xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 17-23 พ.ย.2556

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ศาล รธน. มีมติ 5 : 4 แก้ที่มา ส.ว. ไม่ชอบ ผิดทั้งเนื้อหา-กระบวนการ ขัด ม.68 เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครอง ปท. แต่ไม่เข้าเงื่อนไขยุบพรรค!
บรรยากาศขณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. (20 พ.ย.)
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.หลายกลุ่ม เช่น พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะ ,นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ,นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา กับพวกรวม 312 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลเริ่มด้วยการวินิจฉัยว่า ศาลมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจ เพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ สังเกตได้จากมาตรา 216 วรรค 5 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ เมื่อพิจารณาแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า คดีนี้ ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้

ทั้งนี้ ศาลฯ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ 1.กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.เป็นกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวีธีการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และ 2.การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนิ้หรือไม่

ซึ่งคำวินิจฉัย สรุปได้ว่า กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีการใช้ร่างคนละฉบับ โดยร่างที่มีการเสนอให้รัฐสภาพิจารณารับหลักการในวาระ 1 เป็นคนละร่างกับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งร่างที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณา มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการที่สำคัญหลายประการ คือมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 196 วรรค 2 และมาตรา 241 วรรค 1 ซึ่งการแก้ไขมาตรา 196 จะมีผลให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว. และสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สามารถสมัครเป็น ส.ว.ได้อีก โดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี ซึ่งการแก้ไขมาตราเหล่านั้นในร่างดังกล่าว มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง เพราะไม่แจ้งให้สมาชิกรัฐสภารับทราบทุกคน การเสนอร่างแก้ไขดังกล่าวที่รัฐสภารับหลักการจึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรค 1

นอกจากนี้ ศาลยังเห็นว่า การนับระยะเวลาในการแปรญัตติไม่ถูกต้อง ไม่ครบ 15 วันตามมติที่ประชุมสภาฯ โดยการประชุมเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2556 ซึ่งเป็นวันที่สภาฯ รับหลักการ แต่ยังไม่ได้ลงมติว่าจะแปรญัตติกี่วัน เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ประธานรัฐสภาจึงนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งมีการลงมติให้แปรญัตติ 15 วัน แต่ประธานรัฐสภาสรุปให้นับวันแปรญัตติย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ไม่ใช่ 18 เม.ย. ทำให้ระยะเวลาการแปรญัตติเหลือเพียง 1 วัน ไม่ครบ 15 วันตามมติที่ประชุม ซึ่งศาลฯ เห็นว่าการนับเวลาย้อนหลังเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรค 1 และวรรค 2 รวมทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 ด้วย การกำหนดวันแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 120 วรรค 1

ส่วนการแสดงตนและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ศาลก็ชี้ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นกัน เนื่องจากมีพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล ภาพถ่ายและวิดีทัศน์ ว่ามีการใช้บัตรลงคะแนนแทนกันหลายใบ ซึ่งคนที่กระทำการดังกล่าวคือ นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ ศาลชี้ว่า การใช้บัตรลงคะแนนแทนกัน นอกจากเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 แล้ว ยังขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาปฏิญาณตนไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 และขัดต่อการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 วรรค 3 ที่ให้สมาชิก 1 คนมีเสียง 1 เสียงในการออกเสียงลงคะแนน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริตและไม่ชอบ

สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้บุคคลใดได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ร่างขึ้นโดยมีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นแม่แบบ โดยได้แก้ไขเรื่องคุณสมบัติของ ส.ว.ฉบับเดิมไว้หลายประการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 โดยกำหนดให้มี ส.ว.สรรหาร่วมกับ ส.ว.เลือกตั้งในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้โอกาสประชาชนทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ ส.ว.ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทั้งยังได้กำหนดคุณสมบัติของ ส.ว.ให้อิสระจากการเมือง และ ส.ส. เช่น ห้ามบุพการี คู่สมรส บุตรของ ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาเป็น ส.ว. และห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหรือตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2550 ยังกำหนดให้วุฒิสภาเป็นองค์กรตรวจทาน กลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร และถ่วงดุลอำนาจ ส.ส. โดยให้อำนาจ ส.ว.ในการตรวจสอบถอดถอน ส.ส.ได้ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อทุจริตต่อหน้าที่ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.โดยให้มีแต่ ส.ว.เลือกตั้ง และเปิดช่องให้บุพการี คู่สมรส และบุตรของ ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร ส.ว.ได้ และนักการเมืองไม่ต้องเว้นวรรค 5 ปีก็ลงสมัครได้ ศาลจึงเห็นว่า “เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เป็นจุดบกหร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญสิ้นศรัทธา และสามัคคีของมวลหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะและศักยภาพการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกัน ทำลายสาระสำคัญของการมี 2 สภา นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐ ตัดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลายสาขา หลายอาชีพ เป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้กลับมีโอกาสได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงแสดงประชามติของมหาชนชาวไทย”

