xs
xsm
sm
md
lg

ปปช.ตั้งอนุฯสอบแก๊งสภาทาส ฟันสมศักดิ์–นิคม พท.เหิม!ขู่ถอด5ตุลาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ป.ป.ช.ยกคณะนั่งอนุกก.ไต่สวน 5 คำร้องถอดถอน“สมศักดิ์-นิคม”พร้อมเอาผิดอาญา 308 ส.ส.-ส.ว. ที่ลงชื่อเสนอร่าง แก้ไขรธน. พร้อมนำคำวินิจฉัยศาลรธน.เป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบด้วย แจงฟันเลยไม่ได้ ต้องตรวจสอบเจตนาก่อน คาดใช้เวลาพอสมควร ด้านเพื่อไทยออกแถลงการณ์โต้ อัดศาลรับคำร้อง จงใจขัดรธน.มาตรา 68 เพิ่มอำนาจให้ตัวเองเกินที่กม.กำหนด จวกทำการกระทบพระราชอำนาจวินิจฉัย ทั้งที่ได้ทูลเกล้าฯ แล้ว อ้างจะดีหรือเลวให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้ง ยันไม่ขอพระราชทานร่างกม.คืน "อภิวันท์" จุดพุลฟ้อง ม.112 ตุลาการศาลรธน. เหตุวินิจฉัยคดีก้าวล่วงพระราชอำนาจ เล็งถอดถอน 5 ตุลาการเสียงข้างมาก เตรียมเขี่ย"สมศักดิ์"พ้นปธ.สภาฯ

วานนี้ (21พ.ย.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประชุมและรับฟังรายงานจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับความคืบหน้า กรณีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกรณีร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 270 ในกรณีที่เสนอ ร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาโดยมิชอบ นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้รับทราบถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางดำเนินการว่า สอดคล้องกับการไต่สวนของป.ป.ช. อย่างไร โดยใช้เวลานานเกือบ 4 ชั่วโมง

นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการป.ป.ช. และรองโฆษกคณะกรรมการป.ป.ช. พร้อมด้วย นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. ร่วมกันแถลงข่าว ภายหลังการประชุมโดยนายประสาท กล่าวว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ได้พิจารณาคำร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งและคำกล่าวหาที่มีผู้ร้องจำนวน 5 เรื่องแล้ว และมีมติให้นำคำร้อง ขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหาทั้งหมดมารวมพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งให้กรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะ เป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงโดยให้ นายวิชา มหาคุณ นายใจเด็ด พรไชยา และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน

ทั้งนี้ 5 คำร้อง แบ่งเป็นเรื่องกล่าวหาร้องเรียนขอให้ดำเนินคดีอาญา จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้

1. สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 3 คน ได้กล่าวหา ส.ส.และส.ว. จำนวน 308 คน ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาส.ว.ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งที่ตามกฎหมายอื่น ทำให้ผู้กล่าวหาหรือประชาชนได้รับความเสียหาย แ

2.ประชาชนกล่าวหาร้องเรียน กรณีมีสมาชิกรัฐสภาใช้บัตรประจำตัวของตน เสียบบัตรเข้าเครื่องลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภาคนอื่น ในการออกเสียงลงคะแนนโดยมิชอบ

ส่วนคำร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง มีจำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

1.กรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง

2.กรณีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา

3. กรณีส.ว.ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอน นายนิคม
อย่างไรก็ตาม สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาเมื่อวันที่ 20 พ.ย. เมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ทางป.ป.ช. จะนำมาเป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งในการไต่สวน เพราะถือว่าเป็นเรื่องในทำนองเดียวกัน

ด้านนายวิชัย กล่าวถึงกรณีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ป.ป.ช.จะชี้มูลเป็นอย่างอื่นมิได้ว่า ตามรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง องค์กรอิสระ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เรื่องที่มาถึงป.ป.ช. มีอยู่ 2 เรื่องคือ

