xs
xsm
sm
md
lg

แก๊ง ปธ.สภาฯ แถลงญัตติซักฟอกไม่สมบูรณ์ ขาดคำร้องถอดถอน ให้ยื่นถึง 21 พ.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.สภาฯ พร้อม 2 รอง ปธ.แถลงหลังหารือฝ่าย กม. ยันญัตติไม่ไว้วางใจฝ่ายค้านไม่สมบูรณ์ อ้าง กม.ให้แนบสำเนาคำร้องถอดถอน มิเช่นนั้น ปธ.คุมประชุมไม่ได้ พร้อมแจ้งกลับฝ่ายค้าน ให้เวลายื่นเอกสารถึง 16.30 น. 21 พ.ย. ยังเมินเฉย 22 พ.ย.ถึงมีบทสรุป ปัดเปิดช่องยุบสภา ยันศาล รธน.ไร้อำนาจตีความแก้ที่มา ส.ว. ฝ่าย กม.เสริมหนุนตามนายทั้ง 2 ประเด็น





วันนี้ (19 พ.ย.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมนายเจริญ จรรย์โกมล และนายวิสุทธิ์ ไชยณุรณ รองปรานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่ากรณีของศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีที่มาส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ วันที่ 20 พ.ย. โดยยืนยันหลักการเดิมว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา เพราะสมาชิกรัฐสภาใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นอำนาจโดยตรงที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ และไม่มีกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ มาตราใด ที่รองรับอำนาจที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา

ส่วนการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ที่ประชุมฝ่ายกฎหมายมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าฝ่ายค้านต้องยื่นสำเนาคำร้องถอดถอนแนบญัตติด้วย ซึ่งในอดีตสมัยพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะนี้นั้น 3 ครั้งก็แนบเอกสารสำเนาคำร้องถอดถอนพร้อมญัตติทุกครั้ง จากนั้น 2 ครั้งฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ยื่นญัตติไม่ไววางใจรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแต่ไม่มีการยื่นเอกสารดังกล่าว และล่าสุดปี 2555 มีการทวงถามสำเนาก่อนเข้าสู่การพิจารณาสุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ส่งสำเนาให้ เพราะหากไม่มีสำเนาประธานการประชุมไม่สามารถควบคุมการประชุมได้ และไม่รู้ว่าจะอภิปรายอยู่ในกรอบหรือในประเด็นหรือไม่ ดังนั้นตามธรรมเนียมปฏิบัติต้องแนบสำเนาด้วย ไม่เช่นนั้นถือว่าญัตติไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้มอบจะให้ฝ่ายเลขาธิการสภาฯ ทำหนังสือทวงถามไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ให้ยื่นสำเนาไม่เกินวันที่ 21 พ.ย.เวลา 16.30 น. ก็จะทำให้บรรจุระเบียบวาระได้ทันที แต่หากเกินเวลาดังกล่าวจะส่งผลกระทบว่าจะสามารถพิจารณาญัตติไม่ไว้วางใจได้ทันสมัยนี้หรือไม่ เพราะวันที่ 28 พ.ย. จะปิดสมัยสมัยการประชุม

ต่อข้อถามว่าการที่ประธานฯ ยื้อเรื่องนี่ เพื่อเปิดทางให้นายกฯ ยุบสภาได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ตอบว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายไม่มีแท๊กติกอะไร อีกทั้งนายกฯ ก็ยืนยันว่าไม่มีการยุบสภา ทั้งนี้หากพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันจะไม่ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่ตนจะวินิจฉัยโดยยึดสถานการณ์ปัจจุบันเป็นหลัก

ด้านนายสมชาติ ธรรมสิริ ที่ปรึกษากฎหมายคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา แถลงสรุปว่า การเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ต้องแสดงหลักฐานการยื่นคำร้องถอดถอนที่ได้ยื่นต่อประธานวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา271 เพื่อให้เห็นถึงประเด็นที่จะอภิปรายชัดเจน และประเด็นดังกล่าวต้องอยู่ในกรอบที่ยื่นถอดถอนได้เท่านั้น รวมทั้งจากแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา การอภิปรายไม่ไว้วางใจตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี2550 บังคับใช้ ได้มีการยื่นญัตติดังกล่าว 5 ครั้ง โยดมีการส่งสำเนาคำร้องถอดถอน 4 ครั้ง โดย 3 ครั้งแรก พรรคเพื่อไทยส่งพร้อมญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และอีก 1ครั้ง ส่งก่อนเริ่มอภิปรายฯ

เมื่อถามว่าฝ่ายค้านจำเป็นต้องยื่นข้อกล่าวหาหรือไม่ นายสมชาติ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้การยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีที่กล่าวหาว่ากระทำผิดต่อหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ยื่นคำถอดถอนต่อประธานวุฒิสภา เนื่องจากรัฐธรรมนูญตอนที่ยกร่างมีเจตนารมณ์ที่จะให้ดำเนินการทางกฎหมายด้วย โดยในนัยะนี้แสดงว่ารัฐธรรมนูญไม่ประสงค์ที่จะให้มีการกล่าวหรืออภิปรายเรื่องทุจริตแต่เพียงลอย ๆ แต่ต้องแสดงหลักฐานประกอบตามมาตรา 271 ดังนั้นเมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรอบการอภิปรายต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือกล่าวหาการทุจริตในประเด็นใดก็ต้องอธิบายให้ชัดเจนในประเด็นนั้น ซึ่งการแสดงหลักฐานให้ปรากฏชัดเจนในคำร้องมาเป็นข้อ ๆจะทำให้การอภิปรายเป็นประโยชน์ต่อสาธารณ ที่ต้องการตรวจสอบและสอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และเป็นประโยชน์กับทั้งผู้อภิปรายและผู้ที่จะตอบ รวมทั้งสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุม

เมื่อถามว่าการยื่นญัตติควรต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ไม่ใช่ข้อบังคับการประชุม นายสมชาติ กล่าวว่า ตามข้อบังคับการประชุมข้อ 169 วรรค 1 กำหนดว่าให้ประธานตรวจสอบญัตติ ซึ่งญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยหลักแล้วต้องตรวจสอบสมาชิกภาพของส.ส.ที่ลงชื่อในญัตติ ซึ่งมีส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ 2 คนที่ลาออกไป การเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯและหลักฐานตามมาตรา 271 ซึ่งหลักฐานตรงนี้ครอบคลุมได้ทั้งเอกสาร ที่ประธานวุฒิสภาได้รับเรื่องไว้ รวมทั้งตัวสำเนาคำร้องด้วย อย่างไรก็ตามตามตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญมีศักดิ์สูงกว่า แต่ข้อบังคับแม้จะเป็นข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่าการยื่นญัตติเหตุใดสภาฯจะต้องยึดหลักเช่นเดียวกับการยื่นถอดถอนที่จะต้องเปิดเผยข้อกล่าวหาที่ส่งให้ปปช. ดำเนินการ นายสมชาติ กล่าวว่า ในส่วนของหลักการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 เมื่อมีการถอดถอนแล้วและต้องแจ้งข้อกล่าวหาไปยังปปช. ดังนั้นสภาก็ต้องได้สิทธิดังกล่าว เพื่อความเป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหาจะได้ทราบประเด็น อีกทั้งเพื่อควบคุมการประชุมการทำหน้าที่ของประธาน ไม่ให้ออกนอกประเด็น ขณะเดียวกันปปช.ตรวจสอบการถอดถอนอีกทางหนึ่ง










กำลังโหลดความคิดเห็น