xs
xsm
sm
md
lg

ตีแผ่ระบอบทักษิณชั่วร้ายกว่าเผด็จการ “ถนอม-ประภาส”!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

24 พ.ย.ชี้ชะตาประเทศไทย! คนเดือนตุลา - อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง ตีแผ่ ระบอบทักษิณเลวร้ายกว่าเผด็จการทหาร ‘ถนอม-ประภาส’ โกงกินกันถ้วนทั่ว ทุนสามานย์ไร้รัฐ ไร้อธิปไตย มุ่งแค่ผลประโยชน์ตัวและพวกพ้อง สร้างภาพมายาเป็นนักประชาธิปไตยที่ถูก ‘รังแก’ ใช้เงินซื้อ ‘อำนาจ-ฟาดหัว’ แนะคนไทยต้องช่วยกันทวงคืนอำนาจ เร่งปลุกภาคประชาชนตื่นรู้เท่าทันนักการเมืองเลว ขณะที่ ‘ยุคศรีอารยะ’ ชี้ทางออกสุดท้ายคือปฏิรูปการเมือง

พัฒนาการที่ต่อเนื่องของการชุมนุมภาคประชาชนที่บริเวณถนนราชดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่บริเวณเชิงสะพานมัฆวาน ก้าวเข้าสู่การขับไล่ระบอบทักษิณหมายรวมถึงเครือญาติและบริวารที่อยู่ภายใต้อาณัติของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศ

ทั้งนี้เพราะระบอบทักษิณขยายอำนาจไปทุกทิศทุกทาง ที่สำคัญอำนาจรัฐตกอยู่ในกำมือของกลุ่มคนมีเงินและกลุ่มก็ใช้เงินเป็นปัจจัยในการเข้าสู่อำนาจรัฐและใช้อำนาจนั้นในการหาผลประโยชน์ โดยนำมาบวกกับการสร้างรัฐตำรวจเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการกับสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อแนวทางในการบริหารงานของรัฐบาลทักษิณและเครือญาติ รวมถึงมีกองกำลังภาคประชาชนอย่างกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่ใช้กดดัน ข่มขู่ แสดงพลัง รวมถึงขั้นใช้สำหรับการปะทะ

อีกทั้งวิธีการที่ทักษิณใช้ในการบริหารประเทศนั้น กลายเป็นวงจรอุบาทว์กัดกินประเทศไทย แต่สิ่งที่ทักษิณได้ก็คือไม่ว่าจะเลือกตั้งสักกี่ครั้งพวกเขาก็จะกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้อีก จนกลายเป็นเรื่องของเสียงข้างมากลากไป และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของสมาชิกวุฒิสภาเป็นโฆฆะ เมื่อ 20 พฤศจิกายนที่ผ่ามา ก็ทำให้สังคมเข้าใจแล้วว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองในระบอบทักษิณ ชัดเจน

ดังนั้น คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเท่ากับเป็นการตอกย้ำให้สังคมเห็นถึงความน่าสะพรึงกลัวของระบอบทักษิณและเป็นตัวจุดชนวนให้คนหลั่งไหลเข้าร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ซึ่งในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นวันชี้ชะตาประเทศไทยว่าจะหลุดพ้นระบอบทักษิณได้หรือไม่?

ขณะเดียวกันมีการตั้งคำถามว่า ระบอบทักษิณ กับเผด็จการทหาร “ถนอม-ประภาส” จนนำไปสู่การชุมนุมขับไล่และเกิดเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2516 นั้นระบอบไหนเลวร้าย ชั่วร้าย และทำลายชาติมากกว่ากัน

ทีม special scoop ได้รับการอธิบายจากคนเดือนตุลาฯ ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้น รวมไปถึงอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สะท้อนปัญหาและชี้ทางออกเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้!