1. การร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และ 2.การกล่าวหาในคดีอาญา ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ทั้ง 2 เรื่องต้องเข้าออกตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งเมื่อเรื่องมาถึงป.ป.ช.แล้ว จะต้องมีกระบวนการไต่สวน ดังนั้น คำวินิจฉัยจะผูกพันเฉพาะคำวินิจฉัย แต่ลำพังคำวินิจฉัยไม่เพียงพอที่คณะกรรมการป.ป.ช.จะวินิจฉัยให้ขัด หรือไม่ขัดต่อตำแหน่งได้ และไม่เพียงพอที่ คณะกรรมการป.ป.ช. จะชี้มูลผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดอาญาหรือไม่ เพราะมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น คดีอาญาจะต้องดูเจตนาการกระทำความผิดทางอาญา หรือ การถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะต้องเป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แต่ตรงนี้ไม่มีในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ บอกแต่เพียงว่า การดำเนินการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนผู้ดำเนินการจะมีเจตนาอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จริงอยู่ในคำวินิจฉัยมีการกล่าวถึงเรื่องราวบางเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญอาจพาดพิงถึง แต่ยังไม่เพียงพอ ต้องมีกระบวนการสืบเนื่องไปอีก คาดว่าคงต้องใช้เวลาในการไต่สวนพอสมควร

ส่วนที่มี ส.ส.และส.ว.ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตรงนี้ไม่เป็นปัญหา ต้องว่ากันตามกฎหมาย

** เพื่อไทยโต้ศาลรธน. 9 ข้อ

ที่พรรคเพื่อไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรค พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี และ ส.ส.พรรคบางส่วน ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ต่อกรณีที่ศาลรัฐธธน. วินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรธน. ประเด็นที่มา ส.ว.ขัดต่อกฎหมาย
โดยนายจารุพงศ์ แถลงว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และให้มีวุฒิสภาจำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อวันที่ 20 พ.ย.56 นั้น พรรคเพื่อไทยขอเรียนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ดังนี้

1. การที่สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส.และส.ว.จำนวน 312 คน ร่วมเสนอญัตติแก้ไขรธน.ในเรื่องดังกล่าว ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดย่อมต้องมาจากการเลือกตั้งของปวงชน ดังที่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายปฏิบัติกัน และสอดคล้องกับรธน.40 ซึ่งถือเป็นฉบับประชาชน

2. การแก้ไขรธน.นั้น มาตรา 291 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจของรัฐสภา โดยมีข้อห้ามแก้ไขอยู่ 2 ข้อ เท่านั้น คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับข้อห้ามทั้ง 2 ข้อนี้ ทั้งศาลรธน.เองก็เคยวินิจฉัยไว้ว่า “รัฐสภาจะใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรธน.เป็นรายมาตรา ก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรธน.มาตรา 291”

3. การที่ศาลรธน.รับคำร้องในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยรธน.มาตรา 68 เป็นการกระทำที่ถือได้ว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรธน. ซึ่งอยู่ในข่ายที่จะถูกร้องขอให้ถอดถอนหรือถูกดำเนินคดีอาญาได้ เพราะ มาตรา 68 เป็นกรณีเกี่ยวกับการที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้ แต่การตรากฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นการแก้ไขรธน.นั้น เป็นการที่รัฐสภากระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่รธน. มาตรา 291 บัญญัติ โดยศาลรธน. ได้วินิจฉัยรับรองไว้เอง จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรธน.จะรับไว้ได้

4. ศาลรัฐธรรมนูญอ้างหลักนิติธรรมในคำวินิจฉัยในลักษณะที่ต้องการตีความขยายความเพิ่มอำนาจให้ตนเองมากกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เช่นที่ได้เคยทำมาแล้วในคำวินิจฉัย ที่ 18-22/2555 ด้วยการอ้างว่า “ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ... ถือเป็นเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญว่าจะต้องยึดถือไว้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” คำวินิจฉัยทั้ง 2 ครั้งในปี 2555 และ 2556 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตัวแทนของปวงชนที่รับมอบอำนาจมาจากปวงชนเพื่อมาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีที่มาที่ชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรม ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราไม่อาจกระทำได้เลย เพราะถูกขัดขวางโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมา ด้วยการตีความรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตนเอง ไม่ยอมผูกพันตามตัวอักษร และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

