อดีตรองฯ โรมานอฟ ขุด “มาตรา 112” เล่นงานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ้างวินิจฉัยคดีแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ก้าวล่วงพระราชอำนาจ เล็งถอดถอน 5 เสียงข้างมาก อ้างแบบศรีธนญชัยถ้าให้ตุลาการฯที่เอี่ยวยกร่างรัฐธรรมนูญออกไป 3 คน จะเป็นคำวินิจฉัยของเสียงข้างน้อยทันที
วันนี้ (21 พ.ย.) พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีแนวโน้มการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เรื่องนี้เป็นมติพรรคจะเข้าชื่อเสนอเรื่องถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก แต่ยังไม่ใช่มติ ส.ส.ที่จะมีการประชุมหลังจากนี้ แต่ฟังดูแล้วเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง แนวโน้มก็จะมีการรวมรวมรายชื่อ และยื่นต่อประธานวุฒิสภาถอดถอนตุลาการฯ
พ.อ.อภิวันท์ กล่าวต่อว่า หากตัดเสียงของตุลาการฯเสียงข้างมากที่เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 ออกทั้ง 3 คน ก็ทำให้เป็นเสียงข้างน้อยทันที จากมติ 5 ต่อ 4 เสียง ก็จะเหลือ 2 ต่อ 4 เสียง คำวินิจฉัยก็จะเป็นคำวินิจฉัยของเสียงข้างน้อยทันที
“อีกเรื่องหนึ่งหารือกันก็คือการแจ้งความดำเนินคดีในเรื่องละเมิดพระราชอำนาจประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็จะดำเนินการหลังจากที่มีมติ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดี๋ยวจะแจ้งในที่ประชุม ส.ส.” พ.อ.อภิวันท์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.อ.อภิวันท์ กล่าวถึงช่วงนี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวแทรกขึ้นมาว่า ขอชี้แจงว่าเรื่องของการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ต้องมีเหตุว่าจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เรื่องของการดำเนินคดีอาญา ก็มีเช่น การดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ แต่วันนี้ที่ประชุมเห็นว่า บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากคำวินิจฉัยเช่นนี้ก็คือ ส.ส.ก็มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ส.ว.ตั้งประเด็นไว้เพียงว่าเข้าข่าย แต่จะหารือกับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.ผู้เสียหายที่เกี่ยวข้องแล้วจะมีมติดำเนินการให้ชัดเจนต่อไป
เมื่อถามถึงความชัดเจนช่วงเวลาที่จะถอดถอน พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า หลังจากการประชุม ส.ส.จะได้ความชัดเจนมากขึ้น เมื่อที่ประชุม ส.ส.เพื่อไทย มีมติอย่างไร ก็จะไปแจ้งพรรคร่วมรัฐบาล หากเห็นตรงกันก็ดำเนินการได้เลย คิดว่าน่าจะเป็นต้นสัปดาห์หน้า
ขณะที่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คือว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านเมื่อวาน แล้วบอกให้มาขัดคำวินิจฉัยได้ภายใน 15 วัน หมายความว่าเราจะต้องไปดูความวินิจฉัยกลาง คำวินิจฉัยส่วนตน ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องเอาคำวินิจฉัยเหล่านั้นมาพิเคราะห์ ขณะนี้เราจะต้องรวบรวมเอกสารพยานหลักฐาน และต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.ขณะนี้ยังไม่ได้หารือ ขอว่าให้เราหารือให้รอบคอบ และจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป
นายชูศักดิ์ยังได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีขอทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานคืนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญลงมาว่า ขอยืนยันว่าไม่มีกฎหมายข้อใดรองรับไว้ และขณะนี้ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยในการลงพระปรมาภิไธยต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว อย่างไรก็ดีตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ หลังจากมีการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นไป หากพ้น 90 วันไม่ได้พระราชทานคืนมา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญรัฐสภาจะมีมติยืนยันร่างเดิมหรือไม่นั้น มองว่าที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่รัฐสภาลงมติยืนยันแต่อย่างใด
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าไม่มีการขอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ที่ทูลเกล้าฯ ไปแล้วกลับคืนมา เพราะกระบวนการต่างๆ ที่ทำมาเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว นายกฯ จะไปถอนกลับมาไม่ได้
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมว.พาณิชย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคือการสถาปนาอำนาจใหม่เหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน สอดคล้องกับหลักการที่คน ปชป. ประกาศว่านิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการอยู่ใต้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขายอมรับ สถานการณ์นี้ยุบพรรคไหนตัดสิทธิ์ใครบ้างเป็นเรื่องเล็ก เพราะเรื่องใหญ่คือศาลรัฐธรรมนูญบังคับใช้กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศตามอำเภอใจ รุกรานอำนาจสามสถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตยอย่างอุกอาจ ขยายอำนาจองค์กรตนด้วยคำว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร
ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าต้องผูกพันภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มิใช่ไร้มาตรฐาน แม้กระทั่งการวินิจฉัยกรณีแบบเดียวกันก็ตัดสินแตกต่างอย่างที่กำลังเกิดขึ้น บางคนอาจมองโลกในแง่ดีว่าพรรคยังอยู่รัฐบาลยังอยู่ไม่เสียหาย ก็ต้องเข้าใจความจริงว่าเขาทำได้มากที่สุดเท่านี้เพราะไม่มีช่องกฎหมายให้ไปไกลได้ถึงตรงนั้น แต่การฟันธงว่าทุกกระบวนการขัดรัฐธรรมนูญคือการส่งสมาชิกรัฐสภา 312 คนไปเสี่ยงตายป้ายหน้าซึ่ง ป.ป.ช. ก็ออกตัวแรงตั้งกรรมการสอบ 2 ประธานทันที
“สถาบันนิติบัญญัติต้องต่อสู้ด้วยหลักการถึงที่สุด จริงๆ ฝ่ายค้านต้องร่วมสู้ด้วยอย่ามัวแต่ฝันถึงส้มหล่นจากการล้มรัฐบาล เพราะถ้ายอมให้เป็นไปแบบนี้อำนาจอธิปไตยของประชาชนก็ไร้ความหมาย เพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็ถูกแทรกแซง ประชาธิปัตย์มาเป็นก็ต้องเอานิติบัญญัติกับบริหารไปสยบยอมแล้วมีหน้าที่ต้องปกป้องมรดกของฝ่ายเผด็จการด้วย ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็จะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ก็เป็นเช่นนั้นแล้ว” นายณัฐวุฒิ ระบุ