นอกจากนี้ ศาลยังระบุด้วยว่า เนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาตรา 11 และมาตรา 11/1 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญในแง่กระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ที่จะบัญญัติใหม่ด้วย โดยมีการรวบรัดให้มีการประกาศใช้กฎหมายฯ ดังกล่าวโดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 ที่จะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งขัดกับการถ่วงดุลและคานอำนาจ อันเป็นหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ โดยอาศัยเสียงข้างมาก

ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการพิจารณาและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ,125 วรรค 1 และวรรค 2 ,มาตรา 126 วรรค 3 ,มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2 และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีเนื้อความสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกร้องในคดีนี้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1 ส่วนที่ผู้ร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเหล่านั้น ศาลเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 วรรค 3 และวรรค 4 จึงยกคำร้องในส่วนนี้

2.พท. เหิม ประกาศไม่รับอำนาจศาล รธน.พร้อมเตรียมแจ้งจับตุลาการ ด้าน ปชป. ซัด “กบฏ” เล็งยื่นถอดถอน 312 ส.ส.-ส.ว.พ่วงคดีอาญา!
(บน) กลุ่ม คปท. ยื่น ป.ป.ช.ฟัน ยิ่งลักษณ์-สมศักดิ์-นิคม-312 ส.ส.-ส.ว.หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ รธน.ที่มา ส.ว.ไม่ชอบ (ล่าง) ส.ส.พรรคเพื่อไทย แถลงไม่รับอำนาจและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (21 พ.ย.)
หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่ไม่เข้าเงื่อนไขยุบพรรค ปรากฏว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย(พท.) และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ออกมาต่อต้านและไม่ยอมรับคำวินิจฉัย โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ 9 ข้อไม่ยอมรับอำนาจและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น อ้างว่าสมาชิกรัฐสภา 312 คนมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหลักประชาธิปไตย ,กล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ ,กล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญอ้างหลักนิติธรรมในการวินิจฉัยเพื่อขยายอำนาจให้ตนเองมากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด,กล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ และกล่าวหาว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.เป็นการกระทำที่กระเทือนพระราชอำนาจ เพราะนายกฯ ได้ทูลเกล้าฯ ร่างฯ ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ ฯลฯ

ส.ส.พรรคเพื่อไทยยังขู่จะฟ้องร้องดำเนินคดี 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียง ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะแถลงไม่ยอมรับอำนาจและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีแนวคิดจะเสนอให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อล้มรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ และตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย หลังศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับทำไม่ได้ หากจะทำต้องทำประชามติก่อน

ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ยังคงยืนยันเช่นกันว่า การดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ พร้อมย้ำว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอนแรกไม่ยอมตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่ง 2 วันผ่านไป เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.เรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบกรณีนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็อ้างว่า ได้ทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ และว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องใหม่ คงต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาและฝ่ายกฎหมายศึกษาก่อน

ส่วนท่าทีของ ส.ว.ที่ร่วมเสนอและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.นั้น นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา บอกว่า ส.ว.จะประชุมกันวันที่ 25 พ.ย.นี้ ส่วนผลจะออกมาแนวทางเดียวกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่ส่วนตัวแล้วมองว่า เมื่อลงเรือลำเดียวกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ต้องทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ขณะที่หลายภาคส่วนในสังคมต่างรุมประณาม ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเดินหน้ายื่นถอดถอนและฟ้องคดีอาญา 312 ส.ส.-ส.ว.ซึ่งรวมถึงนายกฯ -ประธานรัฐสภา-ประธานวุฒิสภาด้วย โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยหลังประชุม ส.ส.พรรคว่า พรรคขอประณามการที่พรรคเพื่อไทยไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการทำลายหลักนิติธรรม และว่า พรรคจะยื่นถอดถอนบุคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดครั้งนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในสัปดาห์หน้า ส่วนคดีอาญาจะฟ้องผู้ที่มีส่วนในการปลอมแปลงเอกสารหรือใช้เอกสารปลอมในการสับเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. และบรรดาผู้เสนอร่างฯ ดังกล่าวทั้ง 312 คน รวมทั้งดำเนินคดีอาญานายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่กดบัตรแทนกันด้วย

