xs
xsm
sm
md
lg

วิป สนช.ยันการถอดถอนต้องครอบคลุมถึงนายกฯ ส่วนกรณี “นิคม-ขุนค้อน” อาจต้องส่งตีความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจตน์ ศิรธรานนท์ (แฟ้มภาพ)
โฆษกวิป สนช. ระบุร่างข้อบังคับการประชุมเรื่องถอดถอนต้องครอบคลุมทุกส่วน รวมถึงนายกฯ หากเกิดปัญหาในอนาคต ส่วนการถอดถอน “นิคม - สมศักดิ์ - ยิ่งลักษณ์” และ 36 ส.ว. หากมีปัญหาต้องส่งศาล รธน. วินิจฉัย

ที่รัฐสภา นายเจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และโฆษกวิป สนช. กล่าวถึงร่างข้อบังคับการประชุม สนช. ปี 2557 ที่มีหมวดเรื่องการถอดถอนนายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี ว่า ข้อบังคับดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่มีการยกร่างให้ครอบคลุมบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวกับนักการเมืองและองค์กรต่างๆ ทุกตำแหน่ง รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในอนาคตในการถอดถอนบุคคลเหล่านั้น หากมีการส่งเรื่องเข้ามาตามบทบัญญัติของกฎหมายต่างๆ สนช.ก็สามารถทำงานได้ทันที

“ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. มาตรา 58 ที่ให้อำนาจ สนช. ถอดถอน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานศาลฎีกาประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร รองอัยการสูงสุด และ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ในหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น”

ส่วนจะกล้าถอดถอนบุคคลเหล่านี้ หรือไม่โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น นายเจตน์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องในอนาคตที่ไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน และในทางกลับกันหาก สนช. ยกร่างดังกล่าวแต่ไม่มีบทถอดถอนนายกฯ ก็อาจจะถูกสังคมตั้งคำถามว่า ทำไมถึงละเว้นในประเด็นดังกล่าวนี้ไป

นายเจตน์ กล่าวถึงความคืบหน้าการถอดถอน 4 สำนวน โดยมีสำนวนเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ ป.ป.ช. ส่งเรื่องมาให้วุฒิสภารวมอยู่ด้วยว่า ภายหลังที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. และมีการสั่งยุบวุฒิสภาปี 2557 จึงไม่ทราบว่าสำนวนดังกล่าวจะอยู่ในชั้นไหน หน่วยงานใด รวมทั้งตกไปแล้วหรือไม่ แต่ขณะนี้ สนช. กำลังยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช. และมีเรื่องถอดถอนรวมอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อ สนช. ยกร่างเสร็จและมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจตรวจสอบกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และข้อกฎหมายอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกยกเลิก ว่า 4 สำนวนดังกล่าวจะเข้าหลักเกณฑ์การถอดถอนหรือไม่ หากเข้าเงื่อนไขก็สามารถส่งเรื่องมาให้ สนช. ดำเนินการถอดถอนได้ทันที

ส่วนประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่มีการแย้งว่า ขณะนี้ไม่มีฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ตามมาตรา 270-274 หมวดเรื่องการถอดถอน สนช. สามารถนำเอามาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาบังคับโดยใช้อาศัยจารีตประเพณีการปกครองมาอุดช่องว่าง แต่หากอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอ้างว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ประเพณีการปกครองที่เคยทำมาสุดท้ายอาจต้องส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สนช. จะมีอำนาจถอดถอน 4 สำนวนดังกล่าวหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 4 สำนวนที่ ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิดและส่งมาที่วุฒิสภา ปี 2557 ประกอบด้วย สำนวนแรกของนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลว่า ขณะดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ได้กระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของวุฒิสภา

สำนวนที่สอง “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลว่าได้กระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ และประธานในที่ประชุมรัฐสภา โดยทั้งสองสำนวน เป็นผลพวงมาจากกรณีอดีต ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล โดยการนำของพรรคเพื่อไทยได้ร่วมกันลงชื่อแก้ไข รธน. รายมาตราในเรื่องที่มาของ ส.ว.- มาตรา 190 และแก้ไขมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550

สำนวนที่สาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและบทกฎหมายในเรื่องการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในการไม่ระงับ หรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว

และคดีสุดท้ายอดีตสมาชิกวุฒิสภา 36 คน จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น