xs
xsm
sm
md
lg

เอาผิดยกเข่ง“สภาทาส” ยิ่งลักษณ์ -สมศักดิ์-นิคม ป.ป.ช.ต้องสำเร็จโทษโดยเร็ว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ไม่รู้ว่า สุดท้าย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเอาอย่างไรกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชัดเจนว่าเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาโดยมิชอบผิดทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

ร่างแก้ที่มาส.ว.ของสภาโจรดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาวาระ 3 เมื่อ 28 ก.ย.56 ก็ปรากฏว่า ยิ่งลักษณ์ ได้ทูลเกล้าฯร่างฉบับนี้ไปแล้วเมื่อ 1 ต.ค.56

ทางออกหลังจากนี้ นักฎหมายบางส่วนก็มองว่า หลักๆ ก็คงเป็นไป 2 แนวทางคือ

1.นายกรัฐมนตรีก็ต้องรอให้สำนักพระราชวังส่งร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวกลับคืนมาให้นายกรัฐมนตรีแล้วนายกรัฐมนตรีก็ฝังร่างแก้ไขรธน.ผิดกฎหมายนี้เสีย

2.นายกรัฐมนตรีต้องประสานไปยังสำนักพระราชวังเพื่อขอถวายพระราชทานร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวกลับคืนมา แล้วก็เก็บเข้าลิ้นชัก

แม้จะมีบางฝ่ายมองว่ายังมีอีกหนึ่งช่องทางคือ การปฏิบัติตามรธน.ที่ว่าก็ต้องรอจนครบ 90 วัน นับจากที่ยิ่งลักษณ์ได้ทูลเกล้าฯร่างดังกล่าวไปตั้งแต่ 1 ตุลาคม 56 หากครบแล้วยังมิได้พระราชทานร่างกลับคืนมาทางรัฐสภาก็ต้องมาปรึกษากันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะมีการลงมติยืนยันร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวอีกครั้งหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวข้อหลังเรียกได้ว่าในสภาพความเป็นจริงแล้ว ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยโดยเฉพาะกับสถานการณ์ของรัฐบาลเพื่อไทยในยามนี้ เพราะหากเพื่อไทยกระทำการดังกล่าวจะเป็นการท้าทายกฎหมายและความถูกต้องเหมาะสมของบ้านเมือง

เนื่องจากศาลรธน.ชี้แล้วว่าร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวขัดรธน.และเป็นร่างแก้ไขรธน.ที่มิชอบ

ถ้าหากส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.คิดจะทำเช่นนั้น จะเป็นการท้าทายทำให้มีประชาชนออกมารวมตัวคัดค้าน-ต่อต้านบนท้องถนนมากกว่าการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯเสียอีกแล้วจะหาว่าไม่เตือน

ดูไปแล้ว ทางออกของเรื่องนี้ ที่ดีที่สุดและควรที่ยิ่งลักษณ์ต้องทำโดยเร็วที่สุด ก็คือ การขอพระราชทานคืนร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวโดยเร็วและสิ่งที่ต้องทำมากกว่านั้นคือ ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองกับการที่เสนอร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวที่ถูกหลายฝ่ายทักท้วงตั้งแต่หลังรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบวาระ 3 แล้ว

ว่าไม่ควรรีบนำขึ้นทูลเกล้าฯเพราะสามารถใช้ช่องทางกฎหมายบางอย่างชะลอเรื่องได้แต่ยิ่งลักษณ์ก็อ้างว่าต้องรีบทูลเกล้าฯเพราะรธน.ล็อกไว้ว่าต้องทูลเกล้าฯภายใน 20 วันหลังผ่านวาระ 3 หากไม่ทำนายกฯก็จะทำผิดรธน.

แต่ความจริง ปรากฏว่าพอรัฐสภาให้ความเห็นชอบวาระ 3 วันที่ 28 ก.ย. พอวันที่ 1 ต.ค. 56 คือหลังผ่านวาระ 3 มาแค่ 3 วันยิ่งลักษณ์ก็ทูลเกล้าฯไปแล้วโดยไม่ลังเลหรือรอให้ใกล้ครบ 20 วัน

ทั้งที่ตอนนั้นคือก่อน 1 ต.ค. ศาลรธน.รับคำร้องคดีแก้ไขรธน.เรื่องที่มาส.ว.ไปแล้ว แสดงให้เห็นว่ายิ่งลักษณ์ จงใจนำร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวทูลเกล้าฯขึ้นไปโดยไม่แยแสต่อความผิดถูกอย่างไรแม้มีการชี้ว่า กระบวนการพิจารณาแก้ไขรธน.ดังกล่าวในขั้นตอนต่างๆ เสี่ยงมากที่จะผิดกฎหมายเช่น มีการแสดงคลิปหลักฐานการเสียบบัตรแทนกันแต่ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ฟังเสียงทักท้วงอะไรทั้งสิ้น

