ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงแม้ว่า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะวิป สนช.จะบอกว่า ทุกฝ่ายไม่ต้องกังวล เกี่ยวกับการออกร่างข้อบังคับการประชุม สนช. ในหมวดที่ว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะยังสามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาได้ในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งจะมีการลงมติในกรอบระยะเวลา 10 วัน หลังจากการรับหลักการ เมื่อวันที่11 ก.ย.ที่ผ่านมา
แต่ประเด็นนี้ก็อดที่จะน่าเป็นห่วงไม่ได้ นั่นเพราะการถอดถอนนักการเมืองที่มีพฤติกรรมทุจริตนั้น เป็นภาระกิจสำคัญของ สนช.ที่ต้องทำหน้าที่แทนรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ รวมทั้งจะเป็นบรรทัดฐานการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ที่มีภาระกิจสำคัญยิ่งยวดอันหนึ่งก็คือการปฏิรูปการเมืองไม่ให้เกิดการใช้อำนาจที่ได้รับมาจากประชาชนในทางมิชอบไปทุจริตคอร์รัปชั่นเอาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้อง ตามความในมาตรา 35(4) ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557
จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่เริ่มมีกระแสข่าวว่า สนช.จะกำหนดเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ในข้อบังคับการประชุม ก็ปรากฏมีนักการเมืองสันหลังหวะออกมาแสดงอาการร้อนเนื้อร้อนตัว ตีกันไม่ให้มีการออกข้อบังคับดังกล่าว
โดยเมื่อวันที่ 7 ก.ย. นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา หนึ่งในผู้ที่จะถูกยื่นถอดถอนกรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการเป็นประธานการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ร่วมกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสารมวลชนว่า ข้อบังคับของฝ่ายนิติบัญญัติจะมีหมวดต่างๆ ได้ ก็ต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ไม่มีมาตราใดที่ว่าไว้ถึงกระบวนการถอดถอน การกำหนดข้อบังคับหมวดถอดถอนจึงเป็นเพียงการเข้าใจไปเองว่า สนช. มีอำนาจในการถอดถอน โดยอาศัยการตีความในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่กำหนดให้ สนช. ทำหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว.
นายนิคม อ้างอีกว่า ส่วนที่บอกว่าจำเป็นต้องมีเพื่อให้สอดคล้องต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ นั้น ก็ไม่สามารถทำได้อยู่ดี เพราะ พ.ร.บ. เป็นเพียงกฎหมายลูก ในเมื่อกฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ การร่างข้อบังคับในหมวดนี้จึงไม่ใช่หน้าที่ของ สนช. และจะยิ่งทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น
“ผมถูก ป.ป.ช. ชี้มูลตามรัฐธรรมนูญ 2550 หมวดถอดถอนตั้งแต่ มาตรา 271 - 274 แล้ว สนช. ชุดนี้ จะดำเนินการถอดถอนผมอย่างไร ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว จะใช้เสียงเพียงกึ่งหนึ่งของ สนช. มาลงมติถอดถอนผมตามร่างข้อบังคับฉบับนี้ได้อย่างไร ในเมื่อมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ตามที่ผมถูกชี้มูลไว้ กำหนดว่าต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ในการถอดถอน”นายนิคมกล่าวอ้าง
ความเห็นของนายนิคม ที่ถูกตั้งฉายาว่าเป็น “ไข่” อีกใบของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกตอบโต้โดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า สนช. มีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับการประชุมเพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติของ สนช. เพื่อให้การประชุมสามารถดำเนินการไปได้ และพิจารณาดูว่างานของเรามีอะไรบ้างที่จำเป็นต้องทำ โดยออกระเบียบวิธีการปฏิบัติไว้เสียก่อน เมื่อถึงเวลาที่ควรเป็นไปก็จะสามารถปฏิบัติได้ โดยไม่จำเป็นต้องยกเว้นอะไร เพราะในรัฐธรรมนูญปี 57 (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 6 กำหนดให้สมาชิกทำหน้าที่รัฐสภา คือ ส.ส. และส.ว. เนื่องจากมีกฎหมายบางอย่างที่ออกโดยองค์กรต่างๆ แต่ต้องมาสิ้นสุดรัฐสภา เช่น สนธิสัญญาต่างๆ หรือองค์กรต่างๆ รายงานผลการทำงานมายังสภา จึงจำเป็นต้องกำหนดว่าเวลาเขามารายงานแล้วเราจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร บางองค์กรมีพูดถึงการถอดถอนเช่น ป.ป.ช. หรือ คสช. ให้พ้นตำแหน่ง ซึ่งคนที่จะให้พ้นได้ก็คือ ส.ว.
