ ควรใช้ชื่ออื่นแทนเช่น กรรมาธิการปฏิรูป ซึ่งในที่สุดคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับฯ ยอมให้เปลี่ยนชื่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูป ตามที่สมาชิกเสนอมา
อย่างไรก็ตาม สมาชิกหลายคนยังติดใจเรื่องจำนวนกรรมาธิการฯ 17 คณะ โดยขอให้มีการเพิ่มจำนวนมากกว่า 17 คณะ เนื่องจากเห็นว่า คณะกรรมาธิการฯบางชุดมีภาระการทำงานมากเกินไป เช่น คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการการเงินและการคลัง และคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมการเกษตร ออกมาเป็นการเฉพาะ โดยสมาชิกต่างพากันเสนอความเห็นกันอย่างหลากหลาย กินเวลายาวนาน 8 ชั่วโมง ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ
จนกระทั่งเวลา 18.30 น.คณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมได้หารือกัน โดยยอมให้เพิ่มคณะกรรมาธิการฯอีก 1 คณะ คือ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค รวมมีคณะกรรมาธิการฯ 18 คณะ และเปลี่ยนชื่อคณะกรรมาธิการฯ 4 คณะ เพื่อให้มีความครอบคลุม ภารกิจของ สปช. มากยิ่งขึ้นได้แก่
1. คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็น คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและสิทธิพื้นฐานของประชาชน 2. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร เปลี่ยนเป็น คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการ 3. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็น คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ 4. คณะกรรมาธิการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เป็นคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา วิจัย และนวัตกรรม
ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ไปอยู่ในส่วนของภารกิจของคณะกรรมาธิการฯทุกคณะ โดยให้มีจำนวนคณะกรรมาธิการฯ แต่ละคณะตั้งแต่ 18-27 คน จนกระทั่งเวลา 18.50 น. ที่ประชุมสปช. จึงให้ความเห็นชอบตามที่กรรมาธิการฯแก้ไขมา

**"ประยุทธ์"คัดกมธ.ยกร่างฯครบแล้ว

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าวานนี้ ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เรื่องรายชื่อบุคคลเป็นกมธ.ยกร่าง รธน.ในส่วนคสช.และครม. ซึ่งได้ครบทั้ง 11 คนแล้ว ที่รวมถึงประธานกมธ.ยกร่างฯ และตรวจสอบคุณสมบัติทั้งหมดแล้ว เมื่อถามว่า ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ชัวร์แล้วใช่ไหมว่าเป็น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. นายวิษณุ กล่าวติดตลกว่า ตัวประธานกมธ.ไม่ชัวร์ที่สุด ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ทำไมไม่ใช่ นายบวรศักดิ์ นายวิษณุ กล่าวว่า พูดให้มันเท่ห์เท่านั้นเอง เมื่อถามว่าชื่อที่สื่อมวลชนเสนอข่าว มีตรงกี่เปอร์เซนต์ นายวิษณุ กล่าวว่า รอวันที่ 4 พ.ย. ซึ่งจะมีการประกาศรายชื่อทั้งหมด โดยในส่วนของ คสช.และ ครม.จะแยกชื่อส่ง
เมื่อถามว่า มีชื่อ นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรธน. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่บอก ตนไม่ควรพูด เมื่อถามว่า มีชื่อนายอุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธาน คอ.นธ. ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ แต่รับรองว่า กมธ. หน้าตาดี
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า การยกร่างรธน. ไม่จำเป็นต้องมาเชื่อใจทั้ง 36 คน อย่างน้อยก็มีคนที่น่าเชื่อใจอยู่บ้าง แค่นี้เขาก็คัดท้ายกันได้แล้ว เชื่อ นายมานิต สุขสมจิต กมธ.ยกร่างฯ ก็ยังดี และการร่างรธน. ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 เป็นการกำหนดหลัก และกรอบไว้กว้างๆ พอให้เขียนอะไรได้ ในกำหนดกรอบ 60 วัน คือ 1. การร่างรธน. มีที่มา คือ ต้องมีให้ครบตามมาตรา 35 2. กรอบอื่นที่ สปช.ให้ 3. รับฟังความเห็นประชาชน จะเอากรอบจาก สปช. อย่างเดียวไม่ได้ 4. กมธ.ยกร่างรธน.คิดเอง สิ่งที่ สปช.เสนอไม่ได้เป็นข้อผูกมัดที่กมธ.ยกร่างรธน. จะต้องปฏิบัติตาม เพราะคำว่า กรอบ ในรัฐธรรมนูญ เขาใช้คำว่า ข้อเสนอแนะ เพราะฉะนั้นมันจะไม่ผูกมัดทีเดียว บางทีอาจจะทำไม่ได้ บอกเขาไปว่าอยากเห็นอย่างนั้น แต่ไมเหมือนกับ มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นตัวหลัก แต่ก็กว้างพอที่จะเขียนอะไรก็ได้ เมื่อถามว่า มีคนมองว่าอาจจะเป็นตัวล็อกไม่ให้ได้ข้อเสนออื่นที่ดีได้ นายวิษณุ กล่าวว่า จะว่าล็อก ก็ล็อก ก็ต้องการจะล็อก รัฎฐาธิปัตย์เขาล็อกเอา จะให้ทำอย่างไร

**นัดสปช.ละลายพฤติกรรม 8-10 พ.ย.

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณา ร่าง ข้อบังคับการประชุมสปช. กล่าวว่า หากที่ประชุม สปช.ให้ความเห็นชอบผ่านร่างข้อบังคับการประชุมสปช.เรียบร้อย ทั้ง 3 วาระ คาดว่าในวันที่ 4 พ.ย. จะสามารถให้สมาชิกแสดงความจำนงสมัครเป็นกรรมาธิการคณะต่างๆ หลังจากนั้นในวันที่ 10 พ.ย. จะมีการเปิดประชุม สปช. เพื่อรับทราบผลการบรรจุ สปช.เข้าเป็นกรรมาธิการแต่ละคณะ และเริ่มทำงานได้ทันที ซึ่งกรรมาธิการฯแต่ละคณะ มีเวลาถึงวันที่ 10 ธ.ค. ในการส่งความเห็นเรื่องการปฏิรูปในแต่ละด้านให้สปช.พิจารณา
ทั้งนี้ภายในวันที่ 19 ธ.ค. สปช. ต้องนำแนวทางการปฏิรูปด้านต่างๆ ส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป ส่วนระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย. สปช. จะจัดสัมมนาละลายพฤติกรรมสมาชิกสปช. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เพื่อเตรียมการตั้งอนุกรรมาธิการชุดต่างๆ และวางแนวทางการทำงาน เพื่อให้คณะกรรมาธิการประจำสภาทั้งหมด สามารถเริ่มทำงานได้ทันทีในวันที่ 11 พ.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น