xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯชงครม.เปิดประชุม24เม.ย. ถอดถอน”นิคม”ส่อวืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ ( 17เม.ย. ) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ได้เรียกประชุมทีมกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อหารือในประเด็นการเปิดประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ ที่ไม่ได้เป็นไปตามกำหนดเวลาเดิม คือในวันที่ 18 เม.ย. รวมทั้งการหารือถึงการปรับกรอบการทำงานของวุฒิสภา ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังการประชุม นายสุรชัย ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา เวลา 16.30 น. รัฐบาลได้ทำหนังสือยืนยันความเห็นว่า การเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาถอดถอน ไม่สามารถทำได้ โดยเราได้พยายามทบทวนพิจารณาในเหตุผลตามที่ท่านได้ทำหนังสือชี้แจงมา โดยในที่ประชุมของข้าราชการวุฒิสภา มีความเห็นว่า คงต้องยืนยันความเห็นเดิมว่า การประชุมนั้นเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยนายกฯ เป็นผู้เรียกประชุมทั้งในเรื่องของการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครอง ซึ่งครบวาระไปแล้วทั้งสองตำแหน่ง ซึ่งทั้งสองเรื่องไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เขียนในเรื่องอำนาจหน้าที่ จึงต้องใช้อำนาจในบททั่วไป คือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยนายกรัฐมนตรี
ส่วนการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ขณะนี้ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ มายังวุฒิสภาแล้ว แต่ขณะนี้ยังถือว่า ไม่มีสมัยประชุม และตามรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจวุฒิสภาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในการสมัยประชุมวิสามัญ ส่วนที่รัฐบาลได้อ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 ที่ระบุ ว่า ถ้ารายงานป.ป.ช. ส่งเรื่องมายังวุฒิสภานอกสมัยประชุม ก็ให้ประธานวุฒิแจ้งให้ประธานรัฐสภารับทราบเพื่อนำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อมีพระบรมราชโองการ เรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ และให้ประธานรัฐสภา ลงนาม สนองพระบรมราชโองการ ขอชี้แจงว่า ในช่วงที่ไม่มีสภาฯเพราะยุบสภาไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงทำให้ไม่มีประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ และในมาตรา 273 กำหนดให้ ป.ป.ช. ส่งรายงาน ระหว่างสมัยประชุมกับนอกสมัยประชุม แต่ขณะนี้ไม่ใช่ไม่ได้อยู่ภายในสมัยประชุม และนอกสมัยประชุม เพราะไม่มีรัฐสภา ทั้งนี้ ก็ทราบดีแล้วว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้โมฆะ ดังนั้นการเปิดประชุมครั้งแรก จึงไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีสมัยประชุมเกิดขึ้น จึงไม่มีทั้งสมัยประชุม หรือนอกสมัยประชุม ขณะนี้กล่าวได้ว่า อยู่ในห้วงของการที่ไม่มีสมัยประชุม
ดังนั้นจึงเห็นว่า เรื่องดังกล่าวต้องอาศัยบททั่วไป เพื่อให้การทำหน้าที่เดินหน้า โดยต้องอาศัยอำนาจของนายกฯ ในฐานะฝ่ายบริหารในการนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ โดยอาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 128 ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 195 ทั้งนี้ในช่วงบ่าย ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะทำหนังสือยืนยันเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ไปยังนายกฯ อีกครั้ง ทั้งนี้ได้กำหนดกรอบเวลาการเปิดสมัยวิสามัญ ในวันที่ 24 เม.ย. ทั้งนี้แจ้งให้ทราบถึงกรอบการทำงานในประเด็นที่วุฒิสภาพิจารณาด้วย คือ
1. การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง โดยข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาต้องนำเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมภายใน 20 วัน หลังจากได้รับเรื่องจากป.ป.ช. แต่ขณะนี้เหลือเพียง 2 วัน ยอมรับว่าทำงานไม่ทันตามกรอบเวลาแน่
2. การแต่งตั้งกรรมการป.ป.ช. โดยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยป.ป.ช.ได้ตีกรอบให้วุฒิสภา นำรายชื่อบุคคลที่ได้รับจากกรรมการสรรหามาพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ต่อที่ประชุมภายใน 30 วัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานให้ทันภายในกรอบเวลา ซึ่งการแจ้งเพื่อทราบดังกล่าว เพื่อต้องการเกิดความเข้าใจ และพิจารณาถึงห้วงเวลาที่เหมาะสม ในการเปิดสมัยประชุม และระยะเวลาใดที่ ส.ว.สามารถพิจารณาได้ โดยไม่ผิดกรอบตามกฎหมาย หาก ครม.พิจารณาเห็นว่า วันที่ 24 เม.ย. เป็นช่วงเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป ทางสำนักงานฯ ยังมีช่วงเวลาให้พิจารณา คือ วันที่ 30 เม.ย. ตามที่รัฐบาลได้ส่งหนังสือทำความเห็น ระบุว่า กรอบการพิจารณา 20 วัน ถือเป็นระยะเวลาเร่งรัด ไม่ใช่ข้อบังคับหากไม่ทำก็ไม่มีความผิดตามกฎหมาย ตนขอชี้แจงว่า ประเด็นดังกล่าว ตนเคารพความคิดเห็น แต่สำนักงานจะปฏิบัติตามความเห็นไม่ได้ และที่ผ่านมา ส.ว.ก็ได้ทำงานตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกรอบเวลาไม่ได้เป็นสิ่งที่ตนคิดมาเอง แต่มีอยู่แล้วในกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่เป็นการเร่งรัด หรือทำงานภายใต้นัยยะทางการเมือง แต่เป็นการทำงานภายใต้ภารกิจที่เกิดขึ้นจริง
ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า ระหว่างเปิดสมัยประชุมวิสามัญ จะมีการนำประเด็นทางการเมืองอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ตนเชื่อว่า การทำงานของวุฒิสภา จะเป็นไปตามภารกิจที่หน่วยงานที่ได้มีการส่งเรื่องเข้ามา
ส่วนประเด็นเรื่องที่จะมีการเสนอ นายกฯ มาตรา 7 ตนมองว่า เป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นจริง และไม่เป็นความจริง ซึ่งตนก็เชื่อใจ ส.ว.ทั้ง 150 คน จะพิจารณาว่า เรื่องไหนสมควรจะพิจารณาในที่ประชุม ส่วนตนในฐานะคนที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ไม่มีอำนาจในการสั่งให้พิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตนมีหน้าที่เพียงกำกับการประชุมให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยเท่านั้น
เมื่อถามว่า หากมีสมาชิกเสนอญัตติด่วนเข้ามาให้พิจารณา สามารถทำได้หรือไม่ตามข้อบังคับ นายสุรชัย กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นมีสมาชิกคนไหนพูด สิ่งที่สำคัญ อยากไปถึงแกนนำของทั้งสองกลุ่ม ให้พิจารณาในสิ่งที่ถูกที่ผิด อย่าได้สร้างเงื่อนไขที่เป็นวิกฤตทางการเมือง วันนี้รัฐบาลก็พูดถึงเรื่องมาตรา 7 ตนไม่ขอตอบว่า เป็นความคิดที่ถูก หรือผิด แต่อยากจะให้ช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรจะทำให้บ้านเมืองสงบ
เมื่อถามย้ำว่า หากมีการเสนอญัตติในช่วงสมัยประชุมวิสามัญ นายสุรชัย กล่าวว่า ต้องไปถามคนพูด ว่ามีเหตุผลอะไร มีประเด็นอะไร ที่จะนำขึ้นมาพูด ส่วนตามข้อบังคับการประชุม การเสนอญัตติใด ก็มีข้อบังคับ และขั้นตอนการพิจารณา เช่น การเสนอญัตติ มีคนรับรองอย่างน้อย 10 คน และต้องมีการเสนอเหตุผล ประเด็น มาให้พิจารณา ทั้งนี้ก็เสนอมาได้ แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่า จะเห็นชอบให้มีการพิจารณาญัตตินั้น ๆ หรือไม่
เมื่อถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่วุฒิสภาจะพิจารณาเฉพาะเรื่องที่ไม่มีปัญหาในข้อกฎหมาย ส่วนสิ่งที่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ก็จะเก็บไว้พิจารณาภายหลัง นายสุรชัย กล่าวว่า ตนไม่ขัดข้อง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกฯ และครม. หากจะแยกเรื่องใดที่ไม่เป็นปัญหาให้มีการประชุม ตนก็ไม่มีปัญหา แต่ต้องมาคุยกันในเหตุผล และหารือกันก่อน หากเหตุผลฟังได้ ตนก็ไม่ขัดข้อง เพราะวุฒิสภามี 3 ภารกิจ ที่จะดำเนินการ แต่หากเห็นว่าภารกิจใดทำได้ก็เดินหน้าไปก่อนก็ได้ ตนไม่ขัดข้อง