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ เลขาธิการวิป สนช. กล่าวว่า เป็นการดิ้นพล่านไปเองของนายนิคม และเป็นเรื่องของสภาที่จะวินิจฉัยเอง ไม่เกี่ยวกับคนที่ถูกคดี และไม่มีสิทธิ์จะพูดเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เพราะเวลาอยู่ในตำแหน่งก็ไม่ทำให้สิ่งที่ถูกต้อง แต่กลับไปรับใช้การเมือง ไปแก้กฎหมายเข้ากับตนเอง ถึงเวลาจะพิพากษาก็มาอ้างเรื่องปรองดองดิ้นหาทางไปเรื่อย เที่ยววิเคราะห์มั่ว อ้างหลักการรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตัวเองยังแก้รัฐธรรมนูญแบบชั่วๆ หรือนิรโทษกรรมให้กับพรรคพวกตัวเองแบบชั่วๆ ยังทำได้ ควรจะเตรียมตัวเองให้ดีจะดีกว่า
ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.อีกคน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหา แม้จะมีสมาชิกหลายคนไม่สบายใจว่าหากเข้ามาเร็วจะถูกครหาว่าเรามีเจตนาจะถอดถอนหรือไม่ ซึ่งตนได้ชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน เพราะการจะถอดถอนมีหลายกรณี อย่าไปมองแต่เรื่องปัญหาของคนบางกลุ่มเท่านั้น เราต้องมองถึงอนาคตเช่น กรณีถอดถอนข้าราชการระดับสูง อย่างไรก็ตาม คงจะต้องมีการตีความเรื่องอำนาจการถอดถอน ที่มี 2 วิธี คือ อำนาจของสภาโดยตรงกับ อำนาจของ ป.ป.ช. ส่งมา หากเรื่องใดที่ ป.ป.ช. ส่งมาแล้วเราสามารถถอดถอนได้หมด ส่วนถ้าไม่ส่งมาก็จะเป็นเรื่องของสภาฯ ซึ่งในข้อสุดท้ายข้อบังคับจะเขียนว่าแล้วแต่มติของ สนช.
ทั้งนี้ นอกจากนายนิคม และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ยังมีอดีต ส.ส. และ ส.ว. อีกจำนวนหนึ้งที่กระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน และกำลังเข้าสู่กระบวนถอดถอนของวุฒิสภา รวมไปถึงกรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติถอดถอนพ้นจากตำแหน่งด้วย จากกรณีความผิดโครงการรับจำนำข้าว
รายงานข่าวที่ออกมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 11 ก.ย.ระบุว่า ร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พ.ศ. ... ที่ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้สมาชิก สนช. ลงมติเห็นชอบในวันที่ 11 มีหมวด 10 ว่าด้วยการถอดถอนและการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง มีทั้งหมด 4 ส่วน ส่วนแรก เป็นการกำหนดกระบวน ขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งสำนวนชี้มูลมาสำนักงานวุฒิสภา ในส่วนที่สอง ยังกำหนดกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายอื่นไว้
นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่สาม ที่เปิดช่องให้ประชาชนเข้าชื่อเพื่อขอให้สภามีมติถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นต้น พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ และในส่วนสุดท้าย คือ การให้ความเห็นชอบให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง ตามกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ หรือ ตามกฎหมายอื่นกำหนด
ซึ่งหาก สนช.มีมติเห็นชอบตามร่างดังกล่าว ก็นับเป็นคุณูปการต่อการขจัดนักการเมืองขี้ฉ้อออกไปจากแวดวงการเมืองและยุติการแอบอ้างอำนาจประชาชนเข้ามาไปหาผลประโยชน์ใส่ตัวเองเสียที
อย่างไรก็ตาม คำให้สัมภาษณ์ของนายเจตน์ ศิรธรานนท์ สนช.ในฐานะโฆษกวิป เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ก็ทำให้เกิดความน่าวิตกไม่น้อย เพราะนายเจตน์บอกว่า ความคืบหน้าการถอดถอน 4 สำนวน ที่ ป.ป.ช. ส่งเรื่องมาให้วุฒิสภารวมอยู่ด้วยนั้น ภายหลังที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 และมีการสั่งยุบวุฒิสภา จึงไม่ทราบว่าสำนวนดังกล่าวจะอยู่ในชั้นไหน แต่หลังจากการยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช. และมีเรื่องถอดถอนรวมอยู่ด้วยแล้ว ป.ป.ช. อาจตรวจสอบกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และข้อกฎหมายอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกยกเลิก ว่า 4 สำนวนดังกล่าวจะเข้าหลักเกณฑ์การถอดถอนหรือไม่ หากเข้าเงื่อนไขก็สามารถส่งเรื่องมาให้ สนช. ดำเนินการถอดถอนได้ทันที แต่หากมีการยื่นคัดค้านว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนได้ ก็คงต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกที
นั่นหมายถึงว่า นักการเมืองที่จะถูกถอดถอนก็ยังสามารถยื้อเวลาได้อีก และยังต้องตามลุ้นอีกว่า ร่างข้อบังคับการประชุมว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ผ่านขั้นกรรมาธิการฯ และ สนช.ลงมติจนมีผลออกมาบังคับใช้แล้วจะมีความรัดกุมมากน้อยเพียงใดอีกด้วย