xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” ถกทีม กม. ชงเปิดประชุมวุฒิฯ 24 เม.ย. ถ้า “ปู” ยังยึกยักส่งศาลฯ ตีความ พร้อมเอาผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุรชัย” เรียกประชุมทีมกฎหมายวุฒิสภา หลัง “ยิ่งลักษณ์” ไม่ลงนามทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.เปิดประชุมวุฒิสภา เตรียมทำหนังสือถึงรัฐบาล ยืนยันฝ่ายบริหารต้องทูลเกล้าฯ เสนอเปิดประชุม 24 เม.ย. เหตุมีกรอบเวลาตามกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง ป.ป.ช.คนใหม่ หากยังยึกยักอีกต้องส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย และถ้าผิดกฎหมาย “ปู” ต้องรับผิดชอบ เชื่อ ส.ว.ไม่ลากยาวนอกเรื่อง ส่วนนายกฯ ม.7 ไม่มี

วันนี้ (17 เม.ย.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ได้เรียกประชุมทีมกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อหารือประเด็นการเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญที่ไม่ได้เป็นไปตามกำหนดเวลาเดิม คือ ในวันที่ 18 เม.ย. เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ไม่ลงนามทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เบื้องต้นจะมีการหารือถึงการปรับกรอบการทำงานของวุฒิสภาในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

นายสุรชัยให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย.เวลา 16.30 น. รัฐบาลได้ทำหนังสือยืนยันความเห็น ว่าการเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาถอดถอนไม่สามารถทำได้ โดยเราได้พยายามทบทวนพิจารณาในเหตุผลตามที่นายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือชี้แจงมา โดยในที่ประชุมของข้าราชการวุฒิสภา มีความเห็นว่าคงต้องยืนยันความเห็นเดิมว่าการประชุมนั้นเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยนายกฯ เป็นผู้เรียกประชุมทั้งในเรื่องของการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครอง ซึ่งครบวาระไปแล้วทั้ง 2 ตำแหน่ง ซึ่งทั้ง 2 เรื่องไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เขียนในเรื่องอำนาจหน้าที่ จึงต้องใช้อำนาจในบททั่วไป คือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยนายกรัฐมนตรี

ส่วนการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง โดยขณะนี้ ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนฯ ในฐานะประธานวุฒิสภามายังวุฒิสภาแล้ว แต่ขณะนี้ยังถือว่าไม่มีสมัยประชุมและตามรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจวุฒิสภาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในการสมัยประชุมวิสามัญ

ส่วนที่รัฐบาลได้อ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 ที่ระบุว่า ถ้ารายงาน ป.ป.ช.ส่งเรื่องมายังวุฒิสภานอกสมัยประชุมก็ให้ประธานวุฒิฯ แจ้งให้ประธานรัฐสภารับทราบเพื่อนำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญและให้ประธานรัฐสภาลงนาม สนองพระบรมราชโองการ ขอชี้แจงว่าในช่วงที่ไม่มีสภาฯ เพราะยุบสภาไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงทำให้ไม่มีประธานรัฐสภาทำหน้าที่ และในมาตรา 273 กำหนดให้ ป.ป.ช.ส่งรายงานระหว่างสมัยประชุมกับนอกสมัยประชุม แต่ขณะนี้ไม่ใช่ไม่ได้อยู่ภายในสมัยประชุม แต่เป็นนอกสมัยประชุม เพราะไม่มีรัฐสภา ทั้งนี้ก็ทราบดีแล้วว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้โมฆะ ดังนั้นการเปิดประชุมครั้งแรกจึงไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีสมัยประชุมเกิดขึ้นจึงไม่มีทั้งสมัยประชุมหรือนอกสมัยประชุม ขณะนี้กล่าวได้ว่าอยู่ในห้วงของการที่ไม่มีสมัยประชุม

ดังนั้นจึงเห็นว่าเรื่องดังกล่าวต้องอาศัยบททั่วไปเพื่อให้การทำหน้าที่เดินหน้า โดยต้องอาศัยอำนาจของนายกฯในฐานะฝ่ายบริหารในการนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ โดยอาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 128 ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 195

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันนี้ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิจะทำหนังสือยืนยันเปิดสมัยประชุมวิสามัญไปยังนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยได้กำหนดกรอบเวลาการเปิดสมัยวิสามัญในวันที่ 24 เม.ย. ซึ่งจะแจ้งให้ทราบถึงกรอบการทำงานในประเด็นที่วุฒิสภาพิจารณาด้วยคือ 1.การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งโดยข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ต้องนำเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมภายใน 20 วันหลังจากได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช. แต่ขณะนี้เหลือเพียง 2 วันยอมรับว่าทำงานไม่ทันตามกรอบเวลาแน่

2. การแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช.โดยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ได้ตีกรอบให้วุฒิสภานำรายชื่อบุคคลผู้ที่ได้รับการพิจารณาจากกรรมการสรรหา มาพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อที่ประชุมภายใน 30 วัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานให้ทันภายในกรอบเวลา ซึ่งการแจ้งเพื่อทราบดังกล่าวเพื่อต้องการเกิดความเข้าใจและพิจารณาถึงห้วงเวลาที่เหมาะสมในการเปิดสมัยประชุม และระยะเวลาใดที่ ส.ว.สามารถพิจารณาได้โดยไม่ผิดกรอบตามกฎหมาย

