หน.ปชป.แปลกใจรักษาการนายกฯ ตอบโต้ข้อเสนอออกจากตำแหน่ง ปมแต่งตั้งโยกย้าย “ถวิล” มิชอบ ยันลาออกได้เพราะ “วิษณุ” เนติบริกร “ทักษิณ” เคยลาออก เตือนหยุดให้ความเท็จประชาชน ชี้แสดงว่าสู้ในเนื้อคดีไม่ได้ เตือนแกนนำแดงข่มขู่ศาลไม่ควรใช้ความรุนแรง จวกเล่นแง่ไม่ยอมเปิดประชุมสภาให้วุฒิฯ ถอดถอน “นิคม” แนะเลขาวุฒิฯ ทำหนังสือแจงวาระประชุม
วันนี้ (11 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์แสดงความแปลกใจที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้ข้อเสนอให้ออกจากตำแหน่งหากต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญจำหน่ายคดีวินิจฉัยสถานภาพนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ จากการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบด้วยกฎหมายว่า ตนไม่เข้าใจว่าออกมาตอบโต้ถูกประเด็นหรือไม่ เพราะตนชี้ให้เห็นว่าการที่นายกฯ ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรรับเรื่องนี้ไว้วินิจฉัยเพราะพ้นจากตำแหน่งแล้ว จึงได้ชี้ให้เห็นว่าถ้าเป็นตำแหน่ง ส.ส. เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วจะพ้นเลย แต่ตำแหน่งนายกฯ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ หากไม่อยากให้รับเรื่องก็ต้องลาออก แต่กลายเป็นว่าออกมาตอบโต้ตนว่าต้องปฏิบัติหน้าที่ซึ่งก็ถูกแล้วเพราะต้องปฏิบัติหน้าที่จึงต้องอยู่ในตำแหน่ง คดีจึงไปศาลรัฐธรรมนูญ
“ผมยืนยันว่านายกฯ ลาออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม เคยลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผมมั่นใจว่าถ้าคุณยิ่งลักษณ์ลาออกจะพ้นจากคดีแน่ ผมไม่ทราบว่าการออกมาพูดอย่างนี้เป็นการเข้าใจผิดหรือสร้างความสับสน แต่ไม่ควรสร้างความสับสน และการพูดถึงรัฐธรรมนูญควรพูดให้ครบ เพราะสังเกตว่ามีการใช้คำว่าปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่อาจข้อความทั้งหมด ที่เขียนว่าให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ เพราะจะเป็นการสารภาพว่าที่โวยวายว่าไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้ว ทำไมศาลจึงรับเรื่องไว้เป็นเรื่องเท็จ นายกฯ ไม่ควรให้ความเท็จกับประชาชน เพราะหากนายกฯ ลาออก ศาลก็จำหน่ายคดี จึงไม่มีเหตุผลที่จะโจมตีว่าวินิจฉัยขัดหลักนิติธรรม หรือสองมาตรฐาน” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นายกฯ ควรชี้แจงข้อกล่าวหาทั้งที่ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ควรสร้างความสับสน สร้างความเท็จ หรือลดความน่าเชื่อถือขององค์กร หรือสร้างภาพว่าเป็นปฏิปักษ์กับใคร เพราะนอกจากไม่ช่วยคดีตัวเองแล้วยังทำลายระบบการเมืองด้วย
“ยิ่งนายกฯ แสดงท่าทีอย่างนี้คนก็ยิ่งรู้สึกว่าในเนื้อคดีสู้ไม่ได้ อธิบายไม่ได้ จึงพยายามเบี่ยงเบนโจมตี ลดความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ต้องตัดสิน ผมหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่กดดันให้ศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช.ทำงานยากขึ้น โดยหวังว่าสององค์กรจะมีความหนักแน่นเพียงพอเดินหน้าทำสิ่งถูกต้องและจำเป็น” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการข่มขู่จากแกนนำเสื้อแดงว่าหากมีการตัดสินโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีการระดมคนเสื้อแดงออกมานั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สามารถข่มขู่ได้ แต่ไม่ควรใช้วิธีนี้ด้วยความรุนแรง ปล่อยให้ทุกคนทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนหลังสงกรานต์สถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่อยู่ที่ท่าทีของผู้นำมวลชนทั้งหลายว่าจะทำอย่างไร หากมีการปลุกระดมใช้ความรุนแรงก็น่าเป็นห่วงชัดว่าไม่มี แต่ถ้าประกาศให้ชัดว่าไม่ใช้ความรุนแรง เคารพกฎหมาย ไม่นำมวลชนมาปะทะกันก็จะไม่เกิดความรุนแรง และเพราะมีความพยายามจะใช้ความรุนแรงจึงทำให้บ้านเมืองเดินหน้าได้ยาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชานเรียกร้องการปฏิรูป ดังนั้นรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับเงื่อนไขสังคม บ้านเมืองจะเดินหน้าได้
