xs
xsm
sm
md
lg

แม่น้ำสายที่ 5 ใกล้เกิด ใครคุม 36 อรหันต์ร่างรธน.?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**มีการคาดการณ์กันจากหลายฝ่ายรวมถึงคนในรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า มีความเป็นไปได้ที่น่าจะมีการเรียกประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นัดแรกได้ ภายในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ หรือน่าจะประมาณช่วงสัปดาห์หน้า
อันจะมีวาระสำคัญก็คือ การให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติเลือก ประธาน และรองประธานสปช. อีก 2 คน จากนั้นเมื่อได้รายชื่อแล้วตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
**การประชุมสปช.นัดแรก ไม่ได้มีความหมายแค่เลือกประธาน-รองประธานสปช. แต่ยังมีความสำคัญอีกอย่างคือ จากวันประชุมสปช.นัดแรก นับไปภายในไม่เกิน 15 วัน จะต้องมีการคลอด “36อรหันต์กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ที่จะต้องไปเขียนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากว่า ใครจะเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรธน. ซึ่งก็คือ “1 ในแม่น้ำ 5 สาย” ที่คสช.ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติอย่างที่คสช.วางเป้าหมายไว้
36 กรรมาธิการยกร่างรธน. ถือเป็นแม่น้ำสายสุดท้ายแล้ว หลังการเกิดขึ้นของแม่น้ำ 4 สายไปก่อนหน้านี้ คือ คณะคสช.-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)- รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา- สปช. ที่แม้กมธ.ยกร่างรธน. จะเป็นแม่น้ำสายสุดท้าย แต่อาจเรียกได้ว่า เป็นสายที่สำคัญที่สุด ในช่วงต่อจากนี้ กับการชี้อนาคตของประเทศไทย ผ่านรธน.ฉบับถาวร ที่จะเป็นกติกาประเทศในทุกเรื่องทั้งการเมือง กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ
**ใครจะมาเป็น 36อรหันต์ยกร่างรธน. จึงพลาดการเกาะติดความเคลื่อนไหวไม่ได้เลย
ประเมินจากกรอบเวลาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ กรรมาธิการยกร่างรธน. น่าจะคลอดออกมาได้ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ หรืออย่างช้าไม่น่าเกินสัปดาห์แรกของเดือนพ.ย.นี้
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีกมธ.ยกร่างรธน.แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะเริ่มยกร่างกันได้เลย ยังไงช่วง 60 วันแรก ต้องรอให้สปช. ส่งการบ้าน คือผลการศึกษาและข้อสรุปจากสปช.ในด้านต่างๆ ตามกรอบการศึกษาเรื่องแนวปฏิรูปประเทศที่ สปช. ไปทำการศึกษามา เช่น เรื่อง การเมือง กฎหมาย พลังงาน กระบวนการยุติธรรม สังคม เศรษฐกิจ ที่สปช. จะต้องเสนอเป็นกรอบคร่าวๆ ต่อกมธ.ยกร่างรธน. โดยต้องให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรธน.ฉบับชั่วคราว คือทำให้ได้รธน.ฉบับถาวร ที่ทำให้มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
