รมต.ประจำสำนักนายกฯ ปัดข่าวขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.กลับคืน โดดป้องนายกฯ ทำตามที่กฎหมายกำหนด โยนสภาตัดสินหลังศาลรัฐธรรมนูญชี้ผิด อัด ปชป.ใช้ช่องโหว่กฎหมายเล่นแง่ไม่ได้บอกว่าซักฟอกอะไรบ้าง หยันอภิปรายนายกฯ กับ รมต.อีกคนแค่ 2 วันพอ
วันนี้ (21 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 17.00 น.นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการทำเรื่องขอพระราชทานนำร่างรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.กลับลงมาหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่จะต้องมีการประสานเป็นการภายใน ระหว่างสำนักราชเลขาธิการ กับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี น่าจะสอบถามกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน ฝ่ายกฎหมายอาจจะต้องหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีดำเนินการตามรัฐธรรมนูญกำหนด คือต้องนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน คงต้องรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ จากนั้นประธานรัฐสภาคงต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไร จุดเริ่มต้นอยู่ที่รัฐสภาก็น่าจะกลับไปรัฐสภาก่อน เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยแถลงไม่ยอมรับอำนาจศาล ถ้า 90 วันไม่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา รัฐสภาจะใช้สิทธิโหวตกฎหมายกลับ นายวราเทพ ตอบว่า ไม่อยากให้คาดการณ์ อาจจะสร้างความสับสนและขยายผลทางการเมือง ขอให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายก่อน
ส่วนความคืบหน้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายวราเทพ กล่าวว่า ประธานรัฐสภาได้บรรจุระเบียบวาระแล้ว ถ้าหากไม่บรรจุจะถูกกล่าวหาว่าปิดกั้น และเป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาล ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ขอร้องพรรคประชาธิปัตย์ให้บอกหัวข้อเหมือนเวลาสอบยังต้องบอกว่าสอบวิชาอะไร เพื่อให้ประธานสภา ควบคุมการประชุมได้ คนชี้แจงก็จะได้ชี้แจงได้ ถ้าไม่บอก แสดงว่าต้องการอาศัยความได้เปรียบทางกฎหมาย มาทำให้การประชุมมีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนว่าต้องยื่นอะไรบ้าง จึงไม่ควรมาชิงไหวชิงพริบกัน เพราะการกล่าวหาคนว่าทุจริตและฝ่าฝืนกฎหมายรุนแรงนำไปสู่โทษถึงขั้นถอดถอน อาจจะดำเนินคดีอาญา หากไปฟ้องต่อศาล ศาลยังต้องให้ส่งคำฟ้องที่มีรายละเอียด
อย่างไรก็ตาม หากประธานสภาบรรจุระเบียบวาระในวันพฤหัสบดี คงต้องนัดประชุมภายใน 3 วันขึ้นไปคงจะเป็นสัปดาห์หน้า ลงมติในวันที่ 28 พ.ย.การอภิปรายควรเสร็จก่อนเที่ยงคืนวันที่ 27 พ.ย.ซึ่งวิปทั้ง 2 ฝ่าย ควรไปตกลงเวลากันว่าจะอภิปรายกี่วัน เบื้องต้นคิดว่าการยื่นอปรายนายกฯ และรัฐมนตรี 1 คน ไม่ควรใช้เวลาเกิน 2 วัน เนื่องจากวันจันทร์ วุฒิสภาประชุม วันอังคาร ครม.ประชุม เวลาประชุมสภาที่เหมาะควรเป็นวันอังคาร ตั้งแต่ช่วงบ่ายโมงเป็นต้นไป เป็นวันประชุมวันแรก และต่อด้วยเช้าวันพุธ และสิ้นสุดก่อนเที่ยงคืน ถ้าประธานสภาบรรจุระเบียบวาระการประชุมในวันอังคารก็น่าจะเหมาะสม