xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

2สภางัดข้อ รัฐบาลลอยตัว ยื้อ"สุภา"นั่งป.ป.ช.-ถอดถอน"นิคม"วืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่สามารถเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาถอดถอน นิคม ไวยรัชพานิช ออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา หลังจากป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กรณีการแก้ไขรธน. เรื่องที่มาส.ว. มิชอบ รวมทั้งการแต่งตั้ง สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการ ป.ป.ช.แทน ใจเด็ด พรไชยา ที่หมดวาระการดำรงตำแหน่ง และการแต่งตั้ง พล.ท.ดิเรกพล วัฒนะโชติ และนายจำนง เฉลิมฉัตร เป็นกรรมการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ

เนื่องจากเกิดการงัดข้อ ระหว่าง เลขาธิการรัฐสภา กับเลขาธิการวุฒิสภา ในเรื่องว่า ใครคือผู้มีอำนาจในการเสนอให้ คณะรัฐมนตรี อนุมัติการออก ร่าง พ.ร.ฎ.เปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ

ความจริงเรื่องนี้ ได้มีการหารือกันเป็นการภายในระดับสำนักงานของ 5 องค์กร คือ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการครม. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักราชเลขาธิการ และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่าสามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญรัฐสภาเพื่อให้วุฒิสภาทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งได้ตามมาตรา 132 (2) โดยให้นายกรัฐมนตรี เสนอร่าง พ.ร.ฎ. และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตาม มาตรา 128 ประกอบมาตรา 195 ตามที่เคยทำมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2549

ส่วนประเด็นที่ที่ยังคงเห็นต่าง ในการให้วุฒิสภาประชุม เพื่อทำหน้าที่ถอดถอน ตามมาตรา 132 (3) ก็ให้เป็นความเห็นต่างต่อไป และอาจจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

แต่แล้วเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ก่อนที่จะถึงวันประชุมครม. 1 วัน นายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็ทำหนังสือถึง เลขาธิการครม. แสดงความไม่เห็นด้วยทางข้อกฎหมาย ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะทำหน้าที่เดินเรื่องเป็นหน่วยธุรการ ทำหนังสือไปยังสำนักงานเลขาธิการครม. เพื่อพิจารณาออก พ.ร.ฎ. ดังกล่าว โดยอ้างว่า เมื่อเป็นการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นเจ้าภาพ ไม่ใช่หน้าที่ของ
เลขาธิการวุฒิสภา

ก็เลยเข้าทางรัฐบาลพอดี ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 เม.ย. จึงไม่มีเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา โดยพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ให้เลขาธิการของทั้งสองสภา ไปตกลงเรื่องข้อกฎหมายกันให้ได้ก่อน ว่าใครจะเป็นคนส่งเรื่องมา

ถัดมาอีก 1 วัน คือวันที่ 23 เม.ย. ก็ได้มีการนัดหารือของ 4 เลขาธิการ คือ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ นางนรรัตน์ พิเสน เลขาธิการวุฒิสภา เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ

โดยนายสุวิจักษณ์ ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา คนที่จะขอเปิดประชุมสภาได้ก็คือ ประธานรัฐสภา แต่ขณะนี้ไม่มีประธานรัฐสภา เนื่องจากได้มีการยุบสภาไปแล้ว (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา) ขณะที่ประธานวุฒิสภา (นายนิคม ไวยรัชพานิช) ซึ่งเป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ก็ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ หลังถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

ขณะที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาแทนนายนิคม ก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รองประธานรัฐสภาได้ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ จึงยังไม่มีผู้ลงนามในการเสนอเรื่องไปยังครม. เพื่อการออกพ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภา

สถานการณ์ในขณะนี้คือ ต้องรอให้มีประธานวุฒิสภาตัวจริงเสียก่อน เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่แทนประธานรัฐสภา แต่การเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือกประธานวุฒิสภา ก็ยังทำไม่ได้ เนื่องจาก กกต.ยังรับรองผลการเลือกตั้งส.ว.ได้ไม่ถึง 95 % ปัญหาจึงต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่

ที่สำคัญคือ ไปกระทบถึงการถอดถอน นิคม ไวยรัชพานิช ออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา เนื่องจากนิคม ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งป.ป.ช.จะต้องส่งเรื่องให้วุฒิสภา ถอดถอนภายใน 30 วัน หลังจากที่วุฒิสภาได้รับเรื่องจากป.ป.ช.