**โดยเมื่อกมธ.ยกร่างรธน. ได้ข้อสรุปจากสปช.มาแล้ว กมธ.ยกร่างรธน. ก็มีเวลานับจากวันที่ได้ข้อสรุปจากสปช. ออกไป 120 วันหรือ 4 เดือน ในการไปยกร่างรธน.ให้แล้วเสร็จ หากร่างไม่เสร็จทันตามกำหนด กมธ. ก็สิ้นสภาพ
แต่เชื่อว่ายังไงก็ร่างกันเสร็จทันแน่นอน กมธ. คงไม่ยอมตกม้าตายด้วยเรื่องง่ายๆ แบบนี้ ให้เสียชื่อเสียงตัวเองแน่นอน อีกทั้งแม้กมธ. จะมีเวลา 4 เดือน แต่ก่อนหน้านั้น 2 เดือนแรกที่รอ สปช. ส่งข้อเสนอมา ทางกมธ. ก็คงมีการไปหารือวางโครงร่างรธน.ทั้งฉบับไว้คร่าวๆ กันไปก่อนแล้ว
รธน.ฉบับชั่วคราวปี 57 กำหนดสเปกของกมธ.ยกร่างรธน.ไว้คร่าวๆ เช่น ต้องไม่เป็นข้าราชการตุลาการ และกรรมการองค์กรอิสระ อีกทั้งเมื่อหมดหน้าที่แล้ว กมธ.ยกร่างรธน.ต้องปลอดการเมืองสองปี คือไปรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองไม่ได้ เช่น รัฐมนตรี ส.ส.-ส.ว. ก็เป็นการกำหนดเอาไว้เพื่อป้องกันการมีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองของกมธ. อันเป็นหลักที่ถูกต้อง
จับกระแสเบื้องต้น ส่องดูความเป็นไปได้ ของคนจะมาเป็น 36 อรหันต์ ยกร่าง รธน. ในส่วนของตัวประธานกมธ. ที่รธน. บัญญัติให้คสช.มีอำนาจเสนอชื่อคนเป็นประธานกมธ.ยกร่างรธน. ตรงได้เลย
**เต็งหนึ่งเวลานี้ ยังคงเป็น “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”ว่าที่สปช. ด้านการเมือง
แต่ข่าวยังไม่ชัดว่า จะมีตำแหน่งอะไรใน สปช.ด้วยหรือไม่ หากได้เสียงสนับสนุนจาก สปช.เพียงพอ จะลุ้นของชิงเป็นประธานสปช.แล้วควบประธานกมธ.ยกร่างรธน.หรือจะลุ้นเป็นแค่รองประธานสปช.แล้วมาเป็นประธานกมธ.ยกร่าง
ขณะที่ข่าวหลายกระแสบอกว่า สูตรน่าจะออกแบบหลัง เพราะหากเล่นควบประธานทั้งสองอย่าง งานจะโหลดมาก และไม่เป็นผลดีต่อบวรศักดิ์เองที่จะถูกมองว่าถ่างขาควบเบ็ดเสร็จ ภาพที่ออกไปจะไม่เป็นผลดีต่อสปช. และตัวบวรศักดิ์เอง แนวโน้มจึงไม่ใช่ที่บวรศักดิ์ จะลุ้นหวังควบประธานทั้งสองอย่าง
แต่ก็มีข่าวอีกบางกระแสว่า ไม่แน่ บวรศักดิ์ อาจขอรอลุ้นชิงประธานสปช. อย่างเดียว เพราะที่ลือกันว่า คสช. วางตัวบวรศักดิ์ มาเป็นประธานกมธ. ยกร่างรธน. แต่มันก็มีข่าวลือว่า ถึงเวลาจริงๆ อาจมีเซอร์ไพรส์ เป็นคนอื่นที่ คสช.ไปทาบทามมาก่อนแล้ว แต่ปิดเงียบเอาไว้
ขณะที่ในโควต้าของ สนช. ที่จะต้องส่งชื่อไปเป็นกมธ.ยกร่างรธน.5 คนไม่มีอะไรพลิกข่าวล่าสุด ยืนยันมาหลายกระแส สนช.220 คน ขอโควต้านี้ไว้เองหมด ไม่ส่งชื่อคนนอกแน่นอน
ชื่อของสนช. ที่ชัดๆว่าไม่ขอเป็นกมธ.ยกร่างรธน. แน่นอนแม้ดีกรีจะเหมาะสมก็คือ นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรธน. ปี 50 กับ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีธรรมศาสตร์ เลขานุการกมธ. ยกร่างรธน.ปี 50 ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า พอแล้ว ขอให้คนอื่นได้เป็นบ้าง