5. การอ้างหลักนิติธรรม เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ มิได้ระบุให้ชัดเจนว่าตามหลักสากลเขาเป็นเช่นไร การขัดกันแห่งผลประโยชน์ รธน.มาตรา 265 ถึง 269 บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่า มีความหมายอย่างไร แต่ศาลรธน.ก็เพิ่มเติมขึ้นใหม่ โดยไม่ได้ดูที่องค์กรของตนเองเลยว่าได้กระทำการขัดต่อหลักที่ตนอ้างหรือไม่ เช่น ได้ตัดสินด้วยความเป็นอิสระ และเป็นกลาง เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และก่อให้เกิดความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ตามที่รธน.มาตรา 197 และ มาตรา 201 บัญญัติหรือไม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ตุลาการ 3 คน เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาก่อน และ 1 ใน 3 คน เคยถูกคัดค้านประเด็นนี้ จนต้องถอนตัวในการพิจารณาคดีในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 มาแล้ว แต่คราวนี้ไม่ถอนตัว และอีก 1 คน เคยแสดงความเห็นไว้ชัดเจนว่า การลงโทษบุคคลย้อนหลังกระทำได้ถ้าไม่ใช่การลงโทษทางอาญา อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคไทยรักไทย และลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ถูกตัดสิทธิไม่ได้มีโอกาสรับทราบข้อหาและต่อสู้ชี้แจงแต่อย่างใด ดังนั้น หากตุลาการทั้ง 3 หรือ 4 คนดังกล่าวต้องถอนตัว ผลของคำวินิจฉัยจะกลับเป็นตรงกันข้าม

6. การที่ศาลรธน. อ้างว่า ร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าว ขัดต่อมาตราต่าง ๆนั้น นับว่าเป็นอันตรายที่สุด เพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือรธน.อย่างแท้จริง และถ้าอ้างเช่นนี้ การที่มาตรา 309 ขัดต่อมาตรา 3 และมาตรา 6 จะอธิบายกันต่อไปอย่างไร เนื่องจาก มาตรา 3 กำหนดหลักนิติธรรม มาตรา 6 กำหนดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรธน. ในขณะที่ ประกาศ คำสั่งของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศ คำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่าชอบด้วยรธน. ทั้งหมด แต่กฎหมายที่ออกโดยสภา และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย อาจถูกโต้แย้งว่าขัดรธน.ได้หมด เช่นนี้เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้งที่สุด

7. การก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยของศาลรธน.ว่า มีการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เป็นการกระทำที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติโดยชัดแจ้ง ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจในมาตรา 3 และมาตรา 89 ที่บัญญัติให้ “ประธานรัฐสภา ....ดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นตามข้อบังคับ” ซึ่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 117 บัญญัติว่า “ถ้ามีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับนี้ ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะวินิจฉัย ... ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเด็ดขาด” กับข้อ 45 ที่ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด ถ้ามีการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อ 116 ยังให้อำนาจที่ประชุมรัฐสภามีมติให้งดใช้ข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ หากศาลรธน.ก้าวล่วงเช่นนี้ได้ ก็อาจมีการร้องกันว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับทั้งหลายเป็นการกระทำผิดรธน. สภาก็คงปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เลย

8. เมื่อรัฐสภาได้ลงมติในวาระที่ 3 และนายกรัฐมนตรีนำร่างรธน.ขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ จนกว่าจะพ้น 90 วัน และมิได้พระราชทานคืนมา การที่ศาลรธน. รับเรื่องและวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจ ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรธน. ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อการใช้พระราชอำนาจ และการกระทำในพระปรมาภิไธย ทั้งนี้ เพราะประการแรก ศาลรธน. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่า ร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติม ขัดต่อบทบัญญัติของรธน. เองหรือไม่ ประการที่สองเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีการตรวจสอบว่า ร่าง พ.ร.บ.ใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรธน. หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรธน. หรือไม่แล้วนั้น รธน.มาตรา 154 ให้ตรวจสอบได้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ หากมีการทูลเกล้าฯ แล้วย่อมจะอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัย ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรธน.แต่อย่างใด

9. การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ถ้ารธน. บัญญัติให้ศาลรธน. ตรวจสอบได้ก็ย่อมเป็นไปตามนั้น แต่หากไม่ได้บัญญัติไว้ ย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับวงงานหรืออำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และเป็นอำนาจของรัฐสภาโดยแท้ ดังเช่นที่รธน.ในอดีตทุกฉบับก่อนปี 2540 วางหลักไว้ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะดีหรือไม่ ถูกใจหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ย่อมจะถูกตัดสินโดยประชาชนในการเลือกตั้ง และนี่ถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ศาลจะก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจนี้แทนไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการยึดอำนาจของประชาชนไปใช้เช่นเดียวกับการรัฐประหาร

