ผ่าประเด็นร้อน
ความเป็นไปหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกยังไม่จบสิ้นแค่นี้ ยังมีเรื่องให้ต้องติดตามอีกหลายช็อต
โดยเฉพาะในฝ่าย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา-นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา-กลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.อีกร่วม 312 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว รวมถึงพวกที่ได้ร่วมลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ตั้งแต่วาระ 1 จนถึงวาระ 3
พบว่า กลุ่มนี้ทั้งหมดนอกจากไม่ยอมรับคำวินิจฉัยแล้วก็ไม่ยอมตกเป็นเป้านิ่งให้ถูกยื่นถอดถอน และสอบสวนเอาผิดแต่ฝ่ายเดียว พยายามตั้งหลักและหาทางสู้กับศาลรัฐธรรมนูญ และพวก ส.ส.ประชาธิปัตย์-กลุ่ม 40 ส.ว.แบบไม่มีทางยอมง่ายๆ
ที่น่าสนใจก็คือ การที่กลุ่ม ส.ว.ที่มีทั้ง ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหา อีกบางคนที่ตอนนี้อยู่ในมุ้งเดียวกันหมด เพราะไปร่วมลงชื่อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่วมลงมติด้วยที่มีประมาณร่วมๆ 54 คน แยกเป็น ส.ว.เลือกตั้งประมาณ 50 คน และ ส.ว.สรรหาอีกประมาณ 4 คน จะมีการนัดหารือกันนอกรอบในวันจันทร์ที่ 25 พ.ย. อันเป็นวันที่มีการประชุมวุฒิสภาพอดี เพื่อกำหนดท่าทีของกลุ่มต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา
เพราะภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อวันพุธที่ 20 พ.ย. ปรากฏว่า ส.ว.กลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่เป็น ส.ว.เลือกตั้ง พอที่ประชุมวุฒิสภาโหวตเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ช่วงตี 3 ที่เป็นรุ่งเช้าของวันที่ 20 พ.ย. ส.ว.หลายคนก็เดินทางกลับต่างจังหวัดกันเป็นส่วนใหญ่เลยยังตั้งหลักกันไม่ทัน ทำให้ยังไม่ได้มีการนัดหารือกันหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา ปล่อยให้พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ 9 ข้อ ปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนำหน้าไปก่อน
ก็คาดว่าพอเจอหน้ากันจันทร์ที่ 25 พ.ย.นี้ คงได้มีการหารือกันเพื่อกำหนดทิศทางในกลุ่ม ส.ว.ว่าจะเอาอย่างไร จะประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แบบพรรคเพื่อไทยหรือไม่ หรือว่าจะยอมรับโดยดุษฎี เพราะรู้ว่าถึงประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัย ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น
ที่สำคัญ หาก ส.ว.เลือกตั้งประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว จะเสียทางการเมืองมากกว่าพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ เพราะถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เพราะผลคำวินิจฉัยทำให้ตัวเองอดลงสมัคร ส.ว.ต่อเนื่อง หากดิ้นจนเกินงาม ภาพลักษณ์ ส.ว.เลือกตั้งที่ติดลบอยู่แล้วจะยิ่งติดลบหนักเข้าไปอีก
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่อาจต้องหารือกันเป็นพิเศษก็คือ การเตรียมการสู้คดีหลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้กรรมการทั้งหมดร่วมเป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีคำร้องที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ซึ่ง ป.ป.ช.ให้รวมสำนวนที่ยื่นมา 5 คำร้องไว้เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ใน 5 คำร้องจะพบว่า ที่เกี่ยวโยงกับ ส.ว.เลือกตั้งและสรรหาที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็มีเพียงคำร้องเดียวเท่านั้นนอกนั้นก็เป็นเรื่องการถอดถอนสมศักดิ์-นิคม และร้องให้สอบ ส.ส.กดบัตรแทนกันในห้องประชุม แต่เมื่อ ป.ป.ช.รวมสำนวนไว้เป็นเรื่องเดียวกันแล้ว ก็จะทำให้การไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.ก็จะเดินไปพร้อมกันหมด
จึงทำให้ฝั่ง ส.ว.เลือกตั้ง-ส.ว.สรรหา ที่กำลังมีชนักติดหลังเพราะไปร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่วมลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ต้องคุยกันนอกรอบแล้วว่า หลังจากนี้จะสู้คดีในชั้น ป.ป.ช.กันอย่างไรต่อไป