นายอภิสิทธิ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.หมดสภาพไปแล้ว หากนายกฯ ซึ่งเป็นผู้นำร่างฯ ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ยังเพิกเฉยและไม่กราบบังคมทูลถวายรายงานข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แสดงว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ประกาศออกมาเลย ประชาชนจะได้ดำเนินการกับนายกฯ ได้ถูก พร้อมย้ำว่า นายกฯ จะหนีความรับผิดชอบไม่ได้

ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะทีมกฎหมายของพรรคฯ ชี้ว่า การที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นกบฏ เพราะประเทศไทยออกแบบให้รัฐธรรมนูญสูงสุดเหนือรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล เมื่อสูงสุดก็ต้องมีคนตรวจสอบ การออกแบบจึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ด้านนายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริง ชี้มูลความผิดและดำเนินคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ,ประธานรัฐสภา ,ประธานวุฒิสภา และ ส.ส.-ส.ว.ทั้ง 312 คนแล้ว นอกจากนี้ยังมี ส.ส.และ ส.ว.บางส่วนยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ดำเนินคดีอาญาและถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งรวม 5 คำร้อง ป.ป.ช.จึงแถลงรวม 5 คำร้องเข้าด้วยกัน พร้อมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้

ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.เผยว่า รัฐธรรมนูญระบุชัดเจนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนโดยเร็วแม้ไม่ได้ระบุว่ากี่วัน แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าอย่าช้า แต่ ป.ป.ช.จะไม่ทำแบบฉุกละหุก รีบร้อนไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกกล่าวหาว่า ป.ป.ช.ลักหลับ คงไม่ดี ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาวันใด ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีจนกว่าวุฒิสภาจะมีมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรค 4

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังฝ่ายต่างๆ ยื่นเรื่องถอดถอน 312 ส.ส.-ส.ว.ต่อ ป.ป.ช. ปรากฏว่า ทนายความกลุ่ม นปช.นายคารม พลพรกลาง รีบเข้ายื่นหนังสือคัดค้านทันที โดยอ้างว่า ป.ป.ช.ไม่มีสิทธิไต่สวนเรื่องดังกล่าว เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่ พร้อมขู่ หาก ป.ป.ช.ยังเดินหน้าไต่สวน อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และว่า สัปดาห์หน้าจะไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการวินิจฉัยของศาลฯ ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ

ด้านกลุ่มนิติราษฎร์ นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยเคลื่อนไหวให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกี่ยวกับคดีหมิ่นสถาบัน ก็ได้ออกมาปกป้อง 312 ส.ส.-ส.ว. ด้วยการเปิดแถลงโจมตีศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่มีอำนาจที่จะบอกให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ตกไป พร้อมอ้างว่า ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธย หากพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็สามารถนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ทันที แต่หากไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ถือว่าทรงใช้อำนาจวีโต้ สภาฯ ก็ต้องมาปรึกษากันอีกครั้ง ถ้าสภาฯ ยืนยันด้วยคะแนน 2 ใน 3 ก็ทูลเกล้าฯ ได้อีกครั้ง หากพ้น 60 วัน พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็สามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ได้ทันที

3.วุฒิฯ เสียงข้างมากผ่านวาระ 3 พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านแล้ว ด้าน ปชป. ยื่นศาลฯ วินิจฉัยขัด รธน.หรือไม่ แฉคลิปฉาวเสียบบัตรแทนกันอีก!

 (ซ้าย) นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ปชป.แฉ มีการล็อบบี้ ส.ว.ให้ผ่าน พ.ร.บ.กู้เงินตามร่างของ ส.ส.ด้วยเงินคนละ 30 ล้าน (ขวา) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ปธ.วิปฝ่ายค้าน เผย ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.บ.กู้เงินแล้ว
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ได้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และ 3 โดยก่อนหน้าจะถึงวันประชุม นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ออกมาแฉว่า มีการล็อบบี้ ส.ว.ให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ ตามร่างเดิมที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยแลกกับเงินคนละ 30 ล้านบาท