**ขู่ถอดถอนตุลาการศาลรธน.เสียงข้างมาก

หลังจากที่ นายจารุพงศ์ อ่านแถลงการณ์แล้วเสร็จ ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงแนวโน้มการถอดถอนตาการศาลรัฐธรรมนูญ โดย พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวตอบว่า เรื่องนี้เป็นมติพรรค จะเข้าชื่อเสนอเรื่องถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก แต่ยังไม่ใช่มติ ส.ส.ที่จะมีการประชุมหลังจากนี้ แต่ฟังดูแล้ว เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง แนวโน้มก็จะมีการรวมรวมรายชื่อและยื่นต่อประธานวุฒิสภาถอดถอนตุลาการ

พ.อ.อภิวันท์ กล่าวต่อว่า หากตัดเสียงของตุลาการเสียงข้างมาก ที่เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรธน. ปี 50 ออกทั้ง 3 คน ก็ทำให้เป็นเสียงข้างน้อยทันที จากมติ 5 ต่อ 4 เสียง ก็จะเหลือ 2 ต่อ 4 เสียง คำวินิจฉัยก็จะเป็นคำวินิจฉัยของเสียงข้างน้อยทันที

"อีกเรื่องหนึ่งหารือกันก็คือการแจ้งความดำเนินคดีในเรื่องละเมิดพระราชอำนาจ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็จะดำเนินการหลังจากที่มีมติ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดี๋ยวจะแจ้งในที่ประชุม ส.ส." พ.อ.อภิวันท์ ระบุ

อย่างไรก็ตามเมื่อ พ.อ.อภิวันท์ กล่าวถึงช่วงนี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวแทรกขึ้นมาว่า ขอชี้แจงว่าเรื่องของการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ต้องมีเหตุว่า จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เรื่องของการดำเนินคดีอาญา ก็มีเช่นการดำเนินคดีอาญาคตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ แต่วันนี้ที่ประชุมเห็นว่า บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากคำวินิจฉัยเช่นนี้ก็คือ ส.ส. ก็มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ส.ว. ตั้งประเด็นไว้เพียงว่า เข้าข่าย แต่จะหารือกับส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. ผู้เสียหายที่เกี่ยวข้องแล้วจะมีมติดำเนินการให้ชัดเจนต่อไป

เมื่อถามถึงความชัดเจนช่วงเวลาที่จะถอดถอน พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า หลังจากการประชุม ส.ส. จะได้ความชัดเจนมากขึ้น เมื่อที่ประชุม ส.ส.เพื่อไทยมีมติอย่างไร ก็จะไปแจ้งพรรคร่วมรัฐบาล หากเห็นตรงกันก็ดำเนินการได้เลย คิดว่าน่าจะเป็นต้นสัปดาห์หน้า

**อ้างขอคืนร่างแก้ รธน.ไม่ได้

ขณะที่ นายชูศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่ พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ขอทูลเกล้าฯขอพระราชทานคืนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญลงมาว่า ขอยืนยันว่าไม่มีกฎหมายข้อใดรองรับไว้ และขณะนี้ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย ในการลงพระปรมาภิไธยต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

อย่างไรก็ดีตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ หลังจากมีการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นไป หากพ้น 90 วันไม่ได้พระราชทานคืนมา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะมีมติยืนยันร่างเดิมหรือไม่นั้น มองว่าที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่รัฐสภาลงมติยืนยันแต่อย่างใด

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าไม่มีการขอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.ที่ทูลเกล้าฯไปแล้วกลับคืนมา เพราะกระบวนการต่างๆที่ทำมาเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว นายกฯ จะไปถอนกลับมาไม่ได้

** "ขุนค้อน"จำนน อะไรจะเกิดก็เกิด

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการที่ ป.ป.ช. รับเรื่องที่ศาลรธน. เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญว่า ตนจะเรียกประชุมฝ่ายกฎหมายรัฐสภา หากมีการชี้แจงก็จะมอบให้ฝ่ายกฎหมายไปชี้แจง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ และ ยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณา เพราะไม่มีกฎหมายใดรองรับเรื่องนี้