แต่เชื่อว่าคงไม่คิดสั้นมาใช้วิธีปฏิเสธอำนาจ ป.ป.ช.ไม่ให้มาสอบสวนตนเอง เหมือนกับที่ปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จนสละสิทธิไม่สู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะในทางกฎหมายคงทำแบบนั้นไม่ได้ และขืนหากคิดจะทำก็โง่เต็มที เพราะผลการพิจารณาของ ป.ป.ช. มีผลในทางการเมืองและในคดีความที่เอาผิดได้ตลอดแม้ต่อให้ ส.ว.เลือกตั้งหมดวาระการเป็น ส.ว.ในเดือนมีนาคมนี้ก็ตาม
วิบากกรรมของพวก ส.ว.เลือกตั้งหลายสิบคนดังกล่าว จึงไม่หมดแค่อกหักอดได้ลงสมัคร ส.ว.ต่อเท่านั้น แต่ต้องลุ้นด้วยว่าการไต่สวนและชี้มูลคดีของ ป.ป.ช.จะเสร็จเมื่อใด และได้ข้อยุติแบบไหน
ซึ่งแม้ ป.ป.ช.ดูจะแสดงท่าทีขึงขังนอกจากจะมีการตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเต็มคณะแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏว่าสัปดาห์นี้ก็นัดประชุมอนุกรรมการที่รับผิดชอบสำนวนนี้วันอังคารที่ 26 พ.ย.ทันที เพื่อกำหนดแผนการไต่สวนคดีนี้ทั้งหมด แต่หลายคนก็อดคิดไม่ได้ว่า ป.ป.ช.จะทำงานแบบไฟไหม้ฟางหรือเปล่าคือพอกระแสเรื่องนี้เริ่มซาไป ป.ป.ช.ก็รามือ ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดกรณีเช่นนี้
ส่วนเรื่องที่ ป.ป.ช.ไปเกรงกันเองว่าหากรีบสรุปสำนวนเร็วจะถูกคนมองว่า ป.ป.ช.มีธง ก็ไม่เห็นต้องกังวล หาก ป.ป.ช.ทำงานด้วยความสุจริตใจ เพราะอย่างคดีนี้ใครๆ ก็เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องประเภททุจริตโครงการใหญ่โตแบบโครงการรับจำนำข้าวที่มีอะไรสลับซับซ้อน ต้องไปสืบค้นเสาะหาพยานหลักฐานลับอะไรกันหนักหนา แต่เป็นเรื่องการดูเจตนา-พฤติการณ์-พยานหลักฐาน-ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สอบข้อเท็จจริงในสำนวนเพิ่มจากที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยไต่สวนไว้
เบื้องต้นและอยู่ในสำนวนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะส่งมาให้ ป.ป.ช. แล้ว ป.ป.ช.ก็เรียกผู้ถูกกล่าวหา-ตัวแทนผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงข้อกล่าวหาโดยสอบถามเพิ่มเติมเพื่อดูเจตนา-พฤติการณ์ทั้งหมดของผู้ถูกกล่าวหา
แค่นี้ก็น่าจะพอสำหรับ ป.ป.ช.ในการตั้งแท่นชี้มูลกันได้แล้วว่ามีมูลหรือไม่มีมูล ไม่ใช่ไปนั่งทับสำนวนกันเหมือนที่แล้วๆ มา
อย่างไรก็ตาม การสู้คดีนี้ในชั้น ป.ป.ช.ของ ยิ่งลักษณ์-เพื่อไทย พบว่าคงไม่ยอมง่ายๆ ที่จะให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์-ส.ส.เพื่อไทย และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมถึงลงมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว
เพราะทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแกนนำเพื่อไทย ก็มองกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้หลายคนด้วยความรู้สึกว่าเป็นเสี้ยนหนามกับตัวเอง คุยด้วยไม่ได้ ขอกันก็ไม่ให้ พอมีสำนวนใหญ่ๆ แบบนี้อยู่ใน ป.ป.ช.ก็ทำให้ทั้งหมด ย่อมเกรงจะโดน ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจนทำให้ต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่
ช่วงนี้เลยได้เห็นความพยายามขวางลำการไต่สวนคดีของ ป.ป.ช.กันแล้ว เพื่อหวังว่าจะทำให้การไต่สวนของ ป.ป.ช.ล่าช้าออกไปให้นานที่สุดจนส่งผลต่อการชี้มูลคดีล่าช้าออกไป เพื่อทำให้เพื่อไทยตั้งหลักกันได้ถูก
ก็เลยเกิดกรณี ทนายความ นปช.ไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อคัดค้านการไต่สวนคดีของ ป.ป.ช.โดยอ้างเหตุผลเดียวกับที่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คือบอกว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจมาไต่สวนเรื่องนี้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภา และไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่ ถ้า ป.ป.ช.ยังเดินหน้าไต่สวนต่อไปอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้
นอกจาก “ขวาง” แล้วยัง “ขู่” อีกต่างหากไม่ให้สอบเรื่องนี้
ลูกไม้ตื้นๆ ของพวกเสื้อแดง-เพื่อไทย จะเขย่าขวัญ ป.ป.ช.จนหยุดการไต่สวนหรือไม่ แรงกดดันในเรื่องผลพวงจากการแก้ไขชำเรารัฐธรรมนูญ นับจากนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแค่องค์กรเดียวอีกแล้ว แต่จะไปอยู่ที่ ป.ป.ช.ด้วยอีกองค์กรหนึ่ง