ขณะที่นายธวัช บวรวนิชยกูร ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เผยว่า ร่างของ กมธ.มีการแก้ไข 2 มาตรา คือมาตรา 3 มีการเพิ่มคำว่า “โครงการ” เข้าไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า จะไม่มีการเปลี่ยนหรือนำโครงการอื่นๆ เข้ามาใส่เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งจะเป็นหลักประกันได้ว่าโครงการจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามเนื้อหาของโครงการจริงๆ ขณะที่ร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีคำว่า “โครงการ” ส่วนมาตรา 6 ร่างเดิมของสภาฯ ระบุว่าการจัดสรรเงินกู้ไม่ต้องส่งคลัง แต่ กมธ.ให้ตัดคำว่า “ไม่” ทิ้ง หมายความว่า ต้องส่งคลัง ซึ่งจะทำให้การใช้เงินในทุกๆ โครงการต้องผ่านกระบวนการของงบประมาณ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุที่การพิจารณาในชั้น กมธ.สามารถแก้ไข 2 มาตราดังกล่าวได้สำเร็จ เนื่องจากในการประชุม กมธ.สายรัฐบาลเข้าร่วมประชุมน้อย ทำให้กลายเป็น กมธ.เสียงข้างน้อยในที่ประชุมที่ต้องการให้คงร่างเดิมของสภาฯ โดยไม่ต้องแก้ไข 2 มาตราดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ปรากฏว่า ที่ประชุมวุฒิสภาเสียงข้างมากกลับเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างน้อยที่ต้องการให้ใช้ร่างเดิมของสภาฯ โดยไม่ต้องแก้ไขมาตรา 3 และ 6 ดังกล่าว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับ กมธ.เสียงข้างน้อยให้ตัดคำว่า “โครงการ” ออกจากมาตรา 3 ด้วยคะแนน 63 ต่อ 52 งดออกเสียง 1 ขณะที่มาตรา 6 ที่ประชุมเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการให้เงินกู้เป็นเงินที่ต้องส่งเข้าคลัง ด้วยคะแนน 68 ต่อ 44 ส่งผลให้ต้องกลับไปใช้ร่างเดิมของสภาฯ

ทั้งนี้ หลังใช้เวลาอภิปราย 2 วัน(18-19 พ.ย.) ปรากฏว่า ช่วงดึกของคืนวันที่ 19 พ.ย. การพิจารณาและลงมติมาตราต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว กระทั่งล่วงเข้าวันใหม่ 20 พ.ย. เมื่อการพิจารณาดำเนินไปจนถึงเวลา 02.49น.ที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 ทันที โดยที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนน 63 ต่อ 14

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) เผยว่า ฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 แล้วว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งนายกฯ ต้องระงับการทูลเกล้าฯ ร่างดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ มีรายงานว่า คำร้องที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า พ.ร.บ.กู้เงินนี้เป็นการกู้เงินนอกระบบงบประมาณที่ใหญ่ที่สุด คือมากกว่า 4 เท่าของประเทศไทยที่เคยกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และต้องเสียดอกเบี้ยมหาศาลถึง 3 ล้านล้านบาท ในเวลา 50 ปีอนาคต ซึ่งตอกย้ำว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ไม่ได้ทำตามกรอบวินัยการเงินการคลัง นอกจากนี้ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการต่างๆ ว่าจะใช้จ่ายเท่าไหร่ กลับเป็นเพียงกรอบการลงทุนพื้นฐานที่ไร้ความชัดเจน และที่สำคัญ ฝ่ายค้านมีพยานหลักฐานด้วยว่า ระหว่างการลงมติร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันอีกแล้ว

4.แกนนำต้านระบอบทักษิณทุกกลุ่ม ผนึกกำลังล้างระบอบทักษิณ-ปฏิรูปประเทศ เชื่อ โลกจารึก 24 พ.ย. เตรียมดาวกระจาย 25 พ.ย.!