ระบอบทักษิณชั่วร้ายกว่ายุค “ถนอม-ประภาส”

นายภูมิรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวถึงความเป็นเผด็จการของระบอบทักษิณ หากนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตอย่างยุคจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ยอมรับว่ามีความแตกต่างกัน ในยุคนั้นเป็นเรื่องของเผด็จการทหาร ทุกคนเห็นว่าเป็นรัฐบาลของทหาร ถือปืนเข้ามายึดอำนาจ อย่างนี้เห็นชัดเจน แต่ในยุคของทุนสามานย์ปัจจุบันเขาใช้เงินเข้ามายึดอำนาจ ใช้เงินเข้ามาฟาดหัว ตรงนี้คนทั่วไปมองไม่เห็น

ประกอบกับวิธีการในการได้มายุคนั้นต้องยึดอำนาจ แต่ยุคนี้มาจากการเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงใช้เงินเข้ามายึด โดยมีกระดองประชาธิปไตยคลุมอยู่ แต่ภายในเป็นเรื่องของผลประโยชน์ กอบโกยเข้าตนเองและพวกพ้อง ดังนั้นระบอบทักษิณจึงมีหลายชื่อมาก ทั้งทุนกอบโกย ทรราชเผด็จการประชาธิปไตย

หากมองในมิติทางด้านเศรษฐกิจ ระบอบนี้เป็นเรื่องของทุนที่เข้ามากอบโกยในยุคของโลกาภิวัตน์ พวกนี้คิดเป็นแค่เรื่องของกำไร ไม่คำนึงถึงจริยธรรม ถือว่าเป็นทุนที่ไร้คุณธรรม ทุนเหล่านี้ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นรัฐและเรื่องของวัฒนธรรมน้อยลง อย่างกรณีเขาพระวิหาร มองว่าตัวปราสาทเป็นเรื่องของวัตถุ ไม่มองว่าเป็นเรื่องอธิปไตยของชาติ แต่พวกเขาจะมองลึกลงไปที่ทรัพยากรที่มี เช่น น้ำมันในอ่าวไทย ที่จะสร้างผลประโยชน์ให้กับพวกเขาได้

เช่นเดียวกับ ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิถีทรรศน์ หรือ “ยุคศรีอาริยะ” นักวิชาการอิสระ มองว่าความเป็นเผด็จการของยุคระบอบทักษิณแตกต่างจากในอดีต เมื่อครั้งของจอมพลถนอมและจอมพลประภาสเวลานั้นเป็นเผด็จการทหาร แต่ตอนนี้เป็นระบอบสภา ทำให้ผู้คนงง เห็นว่าเป็นประชาธิปไตย และพวกเขาใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือทำทุกวิธีที่จะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยทุกอย่างจะเป็นระบบรวมศูนย์ที่ตัวผู้นำ เป็นการฉ้อฉลทั้งระบบ อย่างเรื่องจำนำข้าว อันนี้เป็นการแบ่งประโยชน์กันในทุกระดับ ยิ่งถ้า 2 ล้านล้านบาทผ่านได้ยิ่งไปกันใหญ่
ภูมิรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ
ระบอบทักษิณฝังรากลึก 12 ปี

ขณะที่การหยั่งรากลึกของระบอบทักษิณที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมาผู้คนจำนวนไม่น้อยถูกทำให้เห็นว่า สิ่งที่ทักษิณทำทั้งหมดเป็นประชาธิปไตย เพราะมาจากการเลือกตั้ง ได้รับเสียงข้างมาก ทุกอย่างที่ทำจึงเป็นสิ่งที่ชอบธรรม เมื่อมีการต่อต้านของภาคประชาชนฝ่ายที่รู้เท่าทันกลเกมของทักษิณจนถึงการถูกยึดอำนาจเมื่อเดือนกันยายน 2549 กลายเป็นว่าทักษิณถูกรังแกไม่ได้รับความเป็นธรรม ภายใต้ภาพมายาที่บรรดาสมุนบริวารของทักษิณสร้างขึ้นมาเพื่ออำพรางให้คนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารน้อยหลงเชื่อและกลายเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้ทักษิณกลับเข้ามามีอำนาจอีก

