กลุ่ม 40 ส.ว. ซัด ปธ.วุฒิฯ นัดประชุมร่วมรัฐสภา 7 ก.ย.มิชอบ ขัดข้อบังคับ เหตุ 6 ก.ย.สั่งปิดประชุมไม่ใช่พักประชุม นัด 9 ก.ย.ก็เป็นโมฆะ เจ้าตัวอ้างปธ.แจ้งที่ประชุมได้ และองค์ประชุมครบ 9 ก.ย.ลุยต่อได้ "สมชาย" สวนองค์ประชุมไม่ครบ ต้องนัดประชุมใหม่
วันนี้ ( 9 ก.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธาน กลุ่ม40 ส.ว. อาทิ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.นายสมชาย แสวงการ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เป็นต้น ได้สอบถามและท้วงติงกรณีวันที่6 ก.ย.นายนิคมนัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 7 ก.ย. ว่าเป็นการนัดประชุมที่ไม่ชอบ เพราะในวันที่6 ก.ย.เป็นการสั่งปิดการประชุมไม่ใช่สั่งพักการประชุม ฉะนั้นตามระเบียบข้อบังคับหากจะนัดประชุมต้องนัดล่วงหน้า3 วัน นอกจากนี้การนัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 9 ก.ย. ก็ถือเป็นโมฆะเช่นกัน เพราะเป็นการแจ้งนัดที่องค์ประชุมไม่ครบ
ด้านนายนิคม ชี้แจงว่า การนัดสมาชิกรัฐสภาให้มาประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่7 ก.ย. ประธานสามารถแจ้งในที่ประชุมได้ ถือว่าชอบด้วยเหตุและผล อย่างไรก็ตามการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่7 ก.ย. มีองค์ประชุมครบ โดยมีสมาชิกมาลงชื่อประชุมเกิน 325 ท่าน โดยมีส.ว.เลือกตั้ง79 ท่าน ขานชื่อ 44 ท่าน และส.ว.สรรหาลงชื่อ 35 ท่าน แต่ขานชื่อ 11 ท่าน ไม่ขานชื่อ24 ท่าน ฉะนั้นในวันที่ 9ก.ย.จึงสามารถกระทำได้
แต่นายสมชาย แย้งว่าประธานได้สั่งปิดการประชุมไม่ได้สั่งพักการประชุม อย่างไรก็ตามซึ่งการนัดประชุมล่วงหน้าประธานสามารถแจ้งในที่ประชุมได้ แต่เมื่อองค์ประชุมไม่ครบเพราะฉะนั้นจึงถือว่าไม่มีผล ดังนั้นการนัดประชุมใหม่ต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย3 วัน
จากนั้นนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ได้ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ
โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอฝากถึงนายนิคมขณะนี้ประชาชน 90 เปอร์เซ็นอยากให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องปากท้อง แต่วุฒิสภากลับกีดกันไม่ให้มีการปรึกษาหารือ มีการนัดประชุมหลายครั้งก็เป็นประโยชน์ส่วนตนของประธานวุฒิสภา และให้ยกเลิกการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 10 ก.ย.เป็นการใช้อำนาจประธานวุฒิสภางดประชุมเพื่อนำเวลามาประชุมร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ทำเหมือนวุฒิสภาเป็นสมบัติส่วนตัวของ ทำตามอำเภอใจ และรัฐธรรมนูญก็แก้ให้ประธานวุฒิสภาเองสมัครส.ว.ต่อได้โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานวุฒิ เพราะแก้มาตรา 5 (9) ผู้สมัครส.ว.ต้องไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หมายความว่าให้ประธานวุฒิสภาไม่ต้องลาออกก่อนลงสมัครส.ว.ในรอบหน้าได้
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนเคยชื่นชมประธานวุฒิสภาที่มีการประชุมวุฒิสัปดาห์ละ 2 วัน ทำให้การพิจารณาวาระค้างหมดไป รายงานของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่ไปศึกษา เสียงบประมาณจำนวนมาก ยังไม่ได้รายงานต่อที่ประชุมวุฒิสภา ดังนั้นการประชุม 2 วันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และที่ผ่านมาไม่เคยมีการประชุมครั้งไหนจะมาเบียดบังเวลาการประชุมวุฒิสภา อีกทั้งการจะเปลี่ยนเวลาการประชุมประธานวุฒิสภาต้องหารือกับรองประธานวุฒิสภาทั้งสองคน ต้องให้เกียรติกัน เพราะการทำงานของวุฒิมีความอิสระ แตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาไม่ได้เป็นอาณานิคมของใคร แม้ประธานจะชื่อนิคม จึงขอให้ทบทวนการเบียดบังเวลาการประชุม
ขณะที่นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภา 8 วัน 8 คืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉุกละหุก นัดประชุมทุลักทุเล ซึ่งเป็นประโยชน์ของนักการเมืองไม่เกิน 3 พันคน แต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย และประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีใครบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องเร่งแก้ไขให้เสร็จ มีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และการลงมติส่อว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการหักดิบ ขัดหลักความชอบธรรม ความโปร่งใส ตนคิดว่าเป็นเสียงข้างมากฉ้อฉลจะพากันไปลงนรก
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การประชุมวุฒิสภาถูกยกเลิกมาหลายครั้งมากทำให้มีเรื่องที่ค้างการพิจารณา 160 กว่าเรื่อง เพื่อนำเวลาไปประชุมร่วมแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง ประธานวุฒิสภากำลังใช้อำนาจที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ และยังมีการระบุอีกว่าหากการประชุมร่วมไม่เสร็จก็จะมีการเรียกประชุมไปเรื่อยๆ ซึ่งตนคิดว่าประธานฯไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจได้
ด้านนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า วุฒิสภาจะต้องหารือถึงการบริหารประชุมวุฒิสภา เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของตัวเอง ส.ว.ไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของสภาผู้แทนราษฎรที่สั่งนัดประชุมร่วมรัฐสภาไปตามอำเภอใจ เพราะส.ว.มีหน้าที่ในการกลั่นกรอง ตรวจสอบควบคุมการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่เครื่องมืองของผู้ใดที่ใช้ทำประโยชน์ของตัวเอง แต่ประโยชน์ส่วนรรวมปัญหาของประเทศกลับละเลยไม่ได้รับการแก้ไข