แกนนำกลุ่มต้านทักษิณทุกกลุุ่ม ขึ้นเวทีราชดำเนิน ประกาศเจตนารมณ์ผนึกกำลังขจัดระบอบทักษิณ และปฏิรูปประเทศให้เป็นของประชาชน (23 พ.ย.)
ความคืบหน้าการชุมนุมบนถนนราชดำเนิน หลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุม ประกาศยกระดับการต่อสู้เป็นการขจัดระบอบทักษิณแบบถอนรากถอนโคนให้หมดไปจากแผ่นดินไทย โดย 1 ในมาตรการที่จะดำเนินการคือ ยื่นถอดถอน ส.ส.310 คน ที่เสนอและลงมติกฎหมายล้างผิดคนโกง โดยเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อถอดถอนตั้งแต่วันที่ 16-19 พ.ย. จากนั้นนายสุเทพ พร้อมด้วย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำรายชื่อประชาชนที่รวบรวมได้ 115,500 รายชื่อ ซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องจำนวน 77 กล่อง ไปยื่นต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อถอดถอน 310 ส.ส.แล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ซึ่งนายนิคม บอกว่า รายชื่อจำนวนมาก คงต้องใช้เวลาตรวจสอบเป็นเดือน เพราะเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้เพียงวันละ 5 พันคนเท่านั้น และว่า เมื่อตรวจสอบเสร็จก็ต้องนำส่งให้สำนักทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบรายชื่ออีกครั้งว่าเป็นผู้มีสิทธิหรือไม่ จากนั้นจึงจะส่งต่อไปยัง ป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบและตั้งข้อกล่าวหาต่อไป

ทั้งนี้ นายสุเทพ ได้ปราศรัยบนเวทีราชดำเนินโดยตั้งเป้าว่า วันที่ 24 พ.ย.จะมีคนมาร่วมชุมนุมนับล้านคนเพื่อล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดจากแผ่นดินไทย “ต้นเหตุทั้งหลายเกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่าเงินซื้อได้แม้กระทั่งชีวิตคน เริ่มต้นซื้อ ส.ส. ประชาชน และข้าราชการให้โกงการเลือกตั้ง จนกระทั่งได้เสียงข้างมากมาจัดตั้งรัฐบาลด้วยเงิน พอได้เป็นรัฐบาลก็เริ่มทุจริต ฉ้อโกง และนำเงินภาษีของประชาชนไปซื้อเสียงผ่านโครงการประชานิยมทั้งหลาย” นายสุเทพ ยังประกาศด้วยว่า การต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและโลกจะต้องจารึกไว้ พร้อมแย้มว่า เช้าวันที่ 25 พ.ย. จะร่วมกับผู้ชุมนุมเดินออกไปในพื้นที่ 12 แห่ง แต่ยังไม่บอกว่าไปไหนบ้าง แต่จะเดินอย่างอารยะ สงบ อหิงสา ไม่มีความรุนแรงเด็ดขาด

ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ที่ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ได้ยกระดับการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พ.ย.โดยเคลื่อนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือจี้นายกฯ และ ครม.หยุดบริหารบ้านเมือง เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสร้างแต่ปัญหา จากนั้นผู้ชุมนุมได้เคลื่อนไปยังพรรคเพื่อไทย ก่อนนำป้ายผ้าขนาดใหญ่ปิดทับชื่อพรรค โดยมีข้อความโจมตีรัฐบาล-ประธานรัฐสภา-ประธานวุฒิสภา และ 312 ส.ส.-ส.ว.ที่แก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ไม่ชอบ จากนั้นผู้ชุมนุมได้เคลื่อนไปปักหลักชุมนุมบริเวณแยกนางเลิ้ง จนถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ถนนพิษณุโลก ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) ได้ย้ายจุดชุมนุมจากบริเวณสะพานผ่านฟ้าไปอยู่บริเวณสะพานมัฆวานฯ แทน คาดว่าเพื่อเปิดพื้นที่รองรับประชาชนที่จะมาร่วมชุมนุมในวันที่ 24 พ.ย.

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นายสุเทพและแกนนำผู้ชุมนุมทุกกลุ่มได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าจะผนึกกำลังกันขับไล่ระบอบทักษิณออกจากแผ่นดินไทย จะร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นของประชาชน และสัญญาว่าจะร่วมสู้กับพี่น้องจนกว่าจะชนะ จะเปลี่ยนจากระบอบทักษิณ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข อย่างสมบูรณ์แบบ

ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดง หลังจากได้นัดชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถานเมื่อวันที่ 20 พ.ย.เพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนสลายตัวไปในคืนวันเดียวกัน ปรากฏว่า ล่าสุด(23 พ.ย.) แกนนำ นปช.นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้ประกาศระดมมวลชนให้มาชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 24 พ.ย.เช่นกัน ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยอ้างว่าที่ต้องชุมนุม เพราะรัฐบาลถูกประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ และว่า เบื้องต้นจะปักหลักชุมนุมโดยไม่มีกำหนด เพื่อรอดูท่าทีของผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินด้วย พร้อมยืนยัน จะชุมนุมในที่ตั้ง สงบ สันติ ไม่นำมวลชนไปชนม็อบราชดำเนินแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น