“สมบัติ” แจงข้อเสนอเลือกนายกฯ - ครม. โดยตรง อ้างรูปแบบเดิมนายกฯ อุปถัมภ์ ส.ส. ที่ซื้อเสียงเข้ามา อีกทั้ง ครม. จะได้ไม่ต้องพึ่งพา ส.ส. ยืมมือให้ได้เป็นรัฐบาล จันทร์นี้ประชุมรับรองข้อเสนอ ด้านอดีต ส.ส. กระบี่ ชี้เลือกนายกฯ โดยตรงยังกับเลือกประธานาธิบดี บ้านเมืองผิดแปลก หนำซ้ำลดจำนวน ส.ส. ทำประชาชนไม่มีที่ยืน “สาทิตย์” ลั่นระบบไหนแก้โกงเลือกตั้งไม่ได้ก็เหมือนเดิม แต่หนุนลด ส.ส. เพราะทำงานจริงไม่กี่คน “วิรัตน์” มองข้อดีเห็นหน้าตา ครม. ล่วงหน้า
วันนี้ (7 ธ.ค.) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงข้อเสนอของ กมธ. ที่ให้มีการเลือกคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรง ว่า ทาง กมธ. ปฏิรูปการเมืองเสียงข้างมากมีข้อสรุปเบื้องต้น คือ จะให้ประชาชนได้เลือก ครม. โดยตรง เนื่องจากที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นปัญหาจากรูปแบบเดิม คือระบบรัฐสภาที่ให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แล้วให้ ส.ส. เลือกนายกรัฐมนตรีนั้น หาก ส.ส. มีความสุจริต เที่ยงธรรม ก็จะมีส่วนทำให้ได้นายกรัฐมนตรีที่ดี แต่ถ้าหากว่า ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งนั้นมาจากการซื้อสิทธิขายเสียง ก็จะมีปัญหาตามมาว่านายกรัฐมนตรีต้องมาดูแลและคอยอุปถัมภ์ตัว ส.ส. ที่ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อเสียงเข้ามา และถ้าหากรัฐบาลมีเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด ก็จะเข้าครอบงำทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทำให้การตรวจสอบอ่อนแอ ระบบการตรวจสอบโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะไม่เป็นผล เพราะอภิปรายเมื่อใดก็แพ้ทุกครั้ง ทำให้ฝ่ายบริหารยิ่งเหิมเกริมในการทุจริตคอร์รัปชั่น ส่งผลให้เป็นปัญหารุนแรงของประเทศ ไม่มีทางแก้ไขได้
นายสมบัติ กล่าวว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่จึงเห็นว่าแนวคิดในการเลือก ครม. โดยตรงน่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เพราะ ครม. ก็จะได้ไม่ต้องไปพึ่งพา ส.ส. หรือยืมมือทำให้ได้เป็นรัฐบาลอีกต่อไป และการเลือก ครม. โดยตรงก็จะทำให้ประชาชนได้รู้ว่า คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี และ ครม. มีประวัติมีผลงานน่าเชื่อถือเพียงใด รู้ก่อนตั้งแต่ยังไม่เลือกเข้ามาทำงาน ถ้าไม่พอใจก็ไม่ต้องเลือกเข้ามาทำหน้าที่ หากปล่อยให้นายกรัฐมนตรีมาเลือก ครม. ภายหลัง บางครั้งตัวนายกรัฐมนตรีก็อาจไปเลือกนายทุน ผู้อิทธิพล เจ้าของบ่อน เข้ามาเป็น ครม. เพื่อเป็นการตอบแทนกันก็ได้ ดังนั้น การที่ประชาชนได้รู้ประวัติและนโยบายของ ครม. ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ 8 ธ.ค. เวลา 10.00 น. ทาง กมธ. ปฏิรูปการเมืองก็จะมีการประชุมเพื่อลงมติรับรองข้อเสนอดังกล่าวอีกครั้ง
นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง เปิดเผยว่า ขณะนี้การพิจารณาแนวทางปฏิรูปการเมือง ในประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรง รวมถึงการเลือก ส.ส. ให้มี ส.ส. 350 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่มี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มีเฉพาะแบบแบ่งเขต กำหนดให้เลือกได้ไม่เกินเขตละ 3 คน ในชั้นของคณะ กมธ. ปฏิรูปการเมือง ถือว่าเป็นอันสิ้นสุดแล้ว ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของ กมธ. เห็นด้วยกับการเลือกนายกฯ และ ครม. รวมถึงการให้มี ส.ส. เฉพาะระบบเขตเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมี กมธ. 3 - 4 คน ที่ขอสงวนความเห็นไปพูดในที่ประชุม สปช. ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ธ.ค. กมธ. ปฏิรูปการเมือง จะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณาประเด็นทั้งหมดครั้งสุดท้าย ก่อนเสนอต่อคณะ กมธ. วิสามัญติดตามให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 9 ธ.ค. นี้