ภายใต้ม่านบังตาที่พลพรรคและเครือข่ายของทักษิณสร้างเอาไว้ หากมองเข้าไปภายในจะพบว่า นโยบายทุกนโยบายและการเดินเกมทางการเมืองแต่ละขั้นตอน ล้วนแต่เป็นแนวทางที่มาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แทบทั้งสิ้น สะท้อนได้จากสโลแกนในช่วงหาเสียงของพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งในปี 2554 คือ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” โดยอาศัยการขับเคลื่อนทุกอย่าง ผ่านรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และเป็นการประสานงานกันระหว่างอำนาจบริหารที่มีรัฐบาลของน้องสาวเป็นตัวแทนด้านสัญลักษณ์ บวกรวมกับอำนาจนิติบัญญัติที่พรรคเพื่อไทยได้จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด อะไรที่เป็นปัญหาหรือติดขัดในเชิงกฎหมายจะถูกแก้กฎหมายเพื่อรองรับกับเป้าหมายที่ทักษิณต้องการ

โดยใช้ 15 ล้านเสียงกลายเป็นข้ออ้างถึงความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายทุกอย่าง ชนิดไม่ต้องฟังใคร นโยบายรับจำนำข้าวที่เป็นนโยบายของพรรค ซึ่งส่งผลให้พรรคได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เดินหน้าอย่างต่อเนื่องเข้าฤดูกาลที่ 3 แม้จะต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก เนื่องจากรับซื้อข้าวจากชาวนาสูงกว่าราคาตลาดโลก จนไม่สามารถระบายข้าวออกไปต่างประเทศได้

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทบังคับใช้ทั่วประเทศ นับเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ทำให้เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล หลังจากนั้นค่าครองชีพทุกอย่างพุ่งขึ้น โรงงานไหนที่รับภาระไม่ไหวก็ต้องปิดตัวลง แรงงานได้ 300 บาทตามกฎหมายแต่ต้องแลกกับการตกงาน

แม้กระทั่งโครงการรถยนต์คันแรกที่ออกมาเพื่อลดความไม่พอใจของนักลงทุนต่างชาติที่ขู่จะย้ายฐานการผลิต ด้วยการยกเว้นภาษีสรรพสามิตไม่เกิน 1 แสนบาท สวนทางกับแนวทางในการประหยัดพลังงานที่ทั่วโลกรณรงค์อยู่ ผลกระทบที่ตามมาคือแท็กซี่มีผู้โดยสารน้อยลง รถติดเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือฉุดกำลังซื้อของคนลงไป เศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มแย่ลง

ขณะที่ในภาคการเมืองอะไรที่จะเป็นผลให้พรรคเพื่อไทยครองอำนาจได้ยาวนานที่สุดและได้ประโยชน์มากที่สุด พวกเขาเร่งแก้กฎหมาย ตำแหน่งประธานรัฐสภาและตำแหน่งประธานวุฒิสภา กลายเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือผู้รวบรัดเพื่อให้การแก้ไขกฎหมายผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว

ประเด็นต่างๆ ที่ระบอบทักษิณ ใช้ในการบริหารจัดการประเทศนั้นนักวิชาการบางรายเรียกแนวทางลักษณะนี้ว่าเป็นทุนสามานย์

คำวินิจฉัยศาล รธน.ชี้ชัด-เผด็จการ

ขณะเดียวกันการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2556 ที่มีการร้องให้ศาลวินิจฉัยในเรื่องการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา จากเดิมที่มีทั้งวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาและการเลือกตั้ง ให้กลายเป็นวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง ได้ข้อสรุปออกมาคือการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบและขัดต่อรัฐธรรมนูญ

โดยคำแถลงของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยการแก้กฎหมายประเด็นที่มาของวุฒิสภา มีถ้อยคำที่สะท้อนถึงวิธีการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้อย่างน่าสนใจดังนี้

“ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้จะยึดถือเอามติฝ่ายเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่หากละเลยหรือใช้อำนาจอำเภอใจกดขี่ข่มเหง ฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผล จนทำให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืน จะถือว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หากแต่จะกลับกลายเป็นระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ขัดแย้งต่อระบอบการปกครองประเทศไปอย่างชัดแจ้ง”

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ “การอ้างหลักเสียงข้างมากมิได้คำนึงถึงเสียงข้างน้อย เพื่อหยิบยกมาสนับสนุนการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของผู้ใช้อำนาจ ท่ามกลางความซับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน หรือกลุ่มบุคคล กับผลประโยชน์ของประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชนโดยรวม และการใดก็ตามที่จะนำไปสู่ความเสียหายและความเสื่อมโทรมของประเทศชาติ หรือการบาดหมางแตกความสามัคคีอย่างรุนแรง การนั้นย่อมขัดต่อหลักนิติธรรม ตามมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550”

