xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ขี้ข้าแม้ว”แถสุดฤทธิ์ หนีบ่วงศาล รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคนเสื้อแดงรวมตัวกันที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขที่มาของ ส.ว.เมื่อ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คำวินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา แม้จะไม่ระบุโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง แต่ก็ได้ส่งผลสะเทือนต่อความมั่นคงของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างรุนแรง

นั่นเพราะ นอกจากคำวินิจฉัยจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว.ตกไปแล้ว คำวินิจฉัยยังได้ระบุถึงการกระทำผิดของ ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 312 คนที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ตลอดจนประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ที่ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาร่างฯ

ทั้งกรณีการปลอมร่างฯ ซึ่งทำให้ร่างฯ ที่เสนอญัตติต่อประธานรัฐสภา กับร่างฯ ที่นำเข้าที่ประชุมรัฐสภา กลายเป็นคนละร่างกัน

กรณีการกำหนดวันแปรญัตติโดยนับย้อนหลัง ทำให้เหลือวันแปรญัตติแค่วันเดียว การตัดสิทธิสมาชิกรัฐสภาในการอภิปรายถึง 57 คน

กรณีการเสียบบัตรแสดงตนแทนกัน

และประเด็นสำคัญ คือ เนื้อหาของบทบัญญัติที่ทำการแก้ไขนั้น ได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ว.เสียใหม่ จนทำให้วุฒิาสภากลายสภาพเป็นสภาทาสหรือสภาผัวเมีย อันเป็นการขัดต่อหลักการถ่วงดุลของ 2 สภา ซึ่งเข้าข่ายผิดมาตรา 68 เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

สรุปแล้ว ความผิดเกิดขึ้นทั้งในกระบวนการพิจารณาร่างฯ และในเนื้อหาที่ผ่านการพิจารณาออกมา

เพียงแต่การกระทำผิดทั้งหมด ศาลยังไม่เห็นว่าเป็นการกระทำในนามพรรคการเมือง จึงไม่ได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคและไม่มีการตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค

แต่กระนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 พ.ย.จะเป็นบรรทัดฐานให้มีการเอาผิดสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน และผู้เกี่ยวข้อง โดยกลไกอื่นต่อไป นั่นทำให้เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เมื่อวันที่ 21 พ.ย. เพื่อขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริง ชี้มูลความผิดและดำเนินคดีอาญาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีฯ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา และ ส.ส.-ส.ว.รวม 312 คนที่ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ประเด็นที่มา ส.ว. ฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และกระทำขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมถึงการกระทำที่ขัดต่อประมวลจริยธรรมในการเร่งรัดพิจารณาร่างดังกล่าว

นอกจากนี้ กลุ่ม 40 ส.ว.ก็ได้ยื่นต่อ ป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิดทั้ง 312 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็กำลังเตรียมการยื่นถอดถอน และเอาผิดทางอาญาต่อผู้ที่นำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้า และผู้ที่เกี่ยวข้องฐานปลอมแปลงเอกสารเช่นกัน

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงพฤติกรรมการกระทำผิดไว้แล้ว จึงมีโอกาสสูงยิ่งที่สมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คนจะถูกเชือดยกเข่ง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลหุ่นเชิดของ นช.ทักษิณ อยู่ในสถานะง่อนแง่นทันที และถึงขั้นล้มทั้งยืน กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฝ่าฝืนเสียงคัดค้าน นำร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้วินิจฉัยแล้ว

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยจบ สิ่งที่บรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง ลิ้วล้อบริวารของ นช.ทักษิณจะทำได้ จึงมีเพียงการปลอบใจบรรดาเหล่าสาวก ที่มารวมกันอย่างโหรงเหรงอยู่ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานว่า พวกตนได้ชัยชนะ เพราะพรรคเพื่อไทยยังอยู่ ไม่ได้ถูกยุบตามที่ผู้ร้องได้ขอให้ศาลมีคำสั่ง และเยาะเย้ยกลับไปยังพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่ได้ส้มหล่นจากคำตัดสินของศาลฯ ครั้งนี้ ก่อนที่จะบอกมวลชนให้แยกย้ายกันกลับ และต่อไปนี้พรรคเพื่อไทยจะไปผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่จะนำไปสู่การยกร่างฯ ใหม่ทั้งฉบับที่ค้างอยู่ในวาระ 3 แทน

