รัฐสภาประชุมที่มาวุฒิสภาต่อ “ส.ว.ประสาร” ถามชำเราเพื่อตัวเองหรือไม่ แถมมีปัญหาตลอด เร่งรีบเกิน “โจกนำแดงค้น รพ.จุฬาฯ” ลุกโวยเดินหน้าได้แล้ว “ธาดา” เชื่อไม่มีคนเตะถ่วงแต่จะเตะคนมากกว่า เถียงกันสนุกปากจน “นิคม” เอาบ้าง ขอเปิดใจเหมือน “ค้อนปลอม” โอ่อะลุ่มอล่วยสุดๆ แล้ว ป้องสมาชิกมีสิทธิ์ปิดอภิปราย ทำเสียงสะอื้น บอกอัดอั้นตันใจ
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมรัฐสภาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาวุฒิสภา เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.30 น.นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งวันนี้จะเป็นการพิจารณามาตรา 8 ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แทนตำแหน่งที่ว่างลง
นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส. ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ หารือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก การเสนอญัตติปิดอภิปรายทั้งที่สมาชิกผู้สงวนคำแปรญัตติจำนวนมากยังไม่ได้อภิปรายสมควรหรือไม่
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเราต้องเผชิญปัญหานี้ไปมากน้อยแค่ไหน ทำไมเวลาพิจารณาร่างอื่นๆ ไม่เกิดเหมือนแบบนี้ เช่น สมัย นายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภา ที่เราแก้ไขเรื่องเขตเลือกตั้ง ทำไมไม่เกิดเหตุแบบนี้ ทำไมครั้งนี้จึงเกิดปัญหา ตนจึงขอตั้ง 3 คำถาม ว่า 1.ใช่หรือไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นประโยชน์ ส.ส. ส.ว.เครือญาติ เทือกเถาเหล่าก่อในวงจำกัดเท่านั้น มีที่ไหนในโลกที่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสวยผลให้ตัวเอง เป็นเรื่องน่าอาย 2.ใช่หรือไม่ที่ขบวนการทั้งหมดที่มีปัญหาตลอดทาง จี้ตรงไหนก็พล่านตรงนั้น จะพูดอะไร ก็ใช้หนึ่งประธาน พออีกเรื่องหนึ่งก็ใช้อีกประธานหนึ่ง และทั้งสองประธานก็สองมาตรฐาน ประธานบอกมีเหตุผล อีกฝ่ายหนึ่งก็มีเหตุผลชอบธรรม ขบวนการมีปัญหาตลอดทาง และ 3.เร่งร้อนเร่งรีบ เร่งรัด มีความจำเป็นที่จะเร่งรัด จะให้เสร็จภายใน 4 เดือนใช่หรือไม่ เชื่อว่าเดินหน้ายาก เพราะความดันทุรังของเสียข้างมากที่ฉ้อฉล
เมื่อเอ่ยมาถึงตอนนี้ นายนิคม ได้พยายามตัดไม่ให้นายประสาร พูดต่อ ขณะที่ นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประท้วงประธานให้ดำเนินการประชุมได้แล้ว เพราะผ่านมาชั่วโมงครึ่งแล้ว เกรงจะหารือเกินเลยมากกว่านี้ เพราะหารือแต่เรื่องเดิมๆ ที่ฟังๆ มาทุกครั้ง
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ประท้วงขอให้ถอนคำว่าเสียงข้างมากที่ฉ้อฉล เชื่อว่ามีความพยายามเตะถ่วงให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้ดำเนินการไปได้
ขณะที่ นายธาดา ไชยเศรษฐ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา ลุกขึ้นกล่าวด้วยสีหน้าขึงขังว่า ขอให้ถอนคำว่ามีบางคนพยายามเตะถ่วง “ผมคิดว่า ไม่มีใครเตะถ่วงแต่จะเตะคนมากกว่า”