ที่ชัดเจนอีกข้อความหนึ่งคือ “การที่องค์กร สถาบัน ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐ มักจะอ้างอยู่เสมอว่า ตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับนำแนวความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาปฏิบัติ หาใช่วิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวม ภายใต้หลักนิติธรรม”

หักหลังได้แม้กระทั่งเสื้อแดง

ขณะที่ความเห็นของนักวิชาการหลายท่านมองว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่เป็นเผด็จการทางรัฐสภา การดำเนินนโยบายทุกอย่างของพรรคเป็นไปตามความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมไปถึงความต้องการที่จะออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยได้โดยไม่มีความผิด

เมื่อรัฐบาลตัวแทนของทักษิณชุดนี้เดินหน้าดำเนินการทุกอย่างตามอำเภอใจ ภายใต้ข้อผิดพลาดหลายด้าน จึงทำให้แม้แต่คนเสื้อแดงที่เคยสนับสนุนจำนวนไม่น้อยเริ่มเปลี่ยนใจ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการปรับเงื่อนไขร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับสุดซอยที่เนื้อหายกเว้นความผิดให้กับทุกกลุ่ม เท่ากับเป็นการหักหลังกลุ่มคนเสื้อแดงที่มุ่งหมายจะดำเนินการเอาผิดกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับเหตุการณ์กระชับพื้นที่เมื่อปี 2553 จนเป็นต้นเหตุของการชุมนุมและออกมาเรียกร้องครั้งใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศ

ด้วยความไม่ไว้วางใจกับพฤติกรรมของรัฐบาล คำพูดหรือคำสัญญาใดๆ ของรัฐบาลจึงถูกปฏิเสธจากภาคประชาชน การถอยของรัฐบาลแต่ละครั้งจะสลับกับการรุกของภาคส่วนต่างๆ ที่สนับสนุนรัฐบาล ดังนั้นความเห็นของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลจึงนำไปสู่การขับไล่ระบอบทักษิณให้ออกไปจากประเทศไทย

แต่การหยั่งรากฝังลึกของระบอบทักษิณที่มีมาอย่างยาวนาน ยังคงเป็นคำถามที่หลายคนต้องค้นหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรที่จะขจัดระบอบนี้ให้ออกไปจากประเทศไทย

ถึงเวลาโค่นระบอบทักษิณ

อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวว่า การจะขุดรากถอนโคนระบอบทักษิณให้ออกไปจากประเทศไทยนั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ที่สำคัญคือต้องลงมือทำ เพราะนี่เป็นต้นไม้พิษ ไม่อย่างนั้นหากปล่อยให้หยั่งรากฝังลึกไปมากกว่านี้จะทำได้ลำบาก ตอนนี้ถือเป็นจังหวะเวลาที่สุกงอมแล้ว

ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ฝ่ายที่ทำหน้าที่คานอำนาจของรัฐบาลในรัฐสภาเป็นเสียงข้างน้อย ไม่สามารถทัดทานเสียงของรัฐบาลได้ หรือในวุฒิสภาก็เช่นเดียวกัน เมื่อลงมติก็แพ้ทุกครั้ง

ดังนั้นการใช้ตุลาการภิวัฒน์หรือองค์กรอิสระที่มีอยู่จึงเป็นทางออก ทั้งนี้เพื่อยับยั้งในขั้นตอนแรก นอกจากนี้ยังจะต้องหาวิธีการอื่นเข้ามาเพื่อขจัดระบอบทักษิณออกไป สุดท้ายหนีไม่พ้นภาคประชาชน ทั้งนี้ต้องเริ่มที่แนวคิด 4 ประการ

ประการแรก ฐานประเทศ ประเทศไทยมี 1 แผ่นดิน ผู้คนใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ทรัพยากรของไทยที่มีเพียงพอสำหรับคนทั่วประเทศ แต่ไม่พอสำหรับคนโลภเพียงไม่กี่คน