ต่อข้อถามว่า หากรัฐบาลยืนยันไม่สามารถเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญได้ จะทำอย่างไร นายสุรชัย กล่าวว่า ไม่มีทางเลือกอื่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ตนเชื่อว่า รัฐบาลและวุฒิสภา จะทำความตกลงกันได้ โดยไม่ต้องรบกวนศาล ทั้งนี้หลักกฎหมายก็มีอยู่ เชื่อว่าจะคุยกันได้
เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนั้นอาจจะมีการปัญหาทางข้อกฎหมายเกินกรอบ 30 วัน จะมีปัญหาหรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า ก็ไม่อยากให้เป็นประเด็นหรือเกิดปัญหาทางข้อกฎหมาย ถ้าเป็นเช่นนั้น ต้องมีคนรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ตนก็ได้มีการประสานไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้รับทราบถึงกรอบการทำงานของกกต. ว่าจะประกาศรับรอง ส.ว.ที่เหลือได้เมื่อไหร่ เพื่อไม่ให้กลายเป็นประเด็นปัญหา หรือความคลางแคลงใจว่า การประชุมวุฒิสภาจะใช้ชุดเดิมหรือชุดใหม่ เข้ามาทำหน้าที่

**ร้องศาลรธน.หากครม.ไม่เปิดประชุม

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ล่าสุดทางสำนักเลขาธิการวุฒิสภา กำลังเตรียมหนังสือ ส่งไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอเปิดประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ แต่อาจยังไม่ใช่เรื่องการถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช แต่เป็นเรื่องการตั้งกรรมมาธิการ เพื่อสอบประวัติน.ส.สุภา ปิยะจิตติ เข้าเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ยอมดำเนินการ ก็ถือว่าเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของวุฒิสภา 2 เรื่อง คือ 1. การถอดถอน และ 2. การแต่งตั้ง และยังถือว่าเป็นการหวังผลทางการเมืองของรัฐบาลด้วย
ส่วนการเปิดประชุมวุฒิสภา ไม่ทันถอดถอนนายนิคม นั้น ก็ถือว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่สาเหตุของวุฒิสภา แต่เป็นสาเหตุมาจากคณะรัฐมนตรี หากเปิดประชุม ก็จะดำเนินการถอดถอนต่อ ตลอดจนเรื่องดังกล่าว สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยให้ ครม. ดำเนินการเปิดประชุมมาแล้ว ดังนั้น จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทางวุฒิสภา จะไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ และดำเนินคดีอาญา ต่อครม. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

** "หญิงเป็ด"แจงกกต.วันนี้

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวถึงการพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งส.ว.ในส่วนที่เหลืออีก 19 จังหวัด ว่า ในวันที่ 22 เม.ย. จะมีการพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งส.ว. อีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก และจะไปรับรองที่เหลือทั้งหมดอีกในวันที่ 28 เม.ย. ซึ่งหากผู้ได้รับเลือกตั้งคนใดถูกร้องเรียนแล้ว กกต.ดำเนินการสืบสวนสอบสวนไม่แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ก็จะต้องประกาศรับรองผลไปก่อน
ทั้งนี้มีรายงานว่าคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.กทม. จะเดินทางเข้าชี้แจงต่ออนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของกกต.กทม. ในวันนี้ (18เม.ย.) เวลา 10.00 น. กรณีถูกกล่าวหาว่าให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา หาเสียงชี้นำให้เลือกตนเองในการปราศรัยที่เวที กปปส. สวนลุมพีนี เมื่อวันที่ 7 มี.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น