ส่วนท่าทีอย่างเป็นทางการของพรรคเพื่อไทย มีการประกาศออกมาเมื่อวันที่ 21 พ.ย. โดยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำพรรค อาทิ นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรค พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี และ ส.ส.พรรคบางส่วน ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

เนื้อหาของแถลงการณ์มีทั้งหมด 9 ข้อ ได้แก่

ข้อ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ที่สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดย่อมต้องมาจากการเลือกตั้งของปวงชน ดังที่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายปฏิบัติกัน

ข้อ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นอำนาจของรัฐสภา และไม่เกี่ยวข้องกับข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ

ข้อ 3.การที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 68 รับคำร้องไว้วินิจฉัย เป็นการกระทำที่ถือได้ว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในข่ายที่จะถูกร้องขอให้ถอดถอนหรือถูกดำเนินคดีอาญาได้ เพราะมาตรา 68 เป็นกรณีเกี่ยวกับการที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครอง หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.นั้น เป็นการที่รัฐสภากระทำไปตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 291 จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้ได้

ข้อ 4. ศาลรัฐธรรมนูญอ้างหลักนิติธรรมในคำวินิจฉัยในลักษณะที่ต้องการตีความขยายความเพิ่มอำนาจให้ตนเองมากกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

ข้อ 5. ศาลรัฐธรรมนูญอ้างหลักนิติธรรม เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ มิได้ระบุให้ชัดเจนว่าตามหลักสากลเขาเป็นเช่นไร การขัดกันแห่งผลประโยชน์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ถึง 269 บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่ามีความหมายอย่างไร แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่มเติมขึ้นใหม่ โดยไม่ได้ดูที่องค์กรของตนเองเลยว่า ได้กระทำการขัดต่อหลักที่ตนอ้างหรือไม่ เช่น ได้ตัดสินด้วยความเป็นอิสระ และเป็นกลาง เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และก่อให้เกิดความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร หรือไม่

ข้อ 6. การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ขัดต่อมาตราต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

ข้อ 7. ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เป็นการกระทำที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจในมาตรา 3 และมาตรา 89

ข้อ 8. เมื่อรัฐสภาได้ลงมติในวาระที่ 3 และนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ จนกว่าจะพ้นเก้าสิบวัน และมิได้พระราชทานคืนมา การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทบกระเทือนต่อการใช้พระราชอำนาจและการกระทำในพระปรมาภิไธย

ข้อ 9. การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาหากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ ย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับวงงานหรืออำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และเป็นอำนาจของรัฐสภาโดยแท้ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะดีหรือไม่ ถูกใจหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ย่อมจะถูกตัดสินโดยประชาชนในการเลือกตั้ง และนี่ถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ศาลจะก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจนี้แทนไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการยึดอำนาจของประชาชนไปใช้เช่นเดียวกับการรัฐประหาร

เห็นได้ชัดว่า ทั้ง 9 ข้อ ล้วนเป็นการให้เหตุผลอย่างข้างๆ คูๆ ที่จะไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และท่องคาถาปกป้องตัวเองว่า มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญห้ามมาตัดสินการกระทำของพวกตน

ที่บ้าบิ่นไปกว่านั้น พ.อ.อภิวันท์ ถึงกับบอกว่า จะแจ้งความดำเนินคดีตุลาการเสียงข้างมาก ในเรื่องการละเมิดพระราชอำนาจ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งจะยื่นถอดถอนตุลาการเหล่านี้ด้วย

ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นเพียงการแก้เกี้ยว เพื่อให้นายใหญ่เห็นว่าพวกตนทำอะไรเพื่อตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญบ้าง ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่จะชนะ หากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น