โควต้า สนช.เวลานี้ คนเก็งกันว่า น่าจะมีชื่อ เช่น กล้าณรงค์ จันทิก อดีต ป.ป.ช.- พรทิพย์ จาละ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา- ดิสทัต โหตระกิตย์ รักษาการเลขาธิการกฤษฎีกา คนปัจจุบัน แต่รายนี้ ข่าวบางกระแสว่าอาจไม่เป็น เพราะงานที่สำนักงานกฤษฏีกาเยอะอยู่แล้ว แถมยังเป็น สนช.อีก หากต้องไปเป็นกมธ.ยกร่างด้วย คงไม่ไหว น่าจะไม่ขอเป็น อีกคนมาจากกฤษฏีกาเหมือนกัน คือ ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ อดีตเลขาธิการกฤษฎีกา
นอกจากนี้ยังอาจมีชื่อ นางกาญจนารันต์ ลีวิโรจน์ ที่ปรึกษาศาลปกครอง เป็นต้น โดยมีข่าวลือบางกระแสว่า สนช. บางคนที่คนไม่คาดคิด ก็เริ่มสนใจอยากเป็นกมธ.ยกร่างรธน.เหมือนกัน แต่อยู่ระหว่างการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย เช่น พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม แกนนำสนช. สายทหาร เป็นต้น
แต่ที่ได้โควต้าเยอะสุดก็คือ สปช. ในส่วนนี้ยังคาดการได้ยาก เพราะต้องดูรายชื่อสปช.อย่างเป็นทางการก่อน ข่าวถึงจะเล็ดลอดออกมา แต่หากดูตามโผสปช. ที่ออกมา แม้จะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ก็มีการเก็งกันว่าบางรายชื่อ ไม่น่าจะพลิกโผ คือ ได้เป็นสปช.แน่นอน แล้วก็มีโอกาสสูงอาจได้เข้าไปเป็นกมธ.ยกร่างรธน. ก็เช่น นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ที่เป็นอดีตตรองประธานกมธ.ยกร่างรธน.ปี 50 –มานิจ สุขสมจิตร อดีต กมธ.ยกร่างรธน.ปี 50 ที่หากได้เป็น สปช. ก็น่าจะได้เข้าไปเป็นกมธ.ยกร่างรธน. ที่จะไปดูเรื่องหมวดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะหมวดว่าด้วยเรื่อง สื่อมวลชน –ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ที่ปรึกษาศาลปกครอง ที่อาจไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรธน. เพื่อไปดูเรื่องหมวดว่าด้วยเรื่องศาล-องค์กรอิสระ เป็นต้น
ส่วนอีก 10 รายชื่อ ที่เหลือจะมาจากรัฐบาลและคสช. อย่างละ 5 รายชื่อ ตอนนี้ ข่าวยังไม่ชัด แต่เชื่อได้ว่า คสช. และนายกฯประยุทธ์ คงมีชื่อไว้หมดแล้ว 10 คน ท่ามกลางกระแสข่าว ก่อนหน้านี้ว่า คสช.ได้ทาบทามบางคนไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยคนที่ได้รับการทาบทาม ก็อยู่ในรายชื่อกรรมการสรรหา สปช. 11 คณะ ซึ่งเมื่อไปดูรายชื่อกรรมการสรรหา ก็ถึงได้ไม่แปลกใจกับกระแสข่าวนี้ เพราะดูแล้ว หลายคนในกรรมการสรรหา สปช. มีแนวโน้มสูงจะได้เป็นกมธ.ยกร่างรธน.แน่นอน เช่น สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์ หรือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และยังเป็นอดีต กมธ.ยกร่างรธน.ปี 50 ด้วย
**ใครจะได้ติดโผ 36 กมธ.ยกร่างรธน.กันบ้าง ฝ่ายที่ต้องเสนอชื่อทั้ง สปช. –สนช.-คณะรัฐมนตรี-คสช. ต้องพิจารณารายชื่อกันให้ดี ขอเอาเป็นระดับหัวกระทิจริง ๆ ที่สำคัญต้องมีแนวคิดกล้าเปลี่ยนแปลง เอาจริงกับการปฏิรูปประเทศ ในทุกด้านๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น