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ยอมออกพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุม ตามที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา เสนอไปยังรัฐบาลว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดว่าจะเปิดวันที่เท่าไหร่ เรื่องอะไร แต่วุฒิสภาจำเป็นต้องเปิดประชุมหลายกรณี ไม่ใช่แค่เรื่องถอดถอน แต่มีการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. การถอดถอนบุคคล และสมาชิกใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจะสามารถทำงานได้ โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ขณะที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ทาง ส.ว.ทำหน้าที่ถอดถอนได้ แต่อำนาจการเปิดประชุมอยู่ที่รัฐบาลที่จะรับสนองพระบรมราชโองการ พระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวิสามัญได้ ตนไม่เห็นว่าจะต้องเล่นแง่กับประเด็นที่ว่า ถ้าจะเปิดเรื่องถอดถอนไม่สามารถทำได้ระหว่างอยู่นอกประชุมเพราะต้องให้ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ เนื่องจากรัฐบาลมีหน้าที่ในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้อยู่แล้ว และขณะนี้ฝ่ายนิติบัญญัติมีเรื่องจำเป็นต้องพิจารณาตามหน้าที่วุฒิสภา ถ้ารัฐบาลยิ่งทำแบบนี้จะยิ่งสร้างสุญญากาศมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ออกนอกกรอบมากขึ้น
ส่วนที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นความเห็นของกฤษฎีกา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องถามว่าตั้งคำถามไปอย่างไร หากถามเรื่องการถอดถอนว่าสามารถเปิดวิสามัญได้หรือไม่ก็อาจอ้างตามนั้นได้ แต่ถ้าถามว่ารัฐบาลสามารถเปิดวิสามัญได้หรือไม่เชื่อว่ากฤษฎีกาก็ต้องตอบว่าได้ และเมื่อเปิดแล้วก็ไม่ต้องไปใช้มาตราที่ห้ามไม่ให้ถอดถอนนอกสมัยประชุม เพราะรัฐธรรมนูญมาตรานั้นพูดเฉพาะเรื่องที่อยู่นอกสมัยประชุมเท่านั้น
“การกระทำของรัฐบาลเหมือนจงใจที่จะสกัดกั้นการทำหน้าที่ของวุฒิสภา หากมีความชัดเจนว่าจากนี้ไปไม่ยอมเปิดสมัยประชุมก็น่าคิดว่านายกฯ จงใจฝ่าฝืนหน้าที่ของตนเองในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เท่ากับเป็นการทำผิดกฎหมายซ้ำอีก” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์เสนอทางออกว่า การเปิดสมัยประชุมไม่จำเป็นต้องผูกไว้เรื่องการถอดถอน โดยเลขาธิการวุฒิสภาแจ้งไปว่ามีเรื่องที่วุฒิสภาต้องพิจารณาอะไรบ้างเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการเปิดสมัยประชุม แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรก็จะถูกมองว่าเอาเรื่องผลประโยชน์หรือความต้องการของตนเอง เพราะเรื่องที่รอการพิจารณาเป็นเรื่องถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าผู้มีอำนาจไม่ต้องเคารพกฎหมายแต่หาช่องที่จะสนองความต้องการของตนเองอย่างเดียว ส่วนการแต่งตั้ง ป.ป.ช. ที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ได้รับการสรรหานั้น ก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปตรวจสอบคดีทุจริตจำนำข้าวทันหรือไม่ แต่รัฐบาลไม่มีเหตุผลที่จะทำให้กระบวนการแต่งตั้งถอดถอนของวุฒิสภามีความล่าช้า