ส่วนจะมีการเอาผิดกับข้าราชการที่ปลอมแปลงเอกสารหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การปลอมแปลงเอกสาร แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายธุรการที่ปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำเช่น มาตรา 11/1 เปลี่ยนเป็นมาตรา12 เนื้อหายังคงเดิม ไม่ได้เขียนถ้อยคำเพิ่ม แต่ปรับปรุงให้เหมาะสม ประเด็นนี้หารือกับฝ่ายกฎหมายรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่าจะมีการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างไร นายสมศักดิ์ ตอบว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยกำลังประชุมว่า จะดำเนินการอย่างไร พรรคเพื่อไทยก็ยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้อง ตอนนี้ตนก็ยังรู้สึกมึนอยู่ว่าจะปฏิบัติอย่างไร และหากศาลรัฐธรรมนูญ อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ก็อยากให้อ่านมาตรานี้ใหม่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหรือไม่ เพราะดูแล้วไม่มีอำนาจ ถามย้ำว่าศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าคำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร แต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ยอมรับ นายสมศักดิ์ ตอบว่า ถ้าเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องจะผูกพันทุกองค์กร แต่ถ้าไม่ถูกต้อง ก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย เรื่องนี้ต้องฟังนักกฎหมายทั่วประเทศว่าเห็นอย่างไรบ้าง

**พท.เตรียมเขี่ย"สมศักดิ์"พ้นปธ.สภา

รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า ขณะนี้แกนนำ และ ส.ส.เพื่อไทยบางส่วน ได้หยิบยกประเด็นการเปลี่ยนตัว นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นมาหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากไม่พอใจการทำงานตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา รวมทั้งยังมีเรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น การจัดซื้อจัดจ้างในรัฐสภาหลายโครงการ ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย ทำให้มีแนวคิดที่จะเสนอให้นายสมศักดิ์ ลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างปัญหาด้านสุขภาพ และหาตำแหน่งใหม่ให้แทน

ทั้งนี้ สาเหตุที่กระแสกดดันให้เปลี่ยนตัวนายสมศักดิ์ ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากแกนนำพรรคเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว.ขัดต่อกฎหมาย เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นั้นได้อ้างถึงความผิดพลาดในการทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ของนายสมศักดิ์ หลายจุด ทำให้มองได้ว่า นายสมศักดิ์ เป็นจุดอ่อนสำคัญในการดำเนินแผน หรือนโยบายของพรรคผ่านรัฐสภา เพราะที่ผ่านมานายสมศักดิ์ มีความไม่ชัดเจนในการตัดสินในเรื่องสำคัญหลายครั้ง โดยเฉพาะจุดยืนในการปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่งออกมาแถลงข่าว ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังก็เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมาเท่านั้น และก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยแสดงความไม่พอใจการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ และเคยกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งมาแล้วหลายครั้ง

** คปท.ยื่นป.ป.ช.เอาผิดยิ่งลักษณ์และคณะ

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย นายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ และคณะ มายื่นคำร้องต่อป.ป.ช. ผ่านนายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริง ชี้มูลความผิด และดำเนินคดีอาญากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา 312 คน ที่ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาส.ว.

นายอุทัย กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า การกระทำมีเจตนากระทำความผิดโดยชัดแจ้ง เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและกระทำขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมถึงขัดต่อประมวลจริยธรรมในการเร่งรัดพิจารณาร่างดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้หลาบจำ และไม่ปฏิบัติตนในลักษณะร้ายแรงและทำลายระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงขอให้ ป.ป.ช.เร่งดำเนินการตรวจสอบชี้มูลความผิด และดำเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าวทันที

**40 ส.ว.ยื่นเอาผิด 312ส.ส.-ส.ว.วันนี้

นายวันชัย สอนศิริ พร้อมด้วยนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว. ร่วมกันแถลงข่าวโดยนายวันชัย กล่าวว่า วันที่ 22พ.ย.นี้ กลุ่ม 40ส.ว.จะเดินทางไปสำนักงานป.ป.ช. เพื่อยื่นเรื่องคำร้องให้ดำเนินการถอดถอน ส.ส.-ส.ว. 312 คน ที่เสนอ และเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว. ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นดังกล่าว ถือว่ามีใบเสร็จเป็นหลักฐานน่าเชื่อถือได้ว่า ส.ว.-ส.ส. 312 คน ได้กระทำความผิดแล้ว ตั้งแต่ประธานสภาฯ เลขาธิการสภาฯ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขดังกล่าว และเชื่อว่า ป.ป.ช.จะเร่งวินิจฉัยโดยเร็ว เพราะมีพยานหลักฐานจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนและผูกพันทุกองค์กร จึงต้องดำเนินคดีแบบสุดซอย และเหมาเข่งกับ ส.ส.-ส.ว. 312 คน ส่วนการดำเนินคดีทางอาญา จะดำเนินการในฐานะภาคประชาชน โดยเอาผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมทั้งการใช้เอกสารเท็จ