ส่วนความเห็นฝ่ายอดีตนักการเมือง อาทิ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส. กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ให้เลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรง ว่า การเลือกนายกฯ โดยตรง ลักษณะเหมือนเลือกประธานาธิบดี แล้วประธานาธิบดีก็มาแต่งตั้ง ครม. และข้าราชการทั้งหมด แต่เราเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะมีประธานธิบดีขึ้นมาเคียงคู่ไม่ได้ ซึ่งประเทศที่มีประธานาธิบดี เขาไม่มีพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้บ้านเมืองผิดแปลกหมด ขณะนี้ระบบประชาธิปไตยอำนาจของประชาชนแทบจะหมดไปแล้ว ยังจะมาลิดรอนอำนาจประชาชน เหมือนระบบอำมาตย์
“ตอนนี้พยายามลดอำนาจของประชาชนด้วยการลดจำนวน ส.ส. เหลือ 350 คน ซึ่งการลดจำนวน ส.ส. ก็คือ การลดอำนาจประชาชน ทำให้ประชาชนแทบจะไม่เหลือที่ยืน และผู้แทนก็ไม่มีความหมาย นายกรัฐมนตรีที่มาในระบอบประชาธิปไตยคือมาตามระบอบ ที่ถูกเลือกโดยผู้แทนของประชาชนในสภา เขาจะสำนึกในบุญคุณของประชาชน จะเห็นประชาชนเป็นนาย แต่ถามาจากระบบอื่นเขาจะรู้สึกว่าเป็นนายประชาชน ประชาชนเป็นหนี้บุญคุณเขา” นายพิเชษฐ กล่าว
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส. ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. กล่าวว่า การแก้ปัญหาการเมืองไทยไม่ได้อยู่ที่ออกแบบการเลือกตั้งแบบไหน ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาหัวใจหลักเรื่องการทุจริตซื้อขายเสียงไม่ได้ ออกแบบไหนก็เป็นปัญหาเหมือนเดิม ดังนั้น อย่าเพลินเรื่องรูปแบบจนลืมเนื้อหาว่าเราต้องการระบบที่คัดสรรกลั่นกรองคนดีให้มาปกครองบ้านเมือง ซึ่งถือเป็นหลักใหญ่ ส่วนรูปแบบการเลือกตั้งทั่วโลกมีพัฒนาการของตนเอง ระบบควบรวมอำนาจที่ระบบรัฐสภาไทยใช้อยู่นี้มันก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่ใช้กันอยู่หลายประเทศ เพียงแต่ของไทยปัญหาใหญ่คือการซื้อเสียงเลือกตั้ง พอได้เป็นรัฐบาลเอาอำนาจไปทุจริตคดโกง ดังนั้น จึงอยู่ที่เนื้อหา ออกแบบแล้วต้องตอบด้วยว่าวิธีการนี้จะจัดการคนทุจริตซื้อเสียงได้อย่างไร ถ้าตอบได้ไม่ว่ารูปแบบไหนก็ยอมรับได้
“ส่วนการลดจำนวน ส.ส. ลง ผมเห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่ามี ส.ส. ทำงานจริงเพียงไม่กี่คน ก็ควรลดจำนวนและจะมีประสิทธิภาพ ส่วนระบบบัญชีรายชื่อทางกลุ่ม กปปส. ก็เสนอให้ยกเลิกเพราะเดิมรัฐธรรมนูญปี 50 ให้มี ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ เพราะต้องการรองรับนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถที่ไม่สามารถไปลงเลือกตั้งแบบเขตได้ แต่สุดท้ายกลายเป็นที่อยู่ของกลุ่มนายทุนพรรคการเมือง นักเลงหัวหมอ นักการเมืองหัวไม้ เจ้าพ่ออาบอบนวด ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกรูปแบบไหนจะเยอรมันหรือฝรั่งเศส ต้องตอบคำถามเรื่องป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียงให้ได้ก่อน ส่วนรูปแบบค่อยมาว่ากัน” นายสาทิตย์ กล่าว
ด้าน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปตย์ แสดงความเห็นถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีและ ครม. โดยตรง ว่า ต้องถามประชาชนว่าเห็นอย่างไรกับข้อเสนอนี้ ซึ่งข้อดีของมุมนี้คือประชาชนจะได้รู้ตัวนายกฯ และรัฐมนตรีล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นพรรคการเมืองจะยัดเยียดคนที่มีภาพลักษณ์ไม่เหมาะสมมาเป็นรัฐมนตรี เช่น ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลจะมีคนนี้มาเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยที่ผู้บริหารพรรคไม่สามารถปิดหูปิดตาประชาชนได้ ส่วนข้อเสียนั้นยังไม่เห็น ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะปฏิรูปการเมืองไทย ส่วนการให้มีจำนวน ส.ส. 350 คน ตนเห็นว่าจำนนวน ส.ส. 1 คนต่อประชาชนกร 2 แสนคน ก็ดูแลประชาชนได้ และการที่ได้เขตใหญ่ เขตละ 3 คนนั้น ตนเห็นด้วย เพราะจะได้ ส.ส. ที่มีคุณภาพ ทำให้การซื้อเสียงยากขึ้น