จริงอยู่ ยิ่งลักษณ์ อาจอ้างได้ว่า หากตอนนั้นไม่รีบนำทูลเกล้าฯไปแล้วเห็นไหม ศาลรธน.นัดอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 20 พ.ย. 56 มันก็เลยกำหนด 20 วันนับจากวันที่รัฐสภาโหวตวาระ 3 เมื่อ 28 ก.ย.มาแล้ว

แต่ก็อาจมองอีกบางมุมได้ว่า ก็เป็นเพราะยิ่งลักษณ์ทูลเกล้าฯไปแล้วข่าวปรากฏออกมามากมาย ยิ่งลักษณ์ก็ให้สัมภาษณ์ยอมรับเองว่าทูลเกล้าฯไปแล้วถ้าหากยิ่งลักษณ์ชะลอเรื่องไปสักระยะ ก็ไม่แน่ที่ศาลรธน.อาจนัดไต่สวนฉุกเฉินเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนครบ 20 วันแต่พอศาลเห็นว่ายิ่งลักษณ์ทูลเกล้าฯไปแล้ว ก็ไม่มีผลอะไรที่ศาลจะวินิจฉัยช้าหรือเร็ว

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น ยิ่งลักษณ์ ที่นอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็ยังเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมโหวตร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวด้วย ต้องรับผิดชอบทางการเมืองด้วย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นยิ่งลักษณ์มีส่วนรู้เห็นทั้งหมด

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ถือได้ว่าความผิดสำเร็จแล้ว ว่าไปแล้ว “การลาออก-ยุบสภา”หากยิ่งลักษณ์ คิดจะทำ ยังน้อยเกินไปด้วยซ้ำ มันต้องมีมากกว่านั้น เช่นต้องประกาศเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม “ทีมข่าวการเมือง”ก็เชื่อเหมือนกันที่ประชาชนชาวไทยทุกคนเชื่อว่าเรื่อง “จริยธรรมการเมือง-ความรับผิดชอบทางการเมือง”ของยิ่งลักษณ์และสภาทาส ชุดนี้ อย่าได้ไปหวัง ดังนั้น ที่บอกให้ยิ่งลักษณ์แสดงความรับผิดชอบ ก็ได้แต่เรียกร้องเท่านั้น ไม่มีทางจะได้เห็น

ลำดับต่อจากนี้ ที่ต้องโฟกัสกันต่อไปก็คือการต้องให้บทเรียนนักการเมืองหน้าหนา ทั้งหลายว่าเมื่อทำผิดรัฐธรรมนูญ-ใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็ต้องรับผิดด้วยไม่ใช่จะมาลอยนวลหนีความผิดกันได้ง่ายๆ

ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นส.ส.พรรคฝ่ายค้าน-สว.น้ำดีอย่างกลุ่ม 40 ส.ว. รวมถึงภาคประชาชนอย่างพวกเรากันเอง จะต้องหาวิธีการลงโทษนักการเมืองเหล่านี้ให้หลาบจำ ด้วยการยื่นเรื่องเอาผิดต่อคณะกรรมการป้องกันและปรามการทุจริตแห่งชาติ -การล่าชื่อประชาชน 2 หมื่นชื่อเพื่อส่งต่อไปยังป.ป.ช.ได้พิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่ง

เนื่องจากเรื่องนี้ต้องรับผิดชอบกันหลายคน ไม่ใช่แค่ยิ่งลักษณ์คนเดียว สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ประธานรัฐสภา-นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานวุฒิสภาก็ต้องรับผิดด้วยในฐานตัวการสำคัญ

เพราะคำวินิจฉัยของศาลรธน.ก็ระบุชัดว่า เหตุที่ศาลรธน.เห็นว่า ร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวไม่ชอบก็เพราะมีการปิดกลั้นไม่ให้สมาชิกรัฐสภาได้ใช้สิทธิอภิปรายร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวที่ถือเป็นสิทธิพื้นฐานของสมาชิกรัฐสภาที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายปกติหรือการปิดกลั้นไม่ให้สมาชิกรัฐสภา 57 คนที่ได้ยื่นขอสงวนคำแปรญัตติเอาไว้ได้อภิปราย จึงเหมาะสมแล้วที่จะต้องเอาผิดสมศักดิ์-นิคม เพราะเอาแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ก็ถือว่าทั้งสมศักดิ์-นิคม ความผิดสำเร็จแล้วรวมถึงพวกส.ส.-สว.ขี้ข้าทักษิณที่ร่วมกันลงมติเห็นชองร่างแก้ไขรธน.ฉบับเถื่อนออกมาโดยขัดรธน.

และที่ต้องโดนไล่บี้หนักๆเลยก็เช่น นริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนครเพื่อไทยฐานกดบัตรแทนส.ส.เพื่อไทย ที่ศาลชี้ว่าเป็นการทำหน้าที่โดยไม่สุจริตรวมถึงอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี เจ้าของร่างดังกล่าวและนายสุวิจักขณ์นาควัชระชัย เลขาธิการสภาฯในฐานะเลขาธิการรัฐสภา ก็ต้องรับผิดชอบกรณีเรื่องเอกสารปลอมร่างแก้ไขรธน.ที่ศาลก็ระบุว่าเป็นการใช้เอกสารเท็จในการพิจารณาร่างแก้ไขรธน.