ด้านนายประสาร กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่การล้างแค้น หรือคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องการรักษานิติรัฐ นิติธรรม และต้องการให้เกิดความสำนึก และรับผิดชอบของรัฐบาล ซึ่งจากคำวินิจฉัยดังกล่าว มีผลถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีก 2 ฉบับ คือ มาตรา 190 และ มาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 ที่อยู่ในกระบวนการเดียวกัน และอยู่ในข่ายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว

**ถอด"ปธ.วุฒิ-ปธ.สภา-สมาชิก312"ไม่ยาก

วานนี้(21พ.ย). ที่หอประชุม เอสบีซี ฮอลล์ วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก บางนา นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรธน. ได้บรรยายพิเศษเรื่อง "ระบบยุติธรรมกับทางรอดของประเทศไทย" โดยกล่าวตอนหนึ่ง ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า คำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ถึงวันนี้ก็ยังคงมีคนพูดอยู่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องนี้ ต้องผ่านอัยการ พูดเป็นแผ่นเสียงตกร่อง รวมถึงมีการพูดว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับ เพราะผู้ถูกร้องไม่ใช่บุคคล หรือพรรคการเมืองตามความหมายของ มาตรา 68 แท้จริงมาตราดังกล่าว อยู่ในส่วนของสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพของอัยการรสูงสุด ดังนั้นจึงต้องแปลความให้ประชาชนยื่นตรงต่อศาลหรืออัยการ เพื่อเป็นการขยายการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนให้กว้างขว้าง อีกทั้งที่โต้แย้งสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่ผู้ที่ถูกร้องตามมาตรา 68 สมาชิกรัฐสภาไม่ใช่บุคคลหรือ

"คำวินิจฉัยของศาลรธน.ยังมีคนส่งสัยว่า ทำไมศาลไม่สั่งให้เลิกการกระทำ ตัดสินค้างลอยไปอย่างนั้น อยากบอกว่า จะให้เลิกการกระทำอะไร ในเมื่อวันนี้การแก้ไขรธน. เกี่ยวกับที่มาของส.ว. เสร็จสิ้นกระบวนการไปแล้ว และร่างกฎหมายอยู่ในชั้นของการทูลเกล้าฯ จึงไม่เป็นเหตุผลที่ศาลสั่งให้เลิกการกระทำได้ และ เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ แนวทางขณะนี้ที่มีอยู่ คือนายกฯ ต้องไปขอพระราชทานอนุญาตนำร่างกลับคืน หรือทิ้งไว้ และรอให้สำนักราชเลขาฯ ส่งกลับคืน ซึ่งผมเดาใจว่า สำนักราชเลขาฯ คงไม่ยอมทิ้งไว้เฉยๆ คงต้องส่งกลับมา"

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ถือว่าขณะนี้ร่างดังกล่าวไปต่อไม่ได้แล้ว และรัฐสภาไม่สามารถที่จะดึงดันโดยใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 151 เพราะไม่ใช่กรณีที่พระมหากษัตริย์ มีพระบรมราชวินิจฉัยที่จะไม่ลงพระปรมาภิไธย เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าว อยู่ในชั้นการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของสำนักราชเลขาฯ เท่านั้น ส่วนเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยแล้ว การดำเนินการเอาผิดกับผู้ถูกร้องรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่า เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนุญ แต่เป็นของ ป.ป.ช. ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะคำวินิจฉัยของศาลรธน. ผูกพันทุกองค์กร

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย เตรียมเดินหน้าโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไขรธน. มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรธน. ทั้งฉบับ ตนก็เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรธน. ปีที่แล้ว ที่ให้ยกคำร้อง มีผลทำให้คำขอต่างๆตกไป ดังนั้นรัฐสภาก็สามารถผลักดันร่างดังกล่าวได้ เพราะคำว่า ควรจะทำประชามติ หรือแก้ไขรายมาตรา เป็นเพียงคำแนะนำ แต่ทั้งนี้หากการแก้ไขรธน. มีเนื้อหาสาระขัดรธน. ก็มีสิทธิที่จะถูกร้องต่อศาลรธน.ได้อีก

