xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นศาลฟันโมฆะสภาผัวเมีย 40 สว.ขู่ลงมติผ่านวาระ 3 มีคดีแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 23 ก.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง นางสุมล สุตตะวิริยวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ใช้สิทธิตามรัฐธรรมมาตรา 68 ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว. และสั่งให้การแก้ไขดังกล่าวเป็นโมฆะ พร้อมกับขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินสั่งชะลอการประชุมพิจารณาญัตติดังกล่าวในวาระที่ 3 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 ก.ย. ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
นางรสนากล่าวว่า ที่ต้องยื่นคำร้องเนื่องจากเห็นว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการพิจารณาแต่ละมาตรากลับไปกลับมา มีการรีบเร่งผิดขั้นตอน ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) ได้กำหนดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หากจะมีการแก้ไขในวาระที่ 2 การพิจารณาแต่ละมาตราต้องเป็นไปตามลำดับ แต่ข้อเท็จจริงพบว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมในที่มาสว.ในมาตรา 5 ประธานที่ประชุมมีการตัดสิทธิผู้ที่ยื่นญัตติเหลือเพียงไม่กี่คน ต่อมามีการเสนอลงมติเพื่อปิดอภิปราย จากนั้นในวันรุ่งขึ้น ก็กลับมีการพิจารณามาตรา 5 ใหม่
นอกจากนี้เห็นว่า องค์กรวุฒิสภาเป็นองค์กรกลุ่ม การพิจารณากฎหมาย รัฐธรรมนูญกำหนดว่าหากองค์ประชุมไม่ครบ ก็จะทำให้กฎหมายนั้นตกไป ซึ่งนอกจากเรื่ององค์ประชุมแล้ว ยังมีเรื่องขององค์มติคือเสียงข้างมากในที่ประชุม ที่กฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่จะลงมตินั้น ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าว แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้สว.มาจากการเลือกตั้ง สว.ที่พิจารณาในเรื่องนี้ล้วนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 122 และ มาตรา3 วรรค2 ที่กำหนดว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม รวมทั้งการแก้ที่มาของสว. หากทำสำเร็จ จะทำให้การเป็นองค์กรถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจรัฐสูญเสียไป จากเหตุทั้งหมด จึงเห็นว่าการแก้ไขตังกล่าวทำให้การตรากฎหมายเสียไปทั้งฉบับ และเป็นไปเพื่อให้ทันกับ สว. ที่จะหมดวาระในวันที่ 2 มี.ค. 57 ซึ่งจะสามารถลงเลือกตั้งใหม่ได้ทันที
“ถ้าจะให้สว.มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรที่จะมาจากคนละฐานเสียงกับ สส. และควรกำหนดคุณสมบัติที่ต้องไม่เป็นเครือญาติกับ สส. หรือกำหนดให้มาจากองค์กรกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เพราะไม่ฉะนั้นจะทำให้ สว. กลายเป็นฐานของพรรคการเมือง ซึ่งเวลานี้พบว่ามีการจัดบัญชีรายชื่อผู้ที่จะลงสมัคร สว. ในแต่ละจังหวัดของแต่ละพรรคการเมืองไว้ เป็นบัญชีที่3-4 ต่อจากบัญชีผู้สมัคร สส. ในระบบบัญชีรายชื่อ”
ระหว่างการประชุมวุฒิสภา นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ฝากไปถึงประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และสมาชิก 300 กว่าคนที่ลงชื่อสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นคำเตือนครั้งสุดท้ายก่อนที่จะลงมติวาระ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของส.ว. ซึ่งตนได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชั่วคราว ยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิ์หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา 3 ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญตามหลักนิติธรรม มาตรา 27 ซึ่งประธานวุฒิสภาประกาศท้าทายอำนาจศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติโหวตในวันที่ 28 ก.ย.ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการกระทำขัดมาตรา 68 เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ลงมติแล้วจบไป เพราะในบ่ายวันนี้ก็จะมีคณะบุคคลไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และในอนาคตจะมีผู้ไปยื่นต่อปปช. ซึ่งจะมีคดีความติดตัวต่อไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร และในอนาคตจะถูกวุฒิสภาถอดถอน และปปช.จะส่งให้ศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะฉะนั้นตนไม่ห่วงประธานวุฒิสภาเพราะถูกถอดถอนอยู่แล้ว แต่ตนห่วงสมาชิกว่าการลงมติวาระ 3 ของสมาชิกจะทำผิดกฎหมาย
นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ในวันที่ 28 ก.ย.เวลา 10.00 น. จะมีการประชุมสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ในวาระ 3 โดยจะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เชื่อว่าจะไม่มีความวุ่นวายเพราะเป็นการลงมติอย่างเดียว มีเพียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเท่านั้น ส่วนที่ฝ่ายค้านยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ขอชี้แจงว่า ในฐานะสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 90 นั้นชัดเจนว่า เป็นความยินยอมของรัฐสภา เรื่องนี้ไม่มีความกังวลใดๆ เพราะถือว่าเราทำหน้าที่รัฐสภาแล้ว ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะมีการพิจารณา
ส่วนการลงมติวาระ 3 โดยไม่รอคำวินิจฉัย จะเหมือนกับรัฐสภากำลังเปิดศึกกับศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอำนวย กล่าวปฏิเสธทันทีโดยบอกว่า เราทำตามหน้าที่ของรัฐสภา กฎหมายกำหนดแล้วเราต้องพิจารณา ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรนั้น ยังไม่ได้ประเมินไว้
ทั้งนีหากศาลสั่งระงับ แล้วมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะเหมาะสมหรือไม่ นายอำนวย กล่าวว่า ตนไม่ขอวิจารณ์ แต่เราทำหน้าที่ตามมาตรา 90 หลังจากรัฐสภาเห็นชอบแล้ว จึงส่งให้มีการโปรดเกล้าฯ
“เราทำตามหน้าที่ของเรา ส่วนศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ” นายอำนวย กล่าว
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในวันเสาร์ที่ 28 ก.ย.นี้จะมีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของส.ว.ในวาระ 3 ส่วนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ คาดว่าจะบรรจุระเบียบวาระในช่วงต้นเดือนตุลาคม และในช่วงปลายเดือน คาดว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะแล้วเสร็จในชั้นกมธ.และส่งให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระ 2
กำลังโหลดความคิดเห็น