xs
xsm
sm
md
lg

ปลายมีนาได้เวลาที่ประชาชนจะเขียนประวัติศาสตร์ด้วยตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ผมคิดว่าไม่เคยมีช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ประชาชนมีโอกาสใกล้ชิดกับการสถาปนาความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้มากเท่าช่วงเวลานี้ แต่ประชาชนจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ ด้วยวิธีการอย่างไรยังคงเป็นคำถามปลายเปิดที่รอการเติมคำตอบลงไปให้สมบูรณ์

ความชอบธรรมทางการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ โดยปกติความชอบธรรมทางการเมืองสำหรับการครองอำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตยมาจากระบบการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม และเป็นการเลือกตั้งที่มีประสิทธิผล

แต่หากระบบการเลือกตั้งบกพร่อง เปี่ยมล้นไปด้วยการทุจริต การซื้อขายเสียง การใช้อำนาจรัฐ และมวลชนอันธพาลคุกคามขู่แข่ง อีกทั้งก่อให้เกิดกระบวนการกีดกันทางสังคมอย่างเป็นระบบ (systematic exclusion) โดยระบบการเลือกตั้งทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (เช่น กลุ่มทุน) ได้ประโยชน์เพียงกลุ่มเดียว แต่กลับกีดกันประชาชนกลุ่มอื่นๆจำนวนมากในการเข้าสู่อำนาจรัฐ ระบบการเลือกตั้งนั้นย่อมไม่อาจเป็นฐานของความชอบธรรมทางการเมืองได้

ระบบการเลือกตั้งในสังคมไทยมีความบกพร่องอย่างรุนแรง จึงทำให้ผู้ครองอำนาจในการเมืองไทยเต็มไปด้วยบรรดากลุ่มทุนนักการเมืองสามานย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีกมลสันดานชั่วร้ายเป็นที่ตั้ง มีการกระทำที่รุนแรงและทุจริตฉ้อฉลเป็นนิสัย และปราศจากความรู้ความสามารถใดๆในการบริหารประเทศ

ระบบการเลือกตั้งที่มีคุณลักษณะเยี่ยงนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับปรุงเสียก่อน หาไม่แล้วก็จะสร้างปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ประชาชน ข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ ผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกร ผู้มีสำนึกทางการเมืองและความรับผิดชอบต่อประเทศ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สังคมไทยควรมีการปฏิรูปทางการเมืองเสียก่อน เพื่อวางรากฐานแก่ระบบการเลือกตั้งและองค์ประกอบอื่นๆที่เกี่ยวข้องเสียใหม่ จากนั้นจึงค่อยจัดการเลือกตั้ง

แต่เมื่อรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดื้อรั้น ดันทุรัง ดึงดันและบีบคั้น คณะกรรมการเลือกตั้ง ให้จัดการเลือกภายใต้ระบบการเลือกตั้งที่บกพร่องแบบเดิม ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยมิได้รับฟังเหตุผลและข้อวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือมีประชาชนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ และในที่สุดการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ถูกศาลตัดสินว่าเป็นโมฆะเพราะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม และขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

เราจึงสามารถสรุปได้ว่า ภายใต้สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน การเลือกตั้งที่พิกลพิการไม่อาจเป็นวิธีการในการสถาปนารัฎฐาธิปัตย์ได้อีกต่อไป เพราะวิธีการนี้ไร้ประสิทธิผลและขาดความชอบธรรมแห่งการเป็นหนทางที่ไปสู่เป้าหมาย กล่าวอย่างง่ายๆก็คือ หากยังใช้การเลือกตั้งที่พิกลพิการเยี่ยงนี้ ก็จะทำให้ประเทศไทยไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จนั่นเอง

แต่ปัญหาก็คือ ประเทศไม่อาจว่างเว้นรัฐบาลในการบริหารประเทศได้ และไม่อาจให้รัฐบาลรักษาการที่มีประวัติการบริหารที่ละเมิดหลักนิติธรรม ละเมิดรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า รักษาการบริหารประเทศได้อีกต่อไป เพราะจะยิ่งทำให้ประเทศจะต้องประสบกับความเสียหายมากขึ้นไปอีก

ตลอดสองปีของการบริหารประเทศโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ทิ้งซากปรักหักแห่งความย่อยยับของสังคม ความขัดแย้งและความรุนแรงการเมือง และการถดถอยทางเศรษฐกิจปรากฏไว้อย่างกลาดเกลื่อน อีกทั้งสามเดือนของการรักษาการนายกรัฐมนตรีก็ได้มีส่วนในการทำลายชีวิต ทำร้ายร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สินของประชาชนอย่างประมาณไม่ได้ ทิ้งรอยเลือด คราบน้ำตา รอยกระสุนปืน หลุมระเบิด ไว้เป็นตราแห่งความอัปยศไว้เกลื่อนเมือง

ดังนั้น หากจะให้บ้านเมืองอยู่รอด ปลอดพ้นจากความหายนะไปได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่และมีรัฐบาลใหม่ ขึ้นมาบริหารประเทศอย่างเร่งด่วน

ทว่ายังมีปมปัญหาค้างคาอยู่ 2 ข้อที่มีความเชื่อมโยงกัน ปัญหาแรกคือ รัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ หวงอำนาจและผลประโยชน์ของเครือญาติและพวกพ้อง ยิ่งกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน จึงดื้อรั้นไม่ยอมลาออก ปัญหาที่สองคือ หากไม่ใช้วิธีการเลือกตั้งแล้ว จะใช้วิธีการใดและช่องทางใดที่จะทำให้ ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีใหม่และรัฐบาลใหม่ขึ้นมา

คำตอบของปัญหาทั้งสองนั้นมีทางเลือกอยู่สองทาง ทางแรกคือ การรอคอยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการเพื่อประโยชน์ของเครือญาติ กรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบโยกย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. และการชี้มูลความผิด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโดยป.ป.ช. กรณีคดีทุจริตจำนำข้าว

หากศาลรัฐธรรมนูญและ/หรือ ป.ป.ช. ตัดสินว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผิดตามฟ้อง ก็จะทำให้เธอต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที จากนั้นกระบวนการหาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่จึงเกิดขึ้น แต่ทางเลือกนี้ต้องใช้เวลาในการรอคอยอีกนับเดือน ซึ่งจะยิ่งทำให้ประเทศเสียหายหนักขึ้นไปอีก

ส่วนทางเลือกที่สอง คือ ไม่จำเป็นต้องรอการตัดสินขององค์กรทั้งสอง โดยประชาชนอาศัยปัจจัยการหมดความชอบธรรมทางการเมือง การบริหารและกฎหมายอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ และปัจจัยความชอบธรรมของประชาชนตามมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญเป็นฐาน จากนั้นอาศัยช่องทางตามมาตรา 7 เพื่อนำเสนอรายชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีส่งต่อรักษาการประธานวุฒิสภา เพื่อนำเสนอแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามขั้นตอนที่เคยกระทำตามจารีตประเพณีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต่อไป

การเลือกทางเลือกที่สองจะช่วยลดความเสียหายของประเทศ ทั้งยังสามารถช่วยเหลือชาวนาได้อีกนับล้านคนได้อย่างทันเวลา รวมทั้งยังทำให้ประตูแห่งโอกาสของการปฏิรูปการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเปิดออกมาอีกด้วย จึงเป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมมากกว่าทางเลือกแรก

การชุมนุมใหญ่ของประชาชนในวันที่ 29 มีนาคม 2557 จึงเป็นจังหวะเวลาที่ดีในการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งเพราะประชาชนมีทั้งความชอบธรรมทางรัฐศาสตร์ และทางนิติศาสตร์สูงสุด ในการสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศโดยการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์เพื่อกำหนดบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการบริหารประเทศอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อไป

ผมคิดว่าในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 31 มีนาคม เราอาจจะได้เห็นเหตุการณ์ที่ประชาชนไทยร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ และเปิดศักราชการเมืองหน้าใหม่ให้แก่ประเทศไทย ซึ่งจะต้องได้รับการจารึกไปอีกยาวนาน


กำลังโหลดความคิดเห็น