** รัฐบาลปูเดินตามรอยฮิตเลอร์

นายวสันต์ ยังย้อนถามสมาชิกรัฐสภา ที่การประกาศไม่รับอำนาจศาลรธน. ว่า หากศาลประกาศบ้างว่า ไม่ยอมรับอำนาจในการออกกฎหมายของสภาบ้าง หรือประชาชนประกาศว่า ไม่ยอมรับกับอำนาจของตำรวจที่มาจับ และให้ใบสั่ง ทำได้หรือไม่ ประเทศจะไปสู่ความยุ่งยากขนาดไหน ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ ตนไม่ได้มองว่า เป็นเพราะรธนง มีปัญหา และการแก้ไขรธนง จะลดปัญหาความขัดแย้งได้ เพราะถ้าเรามีรธน.ไม่ดี แต่คนดี ไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย บ้านเมืองก็ไปได้ เวลานี้จึงไม่เห็นว่าประเทศจะมีทางออกตรงไหน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีการลดราวาศอก มีแต่จะเอาชนะกัน อย่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน รัฐบาลก็ใช้เสียงข้างมากลากไป จนผ่านการพิจารณา เสร็จตอนตี 2 กว่า พอตอนตี 3 พรรคประชาธิปัตย ก็ยื่นประธานสภา ให้ส่งศาลรธนง ตีความ

"วันนี้เราไม่ยอมลดลาวาศอก จนเหมือนเราอยู่ในสังคมที่เป็นศัตรูกันตลอด ความจริงผมไม่เห็นด้วยกับการขนม็อบมาต่อต้านรัฐบาล แต่ควรจะเป็นว่า ถ้าเห็นว่ารัฐบาลอยู่ 4 ปี ทำบ้านเมืองฉิบหาย เลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ไม่ต้องไปเลือก หรืออย่างคนที่ปฎิเสธอำนาจศาล ใครที่ไม่เห็นด้วย เลือกตั้งคราวหน้าก็ไม่ต้องไปเลือกคนเหล่านี้ที่ไม่ยึดกฎกติกา วันนี้ทหารไม่ได้มีความอดทนน้อยเหมือนเมื่อก่อน ที่นิดหน่อยก็ลากรถถังออกมา คนที่เป็นหัวหน้าปฏิวัติ ปี 49 เป็นอย่างไร สุดท้ายก็กลับมาเป็นลูกน้องเขาเสียอีก ทำให้นึกถึงคำพูดของขงจื้อ "เก่งอย่างไรก็สู้คนหน้าด้านไม่ไหว"

อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวอีกว่า วันนี้ก้าวย่างของรัฐบาล ไม่ต่างจากก้าวย่างของฮิตเลอร์ ที่ทำให้รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และควรตรวจสอบฝ่ายบริหาร กลับกลายเป็นลูกน้องของฝ่ายบริหาร ดังนั้นถ้าแก้ปัญหา ฝ่ายเสียงข้างมาก จะต้องเป็นฝ่ายที่รับฟังความเห็นที่แตกจ่างจากเสียงข้างน้อย นักการเมืองต้องมีจิตสำนึก ประชาชนก็ต้องเลือกคนที่ดี ไม่เลือกคนชั่ว เพราะถ้าได้ผู้แทนที่ไม่ดี ก็จะเหมือนกับคนที่เลือกเป็นคนไม่ดีไปเป็นด้วย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการศึกษา ทุกวันนี้คนคิดถึงประชาธิปไตย ที่พูดแต่เสียงข้างมาก จะทำอะไรก็ได้ จะระยำตำบอนที่ไหนก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่ในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเสียงข้างมาก หรือเสียงน้อย ทุกคนต้องมีวินัยต้องรักษากฎกติกาบ้านเมือง ทั้งนี้เราต้องฝึกกันใหม่ในเรื่องการมีวินัยอย่างเคร่งครัด โดยฝึกกันตั้งแต่เด็ก

**"มีชัย" แจงถูกบิดเบือนถ้อยคำในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ออกเอกสารชี้แจงว่า ตามที่มีผู้นำคำตอบของผมใน meechaithailand.com ไปเผยแพร่ในโซเชี่ยลมีเดีย อย่างแพร่หลายทั่วไป มีใจความตอนหนึ่งที่มีการเผยแพร่ว่า “ถ้ารัฐบาลและรัฐสภาไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ คนไทยก็มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะไม่ยอมรับรัฐบาลไทย!!” แต่ข้อความดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ถ้อยคำของผม