ประการที่ 2 คนในแผ่นดิน จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพของพลเมืองให้เป็นผู้ตื่นรู้ รู้ดี รู้ชั่ว และหาทางป้องกันคนชั่วที่จะเข้ามาหาประโยชน์ของประเทศ

ประการที่ 3 การจัดการแผ่นดิน แน่นอนว่าในส่วนนี้จะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ ทั้งรัฐบาล สภาผู้แทน ตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ปัญหาที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ตัวนักการเมือง จึงต้องเข้ามาแก้ปัญหาในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

ประการที่ 4 สถาบันยึดโยงของแผ่นดิน คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เป็นศูนย์รวมของคนไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากใครจะคิดมาทำลายก็ต้องออกมาปกป้อง

ปัญหาทุกอย่างอยู่ที่คน หากเราทำให้คนของแผ่นดินได้เป็นผู้ที่ตื่นรู้ รู้ทันคนเลว ดังนั้นการที่จะป้องกันไม่ให้ระบอบทักษิณกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา พวกเราจะต้องช่วยกันเผยแพร่และกระจายความรู้ให้กับประชาชนรู้เรื่องระบอบทักษิณ แน่นอนว่าแนวทางนี้อาจต้องใช้เวลาสักระยะก็ตาม
ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ
ขณะที่ “ยุคศรีอาริยะ” กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญของไทยไม่ได้มีมาตรการที่จะป้องกันทุนใหญ่ที่จะเข้ามายึดประเทศ ดังนั้นจึงทำให้เกิดปัญหาอย่างทุกวันนี้ ส่วนการจะถอดระบอบทักษิณให้ออกไปจากประเทศไทย ทำได้หลายรูปแบบด้วยการเจรจากันเริ่มที่สภาความมั่นคง หรือสถาบันต่างๆ ต้องเข้ามาพูดคุยกันให้หยุดระบอบดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางยุติ หรือในฝ่ายของภาคธุรกิจหรือกลุ่มทุนก็ทำได้ รวมไปถึงนักวิชาการก็อาจมีการตั้งสภาวิชาการ เพื่อการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย หารือกันว่าควรทำอย่างไรบ้าง

เราต้องใช้อำนาจหรือผลในการเจรจาเหล่านี้มาเป็นตัวบีบเพื่อแก้ปัญหา ที่ผ่านมาทักษิณใช้รูปแบบของสิงคโปร์ที่ลีกวนยูนำมาใช้ แต่ฐานของประชาชนไทยแข็งแกร่งกว่าที่สิงคโปร์

หาวิธีดึงอำนาจคืนประชาชน

อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ย้ำว่า หากยังใช้รูปแบบที่มีอยู่ในเวลานี้ต่อไปก็ต้องขอยกตัวอย่างเปรียบเปรยให้เห็น ก็เหมือนกับมีคนมาเช่าบ้าน ขอเช่าบ้าน 4 ปี แต่อยู่มาได้ 2 ปีกว่าก็ทำให้บ้านชำรุดเสียหาย ซึ่งตรงนี้ต้องมีสัญญาที่ระบุเอาไว้ว่าคนที่มาเช่าบ้านจะต้องรักษาสภาพของบ้านให้ดี และต้องมีวิธีในการเอาบ้านคืนมาเมื่อเห็นว่าผู้เช่ากระทำให้เกิดความเสียหาย ตรงนี้นักรัฐศาสตร์ต้องมาช่วยกันคิดหาวิธีว่าเราจะมีวิธีเอาประเทศคืนมาได้อย่างไร

เมื่อเราไม่อยากให้ทหารออกมาแก้ปัญหานี้ เสียงฝ่ายค้านในรัฐสภาก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ถามว่าประชาชนปฏิวัติเองได้หรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วว่าการกระทำของรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นภาคประชาชนต้องเดินเครื่องในเรื่องนี้ด้วย

ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้เชื่อว่าคนน่าจะมาไม่น้อย กระแสตอนนี้จุดติดแล้ว ทุกคนมุ่งไปสู่การขับไล่ระบอบทักษิณ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเมื่อคนมากันมากแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะงานนี้คงไม่มีคำว่าเสมอสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย ก็ยังเชื่อว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ทำงานในด้านการเมืองมานานน่าจะมีอะไรที่เป็นไม้เด็ดสำหรับงานนี้ หรืออาจต้องรอจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนตามที่นายสุเทพประกาศไว้