“หาก ครม.พิจารณาเห็นว่าวันที่ 24 เม.ย.เป็นช่วงเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป ทางสำนักงานฯยังมีช่วงเวลาให้พิจารณาคือวันที่ 30 เม.ย. ตามที่รัฐบาลได้ส่งหนังสือทำความเห็นว่า กรอบการพิจารณา 20 วันถือเป็นระยะเวลาเร่งรัดไม่ใช่ข้อบังคับ หากไม่ทำก็ไม่มีผิดตามกฎหมาย ผมขอชี้แจงว่าประเด็นดังกล่าวผมเคารพความคิดเห็น แต่สำนักงานฯ จะปฏิบัติตามความเห็นไม่ได้ และที่ผ่านมา ส.ว.ก็ได้ทำงานตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกรอบเวลาไม่ได้เป็นสิ่งที่ผมคิดมาเอง แต่มีอยู่แล้วในกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่เป็นการเร่งรัดหรือทำงานภายใต้นัยยะทางการเมือง แต่เป็นการทำงานภายใต้ภารกิจที่เกิดขึ้นจริง ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าระหว่างเปิดสมัยประชุมวิสามัญจะมีการนำประเด็นทางการเมืองอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเชื่อว่าการทำงานของวุฒิสภาจะเป็นไปตามภารกิจที่หน่วยงานที่ได้มีการส่งเรื่องเข้ามา”

ส่วนประเด็นเรื่องที่จะมีการเสนอนายกฯ มาตรา 7 นั้น นายสุรชัยกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นจริงและไม่เป็นความจริง ซึ่งตนก็เชื่อใจ ส.ว.ทั้ง 150 คนจะพิจารณาว่าเรื่องไหนสมควรจะพิจารณาในที่ประชุม ส่วนตนในฐานะคนที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ไม่มีอำนาจในการสั่งให้พิจารณาเรื่องใดเรื่อง ตนมีหน้าที่เพียงกำกับการประชุมให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีสมาชิกเสนอญัตติด่วนเข้ามาให้พิจารณาสามารถทำได้หรือไม่ตามข้อบังคับ นายสุรชัยกล่าวว่า ตนยังไม่เห็นมีสมาชิกคนไหนพูด สิ่งที่สำคัญอยากฝากไปถึงแกนนำของทั้งสองกลุ่มให้พิจารณาในสิ่งที่ถูกที่ผิด อย่าได้สร้างเงื่อนไขที่เป็นวิกฤตทางการเมือง วันนี้รัฐบาลก็พูดถึงเรื่องมาตรา 7 ตนไม่ขอตอบว่าเป็นความคิดที่ถูกหรือผิด แต่อยากจะให้ช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจะทำให้บ้านเมืองสงบ

เมื่อถามว่าย้ำว่าหากมีการเสนอญัตติในช่วงสมัยประชุมวิสามัญ นายสุรชัยกล่าวว่า ต้องไปถามคนพูดว่ามีเหตุผลอะไร มีประเด็นอะไรที่จะนำขึ้นมาพูด ส่วนตามข้อบังคับการประชุมการเสนอญัตติใด ก็มีข้อบังคับและขั้นตอนการพิจารณา เช่นการเสนอญัตติมีคนรับรองอย่างน้อย 10 คน และต้องมีการเสนอเหตุผล มีประเด็นให้พิจารณา ทั้งนี้ก็เสนอมาได้ แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะเห็นชอบให้มีการพิจารณาญัตตินั้น ๆหรือไม่

ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ที่วุฒิสภาจะพิจารณาเฉพาะเรื่องที่ไม่มีปัญหาในข้อกฎหมาย ส่วนสิ่งที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายก็จะเก็บไว้พิจารณาภายหลัง นายสุรชัยกล่าวว่า ตนไม่ขัดข้อง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกฯ และครม. หากจะแยกเรื่องใดที่ไม่เป็นปัญหาให้มีการประชุม ตนก็ไม่มีปัญหา แต่ต้องมาคุยกันในเหตุผล และหารือกันก่อน หากเหตุผลฟังได้ก็ไม่ขัดข้อง เพราะวุฒิสภามี 3 ภารกิจที่จะดำเนินการ แต่หากเห็นว่าภารกิจใดทำได้ก็เดินหน้าไปก่อนก็ได้ ตนไม่ขัดข้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากรัฐบาลยืนยันไม่สามารถเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญได้จะทำอย่างไร นายสุรชัยกล่าวว่า ไม่มีทางเลือกอื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ตนเชื่อว่ารัฐบาลและวุฒิสภาจะทำความตกลงกันได้ โดยไม่ต้องรบกวนศาล ทั้งนี้หลักกฎหมายก็มีอยู่ เชื่อว่าจะคุยกันได้

ต่อข้อถามว่าหากเป็นเช่นนั้นอาจจะมีการปัญหาทางข้อกฎหมายเกินกรอบ 30 วันจะมีปัญหาหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ก็ไม่อยากให้เป็นประเด็นหรือเกิดปัญหาทางข้อกฎหมาย ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องมีคนรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ตนได้ประสานกับไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้รับทราบถึงกรอบการทำงานของ กกต.ว่าจะประกาศรับรอง ส.ว.ที่เหลือได้เมื่อไหร่ เพื่อไม่ให้กลายเป็นประเด็นปัญหาหรือความคลางแคลงใจว่าการประชุมวุฒิสภาจะใช้ชุดเดิมหรือชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่






กำลังโหลดความคิดเห็น