ถึงวันนี้ก็น่าจะครบกำหนดกรอบเวลาดังกล่าวแล้ว เพราะป.ป.ช.ส่งเรื่องให้วุฒิสภา หลังจากมีมติชี้มูล ประมาณ 1 สัปดาห์

จึงเป็นปัญหาที่จะต้องมาโต้แย้งกันในข้อกฎหมายอีกว่า เมื่อเปิดประชุมวุฒิสภาได้แล้ว จะถอดถอน นิคม ได้หรือไม่ เนื่องจากเลยกรอบเวลา 30 วันไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากมองตามสภาพความเป็นจริงแล้ว หากเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อทำการถอดถอน ก็สำเร็จยาก เพราะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของส.ว.ที่มีอยู่ และก็ได้เห็นชื่อ เห็นหน้า กันแล้วว่า ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ ส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝ่ายรัฐบาล

โอกาสที่ นิคม จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา จึงแทบจะเป็นเรื่องที่เลิกคิดกันไปได้

ความสำคัญจึงอยู่ที่การเปิดประชุมวุฒิสภา เพื่อแต่งตั้ง สุภา เป็นกรรมการ ป.ป.ช. และแต่งตั้งกรรมการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ

ซึ่งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ที่ ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา ยืนยันว่าก่อนหน้านี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ทำความเข้าใจกับสำนักงานเลขาธิการครมง ถึงรายละเอียดการขอเปิดประชุมได้แล้ว โดยตกลงกันว่า จะเป็นการเปิดเพื่อพิจารณาการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. กับผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครองเท่านั้น โดยยังไม่มีการพิจารณาถอดถอน นายนิคม ออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา จึงไม่ทราบว่า เหตุใดนายสุวิจักขณ์ จึงหยิบยกเรื่อง
ปัญหาทางธุรการ มาเป็นประเด็น

ทั้งที่ การขอเปิดประชุมวุฒิสภา เป็นไปตามภารกิจที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อให้เป็นไปตามประโยชน์ของรัฐ และไม่ทำให้การบริหารงานขององค์กรอิสระหยุดชะงัก ซึ่งมาตรา 132 ก็ระบุชัดเจนว่า การเปิดประชุมวุฒิสภา สามารถทำได้ ในช่วงที่มีการยุบสภา อีกทั้งนายพิทูรย์ พุ่มหิรัญ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็ยืนยันว่า การเปิดประชุมสภา ให้พิจารณาที่ภารกิจ ว่าเป็นของหน่วยงานใด หน่วยงานนั้นก็ควรเป็นเจ้าภาพ

การเปิดประชุมวุฒิสภา ที่ยังทำไม่ได้ตามที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยกเขตอำนาจมาเป็นข้ออ้างนั้น ทำให้เห็นภาพว่า วุฒิสภา อยู่ในสภาพที่ต้องขึ้นต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐบาลก็ลอยตัว เพราะการเปิดสภาช่วงนี้ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลเลย

ไหนจะปัญหาถอถอนนิคม ไวยรัชพานิช และยังมี สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ทำท่าว่าจะต่อคิวเข้ามาอีกคน ยิ่งตั้ง สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการป.ป.ช. ก็เท่ากับไปเพิ่มเสียงที่จะเชือด นายกฯยิ่งลักษณ์ ในคดีทุจริตจำนำข้าวอีก

ท่าทีของรัฐบาลจึง ลอยตัว ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังอยู่อย่างนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น