xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.รุมอัด “นิคม” ท้ารบศาล รธน. “คำนูณ” จ่อยื่นตุลาการถามแค่ไหนขัด ม.68

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา (แฟ้มภาพ)
“ส.ว.ประสาร” จวก “นิคม” ท้ารบศาลรัฐธรรมนูญ ดื้อชำเราโหวตปั้น ส.ว.เลือกตั้งหากถูกเบรกวาระ 3 จี้ทบทวน “ส.ว.คำนูณ” เล็งยื่นถามศาลแค่ไหนขัด ม.68 ยันค้านเปลี่ยนคุณสมบัติทำวุฒิสภาหมดสภาพการตรวจสอบ ลั่นพร้อมเคารพคำวินิจฉัยไม่ยกพวกไปล้อม ด้าน ส.ว.กทม.โวยข่าวพีอาร์ลง นสพ.ระบุ 312 สมาชิกเมินศาลเป็นคณะรัฐสภา ถามเงินใครซื้อสื่อ

วันนี้ (16 ก.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. การประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 8 สมัยสามัญทั่วไป โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้หารือว่า จากการให้สัมภาษณ์ของประธานวุฒิสภาเกี่ยวกับการให้ความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญหากมีคำสั่งออกมาให้รัฐสภาระงับการลงมติในวาระ 3 ออกไปก่อนก็จะประสานงานให้ประธานรัฐสภาเปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อยืนยันสิทธิในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป ตนคิดว่าเป็นตรงนี้เป็นปัญหาที่จะต้องทบทวนว่า ในฐานะประธานเป็นองค์กรนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจรองรับไว้ชัดเจน ถือว่าท่านท้ารบกับศาลรัฐธรรมนูญ หมายความว่าต่อไปนี้จะไม่ยอมรับ ซึ่งความจริงท่านได้ลงชื่อร่วมกับ ส.ส.และส.ว.จำนวน 312 คน ไม่ยอมรับคำร้องตามมาตรา 68 แล้ว และครั้งนี้ก็เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่ง หากเป็นอย่างนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ท่านก็ไม่ยอมรับหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่จะมี ส.ส.ร. ก็จะไม่ยอมรับใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้น มีโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งจะสุ่มเสี่ยงต่อการทำหน้าที่อย่างสง่างาม และสมศักดิ์ศรี จึงขอให้ทบทวนด้วย

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การที่ประธานวุฒิสภาบอกว่าอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจตุลาการไม่ควรก้าวก่ายกัน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนเห็นด้วยครึ่งหนึ่ง เพราะในมาตรา 68 ซึ่งเป็นบทบัญญัติซึ่งคู่กับมาตรา 69 ที่มีขึ้นเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และควรอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 วันที่ 13 ก.ค. 55 โดยเฉพาะข้อความสำคัญในหน้า 23 ที่กล่าวว่า “เห็นว่าอำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมือง หรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชนที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ โดยถือว่าอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมาย และองค์กรทั้งหลายในการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้นใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายมาจากรัฐธรรมนูญนั้นเองกลับไปแก้รัฐธรรมนูญนั้นเหมือนการใช้อำนาจแก้กฎหมายธรรมดา” ซึ่งเป็นการกล่าวถึงการอำนาจก่อตั้งองค์กรทางการเมือง หรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นในครั้งแรก สมัยรัชกาลที่ 5 เคยใช้คำว่าอำนาจตั้งแผ่นดิน เป็นอำนาจที่อยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่ไปทำลายหลักการสำคัญที่สถาปนารัฐธรรมนูญ หรืออำนาจตั้งแผ่นดินวางไว้ มาตรา 68 คือบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ตรงนี้

“ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร คือการทำหน้าที่ ไม่ใช่การแทรกแซงก้าวก่าย การทำงานของรัฐสภา ซึ่งผมจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน บรรทัดฐานว่าอย่างไร แค่ไหน คือการกระทำขัดมาตรา 68 หรือคือการกระทำทำลายหลักการสำคัญของการสถาปนารัฐธรรมนูญ หรืออำนาจตั้งแผ่นดินวางไว้ ผมไม่ได้คัดค้านการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่คัดค้านการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติอาจทำให้วุฒิสภาหมดสภาพความป็นสภาตรวจสอบ สภาที่มาขององค์กรอิสระที่เป็นกลาง และสงสัยว่านี่คือการทำลายหลักการสำคัญที่อำนาจตั้งแผ่นดินวางไว้หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไรผมเคารพและจบเพียงแค่นั้น จะไม่มีการยกพวกไปล้อมศาลรัฐธรรมนูญ” นายคำนูณกล่าว

ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า มีเอกสารประชาสัมพันธ์ที่ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายชื่อของสมาชิกรัฐสภาจำนวน 312 คน ที่ระบุว่าไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ได้ใช้หัวเรื่องและที่อยู่ลงท้ายว่าเป็นคณะรัฐสภา และที่อยู่รัฐสภา ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชนได้ว่าเป็นสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่คัดค้านอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีแค่สมาชิกบางส่วนเท่านั้น ประกอบกับที่ประธานวุฒิสภาได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จึงมองว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 123 และขอถามว่าเอกสารดังกล่าวใช้เงินของใคร รัฐสภาใช่หรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้มีการแก้ไขด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น