ขณะเดียวกันแม้ว่าการขุดรากถอนโคนระบอบทักษิณจะทำได้สำเร็จ ปัญหาคือใครจะขึ้นมาบริหารประเทศ ถ้าเป็นประชาธิปัตย์ พวกเขาก็จะเจอปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ฝ่ายตรงข้ามและคนเสื้อแดงก็จะออกมาต่อต้านเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าประชาธิปัตย์ฉลาดพอก็อย่าขึ้นมาเป็นรัฐบาล

เช่นเดียวกับยุคศรีอาริยะที่มองว่า ในวันที่ 24 นี้ แกนนำจะต้องตอบให้ได้คือออกมาแล้วทำอะไร หากเราไม่เข้ามาแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในเวลานี้เมื่อระบอบทักษิณผ่านพ้นไปแล้ว มีรัฐบาลใหม่เข้ามา ถ้าเป็นประชาธิปัตย์ก็จะถูกต่อต้านจากฝ่ายตรงข้ามเหมือนกัน ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือต้องเข้ามาศึกษาต้นตอของปัญหา และเข้ามาแก้ไขให้ตรงจุด การปฏิรูปการเมืองก็ถือเป็นทางออกหนึ่ง

เงื่อนไขรุนแรง-รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

พร้อมกันนี้ยังประเมินถึงข้อห่วงใยในเรื่องความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น คิดว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ฉลาดพอ พวกเขาก็ไม่ต้องการแพ้ จึงไม่ให้เสื้อแดงเข้ามาชุมนุมในพื้นที่ใกล้กัน เพื่อป้องกันการปะทะ หรือไม่พยายามให้ตำรวจเข้ามาจัดการกับผู้ชุมนุม เพราะถ้ามีการกระทบกระทั่งกันจนบานปลายถึงขั้นใช้แก๊สน้ำตาหรือสลายการชุมนุมแล้วรัฐบาลจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เชื่อว่าตัวชี้ขาดในเรื่องนี้จะอยู่ที่ตำรวจ เพราะวันนี้คนเสื้อแดงแตกต่างจากเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งมีความเข้มแข็งมาก หากพวกเขามาด้วยความศรัทธาก็จะมีพลังมาก แต่ถ้ามาด้วยเงิน เมื่อเงินหมดทุกอย่างก็จบ

ส่วนคนเสื้อแดงก็ประเมินสถานการณ์ออกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ของรัฐบาลตกที่นั่งลำบาก รับค่าแรงแล้วก็ทำงานให้แค่ระดับหนึ่ง การขับเคลื่อนที่ออกมาก็ดูเหมือนไม่แข็งแรงนัก และงานนี้ถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณเพลี่ยงพล้ำ สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นที่ต้องปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ

จับตาเพื่อไทยจนตรอก

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการขับเคลื่อนของพรรคเพื่อไทย เพราะหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของวุฒิสภานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ที่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการเปิดหน้าชนกับอำนาจศาลโดยตรง และมวลชนเสื้อแดงที่เพิ่งแยกย้ายกันไปเมื่อคืนวันที่ 20 พฤศจิกายน จะมีการระดมพลครั้งใหม่หรือไม่ รวมไปถึงการเดินเกมของทักษิณผ่านอำนาจของรัฐภายใต้รัฐบาลของน้องสาวยิ่งลักษณ์ จะเดินหน้าสู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างไร

หรือการเปิดศึกทุกรูปแบบทั้งใช้อำนาจของตำรวจเข้าดำเนินการสลายการชุมนุม หรือใช้กำลังของคนเสื้อแดงเข้ามาสร้างความวุ่นวาย รวมไปถึงท่าทีของกองทัพที่จะมองถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้จะเป็นอย่างไร หรือจะปล่อยให้ทุกอย่างเดินต่อไป โดยที่ประชาชนเป็นผู้ถูกกระทำจากอำนาจรัฐภายใต้ระบอบทักษิณที่ร้ายยิ่งกว่าเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียรกันแน่!

กำลังโหลดความคิดเห็น