จนในที่สุด นายประสาร กล่าวว่า ตนยินดีถอนคำพูดเรื่องเสียงข้างมากที่ฉ้อฉล ฝ่าย นายธาดา กล่าวว่าขอถอนคำว่า ไม่มีใครเตะถ่วงแต่จะเตะคนออกไป แต่อยากแสดงความเห็นว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขครั้งนี้เขาใช้ทฤษฎีอะไรตนไม่รู้ที่ต้องการยืดเวลาออกไปในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ใช้ทฤษฎีปิดอภิปราย จึงไม่มีใครผิดถูก แต่วันนี้ตนเสนอว่าการที่จะไม่ให้อภิปรายเลยคงไม่ถูกต้อง หรือเยิ่นเย้อยาวนานก็ไม่ถูกต้อง ประธานใช้อำนาจให้เด็ดขาดว่าจะให้ฝ่ายไม่เห็นด้วยพูดกี่ชั่วโมงก็ไปบริหารเวลาเอา หลายคนก็อภิปรายด้านดีมีหลักคิด ประธานต้องมีกรอบให้เข้าเดินในทางที่ไปได้ เพื่อให้การประชุมเดินไป บางครั้งการเป็นผู้นำต้องมีความเด็ดขาด
มีรายงานว่า การถกเถียงยังดำเนินต่อไป โดยมีเสียงบางคนตะโกนให้ปิดการหารือ จนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การที่วิป 3 ฝ่ายทำงานไม่ได้ เพราะไม่เคารพข้อตกลงในสัญญาที่ให้กันไว้ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยของนายอภิสิทธิ์ ก็เป็นการแก้มาตรา 190 และระบบเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ได้แก้ไปเพื่อนำไปสู่การเกิดสภาผัวเมีย หรือสภาผลัดกันเกาหลัง
ด้าน ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า ที่บอกว่ารัฐบาลพยายามรวบรัดนั้น ถ้าจะนับเวลาจนถึงขณะนี้แล้วฝ่ายค้านใช้เวลาไป 28 ชั่วโมง 24 นาที 31 วินาทีรัฐบาลใช้ 1 ชั่วโมง 25 นาที ส.ว.ใช้ไป 15 ชั่วโมง 15 นาที แต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านในขณะนั้นใช้เวลาไปเพียง 9 ชั่วโมงเท่านั้น
หลังจากสมาชิกใช้เวลาถกเถียงกันร่วม 2 ชั่วโมง นายนิคม ได้กล่าวว่า ตนขอเปิดใจทำไมไม่อยากเป็นประธานวิป 3 ฝ่าย เพราะเชิญตนมาเป็นประธาน เมื่อประชุมกันแล้ว ก็ตกลงกันว่า เลิกประมาณสี่ทุ่ม ส่วนเวลาที่แบ่งก็คิดตามสัดส่วน ส.ส.และ ส.ว.ตนพยายามเป็นประธานที่อะลุ่มอล่วยมากที่สุดแล้ว ได้กำชับว่าอภิปรายเสร็จในมาตราแล้วต้องไม่วกวนก้าวก่ายคนอื่น และเมื่อสมาชิกคนอื่นฟังแล้วเห็นว่าก้าวก่าย ซ้ำซาก สมาชิกมีสิทธิ์ขอปิดอภิปรายได้เช่นกัน นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นขอความเห็นใจจากสมาชิกด้วย
มีรายงานว่าระหว่างคำพูด นายนิคม กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ จน นายประเสริฐ สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอประธานอย่าพูดไปสะอื้นร้องไห้ไป แต่ นายนิคม กล่าวว่า ตนไม่ร้องไห้ แต่รู้สึกอัดอั้นตันใจ
นายประเสริฐ กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิ์เห็นต่าง เมื่อประธานชี้แจงมาพวกตนก็รับฟัง แต่ถ้าเห็นว่าชี้แจงไม่ถูกต้องพวกตนก็ชี้แจงต่อไป เป็นการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย พวกตนควรได้สิทธิ์เท่ารัฐบาลเพราะมีความเห็นต่าง จำเป็นต้องมีเวลาอภิปรายมาก
จนเมื่อเวลา 12.00 น.ที่ประชุมได้เริ่มเข้าสู่วาระพิจารณา ม.8 ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แทนตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งมีสมาชิกได้สงวนคำแปรญัตติ 94 คน โดยมีการเสนอความเห็นหลากหลาย