นายมีชัย ระบุในเอกสาร ว่า เนื้อหาที่เป็นของผมคือกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอิสระในการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ทำนองเดียวกับฝ่ายนิติบัญญัติ หรือรัฐสภา ก็เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอิสระในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เรียกว่าหน้าที่ใครหน้าที่ของคนนั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ก็จะผูกพันทุกองค์กรที่จะต้องปฏิบัติตาม ถ้าองค์กรหนึ่งปฏิเสธอำนาจของอีกองค์กรหนึ่งได้ ต่อไปก็จะกระทบกันเป็นลูกโซ่ บ้านเมืองไม่มีขื่อแป ลองคิดดูว่า ถ้าศาลไม่เห็นด้วยกับฝ่ายนิติบัญญัติ พอออกกฎหมายใดมา ก็ไม่ยอมตัดสินคดีตามกฎหมายนั้น ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายใด ก็ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ตำรวจไม่ยอมบังคับการตามกฎหมาย อัยการไม่ยอมฟ้องตามกฎหมาย พอศาลตัดสินคดีแล้ว กรมราชทัณฑ์ไม่ยอมเอาตัวไปลงโทษตามคำตัดสิน หรือกรมบังคับคดีไม่ยอมบังคับตามคำพิพากษา คนแพ้คดีแล้วไม่ยอม ยกพวกมาล้อมบ้านโจทก์หรือขู่เข็ญว่าจะทำร้ายโจทก์ ตำรวจเห็นก็เฉยเสีย บ้านเมืองจะเหลืออะไร

นายมีชัย กล่าวต่อว่า ถ้อยคำในเครื่องหมายคำพูด เป็นคำที่ผู้นำไปเผยแพร่ใส่เพิ่มเติมเองโดยพลการ และเมื่อเผยแพร่กันต่อๆ ไป ก็กลายเป็นเผยแพร่เฉพาะข้อความที่กล่าวถึง และใส่ชื่อผมต่อท้าย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบทั่วกัน

**“เทือก”จวก “แม้ว”ใฝ่สูงอยากเป็นปธน.

เมื่อเวลา 20.15 น. วานนี้ ที่เวทีราชดำเนิน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยกรณี ที่เสื้อแดงสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 พ.ย. เพราะ ส.ส.ในพรรคอมเงิน เสื้อแดงเลยมาน้อย ประกาศรวมพลคนเสื้อแดงมาเป็นแสน แต่ปรากฏระดมเต็มที่ได้ 2 หมื่น และอยู่ได้แค่ 3 ทุ่ม เวลาไม่ถูกใจหรือขัดใจก็ปลุกปั่นคนมาชุมนุมมาป่วนเมือง ดังนั้นจึงต้องขจัดออกไป เพราะคนเหล่านี้อยู่ต่อไปก็เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน

“ทักษิณไม่ใช่คนดี คนปกติ แต่เป็นคนวิปริต มักใหญ่ใฝ่สูง เชื่อในอำนาจเงินซื้อได้ทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิต เริ่มต้นจากซื้อส.ส.เข้าคอก ซื้อทีละตัวไม่ทันใจ ก็ซื้อยกคอก ซื้อเสียงประชาชน ข้าราชการ โกงเสียงเลือกตั้ง จนได้เป็นรัฐบาลด้วยเงิน จากนั้นก็ใช้อำนาจหน้าที่ทุจริตถอนทุน และเก็บกำไรเข้ากระเป๋าเพื่อเตรียมเป็นรัฐบาลรอบต่อไปอีกด้วย เท่านั้นไม่พอยังใช้เงินภาษีประชาชนซื้อประชาชนผ่านโครงการประชานิยมซึ่งทำให้ติดงอมแงมกันหมด ทักษิณคิดเป็นประธานาธิบดี มีหลักฐานชัดเจน คือเวลาไปไหนมีธงชาติพร้อมเขียนข้อความ “ทรงพระเจริญ” โบก ที่เวทีเสื้อแดงก็ขึ้นป้ายประธานาธิบดีทักษิณ นอกจากนี้ก็ยังจะสร้างรัฐไทยใหม่ ซึ่งไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เป็นการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นประธานาธิบดี” นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ระบอบทักษิณ เป็นภัยร้ายแรง เขาไม่ใช่นักประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการ และต้องการให้คนไทยอยู่ภายใต้อุ้มมืออุ้มเท้าของเขา เราเสียหายมามากดังนั้นขอให้จงพร้อมใจกันร่วมกันขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นในแผ่นดินไทย และโลกต้องจารึกไว้ว่าคนดีลุกขึ้นขจัดระบอบเผด็จการคือระบอบทักษิณ
กำลังโหลดความคิดเห็น