xs
xsm
sm
md
lg

หลง “โจทย์” กติกาประเทศ ถอยลง “คลอง” การเมืองเดิมๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม
รายงานการเมือง

แม่น้ำ 5 สายของ “เนติบริกร” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย แตกแขนงกันเกือบจะครบทุกสายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขาดอีกแค่สายเดียวคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันจะทำให้ครบองค์ประกอบสมบูรณ์

ตามคิวที่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสำนักงานเลขาธิการ สปช. กำหนดปฏิทินประชุม สปช.นัดแรกเพื่อเลือกประธานและรองประธาน สปช. ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ หลังจากนั้นบวกไปอีกไม่เกิน 15 วัน จะได้เห็นโฉมหน้าโฉมหน้าตา “36 อรหันต์” คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” กำหนดไว้

ขบวนการเขียนกติกาสูงสุดของประเทศฉบับใหม่ใกล้จะเริ่มนับหนึ่ง!!

อย่างไรก็ดี แม้จะยังไม่ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน ตามไทม์ไลน์หลังวันที่ 21 ตุลาคม 15 วัน ที่จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ชักเห็นเค้าลางว่าที่ “36 อรหันต์” ว่า จะออกมาหน้าตาอย่างไร เพราะเริ่มมีการปล่อยชื่อใครบางคนเข้ามาชิมลาง หรือคาดการณ์กันตามคอนเนกชั่นที่ใช้เป็นตรรกะเลือกใช้คนในยุคนี้

เริ่มตั้งแต่โควตาของ สนช. จำนวน 5 คน ที่ปรากฏชื่อ “ตัววาง” ออกมา 3 คน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีต ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ อดีตเลขาธิการคณะกรรมกฤษฎีกา นางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่ง 2 คนหลังถูกจับตาว่า เป็น “จุฬาฯคอนเนกชั่น” จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนอีก 2 ตำแหน่งต้องรอสะเด็ดน้ำอีกที แต่เริ่มมีการโยนรายชื่อบุคคลที่น่าสนใจมาเหมือนกัน หรือเป็นประเภทตัวแปร อาทิ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งศิษย์เก่านิติศาสตร์จากรั้ว “จามจุรี” และยังถูกมองว่า มีความสนิทสนมกับ “ก๊วนสามเกลอ” ของ นายวิษณุ เครืองาม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. และ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เพราะบิดาของ “ดิสทัต” คือ นายสมภพ โหตระกิตย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ขณะนั้นมี “มีชัย” เป็นคณะทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีชื่อของบรรดาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในรายของ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒ นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม หรือแม้แต่ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งเคยขึ้นเวที กปปส.มาแล้ว

ขณะที่ สปช. ซึ่งมีโควต้าเยอะที่สุด 20 เก้าอี้ หากยึดกันตามตัวบทกฎหมายคงต้องรอการประชุม สปช.นัดแรกเสร็จสิ้นเสียก่อน แต่ในความเป็นจริง น่าจะมีการวางตัวกันเอาไว้คร่าวๆ ตั้งแต่กระบวนการสรรหา สปช. 250 คนแล้วว่า จะเอาเข้ามาเพื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะพวกตัวเก๋าที่เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มาก่อน หรือในสายคอนเนกชั่นที่กำลังขึ้นหม้ออย่าง “จุฬาฯคอนเนกชั่น” หรือ “พระปกเกล้าคอนเนกชั่น” ตามที่เริ่มปรากฏบนหัวหาดหน้าสื่อ ไม่ว่าจะเป็น นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายจรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 หรือแม้แต่ในรายของ นายคำนูณ สิทธิสมาน แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ที่แสดงความสนใจ

ด้าน คสช. ที่มีโควต้า 5 คน พ่วงด้วยสิทธิหัวหน้า คสช. เลือกตัวประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอีก 1 ตำแหน่งเป็น 6 คน ก็สอดคล้องกับข่าววางตัว “เนติบริกรผู้น้อง” นายบวรศักดิ์ เป็นหัวเรือใหญ่ร่างกติกาประเทศ หลัง “เนติบริกรผู้พี่” นายวิษณุ ออกมาแพลมๆ แล้วว่า คสช.อาจจะไปหยิบจับเอาจาก สนช. หรือ สปช.ก็ได้ แต่ต้องรอให้แม่น้ำทั้ง 2 สายเลือกคนให้เสร็จเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่ซ้ำคนกัน

คิวนี้หาก สปช. เคาะ 20 รายชื่อออกมาไม่มี “บวรศักดิ์” ทุกอย่างก็ชัดว่า วางตัวกันไว้แต่ตั้งในมุ้งแล้ว!!

นอกเหนือจากตัวประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 1 คน และกรรมาธิการฯ อีก 5 คน ที่คสช.จะเสนอ ว่ากันตามเนื้อผ้าจริงๆ โควตากรรมาธิการฯที่ ครม. เสนอได้ 5 คนก็จัดอยู่ในสัดส่วนนี้ เพราะทั้ง คสช. และ ครม. คนตัดสินใจล้วนเป็นคนๆ เดียวกัน ดังนั้น ในส่วนนี้สามารถเสนอได้ถึง 11 คน

หากดูผู้เล่นในสนามปัจจุบันก็เหลือไม่กี่คน เพราะส่วนใหญ่มีตำแหน่งแห่งหนกันใน สนช. สปช. และครม.กันเยอะแล้ว ไล่ชื่อ “บิ๊กเนม” ที่ยังขาลอยไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในยุค คสช. น่าจับจ้องไปที่กูรูกฎหมายอย่าง นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สองหน่อจากรั้ว “เหลืองแดง” ที่ก่อนหน้านี้ถูกแต่งตั้งไปเป็นคณะกรรมการสรรหา สปช. ด้านการเมือง ชุดที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน อาจถูกเสนอชื่อในโควต้า คสช. หรือ ครม. ไม่เว้นแม้แต่ นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีนิติศาสตร์ นิด้า ที่ตกสำรวจจาก สนช. และสปช.

เหล่านี้มีลุ้นแต่งตัวรอยกร่างกติกาประเทศฉบับถาวรกันได้เลย!!

ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวบุคคลคงไม่น่าสนใจเท่าเนื้อหาที่ “36 อรหันต์” จะไปเขียนกันขึ้นมา เพราะมีหลายฝ่ายเก็งกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี 58 จะเป็นฉบับที่ลกายเป็น “ของแสลง” สำหรับนักการเมืองไทย สะท้อนตามปรากฏการณ์ “ไอเดียบรรเจิด” ของเหล่า สปช.ป้ายแดง ที่ฟุ้งถึงร่างรัฐธรรมนูญกันคร่าวๆ โดยเฉพาะที่มาของนายกฯ และ ส.ส. เอาเข้าจริง ก็ไม่ใช่เรื่องมโน เพราะมันก็ล้อกับมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเหมือนกันที่กำหนดไว้ให้สกรีนนักการเมืองกังฉินอย่างเข้มข้น

อันจะทำให้พวกบ้านเลขที่ 111 บ้านเลขที่ 109 หรือแม้แต่อดีตส.ส.และส.ว. ที่หาก สนช.ตัดสินใจถอดถอนขึ้นจะปิดเทอมยาว!!

แต่จะถึงขั้นให้มี ส.ส.จังหวัดละคน อาจไม่ไปไกลขนาดนั้น เพราะหากทำมิวายต้องเจอแรงต่อต้านจากพวกนักการเมืองทุกสาย ซึ่งคงไม่มีใครยอมแน่ สุ่มเสี่ยงจะถูกนำประเด็นดูถูกประชาชน - ลดทอนประชาธิปไตยเอาไปจุดกระแสปลุกม็อบต้าน ถึงตอนนั้นจะอันตราย อย่าลืมว่า นักการเมืองคือ หัวขบวนม็อบตัวเอ้

ดูทิศทางลม เลยน่าจะออกมาในรูปแบบทางลงที่นุ่มนวลที่สุด แต่คงโจทย์เดิมไว้คือ ทำลายวงจรนายทุน เลิกการผูกขาดกับพรรค เพื่อขจัดกลุ่มก้อน ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า จะออกมาอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ หากทำแค่หวังสกัดกั้นคนบางคนมากกว่าวงจรอุบาทว์ เมื่อพวกเลือกตั้งเข้ามาก็จ้องจะรื้อกันอยู่ดี กงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนกลับเข้ามาจุดเดิม ทุก 7 ปีที่มีรัฐธรรมนูญจะเกิดการรัฐประหารร่ำไป ซึ่งไม่น่าจะใช่โจทย์ที่ “บิ๊กตู่” วางไว้แน่!!

เพราะหากหวังแค่เพียงกำจัดคนอย่าง “ทักษิณ” ได้ แต่สกัด “ระบอบทักษิณ” ไม่ได้ จะไปมีประโยชน์อะไร ในเมื่อ “นอมินี” ยังเดินกันเกลื่อนเมือง.
กำลังโหลดความคิดเห็น