เชื่อว่า หลังจากนี้ “นริศร-อุดมเดช-สุวิจักขณ์”อาการหนักแน่นอน

เบื้องต้น ส.ส.และทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ออกมาชี้ช่องไว้แล้วว่าหลังจากนี้จะรีบเดินเครื่องไม่รอช้า ในการเดินหน้าเอาผิดพวกนี้ทั้งหมด ฐานร่วมกันใช้อำนาจโดยมิชอบในการเสนอและลงมติร่างแก้ไขรธน.ที่เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตามที่ศาลรธน.ได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้ว

ซึ่งขั้นตอนการเอาผิดก็จะมุ่งเข็มไปที่ป.ป.ช.เป็นหลักด้วยการยื่นถอดถอนผ่านประธานวุฒิสภาเพื่อให้ส่งไปยังป.ป.ช.รวมถึงอีกส่วนหนึ่งก็จะมุ่งตรงไปที่ป.ป.ช.เลยเพราะเบื้องต้นพบว่ามีส.ว.บางส่วนเช่นวันชัย สอนศิริ สว.สรรหาได้นำร่องยื่นเรื่องไปที่ป.ป.ช.กรณีเดียวกันนี้ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นก็อาจมีการส่งคำวินิจฉัยของศาลรธน.ฉบับทางการและพยานหลักฐานต่างๆที่เคยยื่นให้ศาลรธน.ไปก่อนหน้านี้ก็ส่งไปยังป.ป.ช.เพื่อเติมเต็มสำนวนการไต่สวนให้รัดกุมและทำให้ป.ป.ช.พิจารณาได้เร็วยิ่งขึ้น

ขณะที่ตอนนี้มีนักกฎหมายออกมาชี้ว่า หากเรื่องส่งไปที่ป.ป.ช.แล้วทางป.ป.ช.สามารถชี้มูลคดีได้เร็วกว่าการไต่สวนคดีตามปกติเนื่องจากว่าศาลรธน.ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงมาหมดแล้วทั้งเรื่องกดบัตรแทนกัน-เอกสารปลอม-การพิจารณาข้ามขั้นตอนทำให้สมาชิกรัฐสภาเสียสิทธิในการยื่นขอสงวนคำแปรญัตติ-การยื่นร่างแก้ไขรธน.ที่เข้าข่ายทำเพื่อตัวเองอันมีลักษณะผลประโยชน์ขัดกันของสมาชิกวุฒิสภาอีกทั้งเป็นการเห็นชอบร่างแก้ไขรธน.ที่ขัดรธน.มาตรา 68 ซึ่งทั้งหมดศาลรธน.เขียนไว้ในคำวินิจฉัยกลางอย่างละเอียดหมดแล้ว

จึงเท่ากับว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงต่างๆรวมถึงการชี้ประเด็นข้อกฎหมาย ทางศาลรธน.ได้ทำมาจนจบสิ้นกระแสความแล้วอันเป็นการลดเวลาการไต่สวนของป.ป.ช.ได้มากหากสุดท้ายเรื่องส่งไปที่ป.ป.ช.แล้วป.ป.ช.รับเรื่องไว้การพิจารณาเบื้องต้นเพื่อลงมติชี้มูลความผิด ยิ่งลักษณ์-สมศักดิ์-นิคมและ 312 ส.ส.-ส.ว. จึงน่าจะทำได้เร็วกว่าคดีอื่นๆ

หรือหากป.ป.ช.ยังติดใจสงสัยประเด็นใดเพิ่มเติมจากที่ศาลรธน.ได้ไต่สวนไว้ก็อาจใช้เวลาไต่สวนไม่นาน ก็สิ้นกระแสความพอจะชี้มูลความผิดได้แล้ว ไม่ใช่ดองเรื่อง-แช่แข็งสำนวนไว้แบบที่ผ่านมาหลายปี

ส่วนที่ว่า หากการถอดถอนยิ่งลักษณ์-สมศักดิ์-นิคมและสมาชิกรัฐสภา 312 ที่จะยื่นผ่านประธานวุฒิสภาและยื่นตรงต่อป.ป.ช.แล้วป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิด อะไรจะเกิดขึ้น

พบว่า ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 มาตรา 55 เขียนไว้ว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาที่ส่งมาจากประธานวุฒิสภามีมูล “ผู้ถูกกล่าวหา”จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจะมีคําพิพากษาแล้วแต่กรณี

หมายถึงว่า ถ้าเป็นไปตามนี้ ยิ่งลักษณ์-สมศักดิ์-นิคม-ส.ส.สว.312 คนก็จะหยุดการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะส.ส.-สว.ทันที สภาพ “สุญญากาศการเมือง”ก็จะเกิดขึ้นนับแต่นั้น แล้วยิ่งลักษณ์จะยอมให้เกิดสภาพแบบนั้นหรือการยุบสภา จึงน่าจะเป็นทางออกก่อนที่ สุญญากาศจะมาถึง!
สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
นิคม ไวยรัชพานิช
กำลังโหลดความคิดเห็น