ส.ว.กทม.พร้อม ส.ว.เลือกตั้ง ยื่นศาล รธน.สั่งแก้ที่มา ส.ว.เป็นโมฆะ ชะลอพิจารณาวาระ 3 ยันแก้ รธน.ไม่ชอบด้วย กม. เร่งให้ทันเลือกตั้งใหม่ ส.ว. ชี้ ม.5 ถกกลับไปกลับมา ขัด รธน. แถมองค์ประชุมไม่ครบ และส.ว.เลือกตั้งที่ลงมติมีส่วนได้เสีย สำเร็จองค์กรตรวจสอบรัฐฯ สูญเสีย ย้ำ ส.ว.เลือกตั้งต้องคนละฐาน ส.ส. ห้ามเป็นเครือญาติ หวั่นเป็นฐานการเมือง ปูด แต่ละพรรคมีบัญชีรายชื่อ ส.ว
วันนี้ (23 ก.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง นางสุมล สุตตะวิริยวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ใช้สิทธิตามรัฐธรรมมาตรา 68 ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. และสั่งให้การแก้ไขดังกล่าวเป็นโมฆะ พร้อมกับขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินสั่งชะลอการประชุมพิจารณาญัตติดังกล่าวในวาระที่ 3 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 ก.ย.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
น.ส.รสนากล่าวว่า ที่ต้องยื่นคำร้องเนื่องจากเห็นว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการพิจารณาแต่ละมาตรากลับไปกลับมา มีการรีบเร่งผิดขั้นตอน ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) ได้กำหนดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หากจะมีการแก้ไขในวาระที่ 2 การพิจารณาแต่ละมาตราต้องเป็นไปตามลำดับ แต่ข้อเท็จจริงพบว่าการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมในที่มา ส.ว.ในมาตรา 5 ประธานที่ประชุมมีการตัดสิทธิผู้ที่ยื่นญัตติเหลือเพียงไม่กี่คน ต่อมามีการเสนอลงมติเพื่อปิดอภิปราย จากนั้นในวันรุ่งขึ้นก็กลับมีการพิจารณามาตรา 5 ใหม่
นอกจากนี้ เห็นว่าองค์กรวุฒิสภาเป็นองค์กรกลุ่ม การพิจารณากฎหมาย รัฐธรรมนูญกำหนดว่าหากองค์ประชุมไม่ครบ ก็จะทำให้กฎหมายนั้นตกไป ซึ่งนอกจากเรื่ององค์ประชุมแล้ว ยังมีเรื่องขององค์มติคือเสียงข้างมากในที่ประชุม ที่กฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่จะลงมตินั้น ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าว แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ส.ว.ที่พิจารณาในเรื่องนี้ล้วนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 122 และ มาตรา 3 วรรค2 ที่กำหนดว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม รวมทั้งการแก้ที่มาของ ส.ว. หากทำสำเร็จ จะทำให้การเป็นองค์กรถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจรัฐสูญเสียไป จากเหตุทั้งหมด จึงเห็นว่าการแก้ไขดังกล่าวทำให้การตรากฎหมายเสียไปทั้งฉบับ และเป็นไปเพื่อให้ทันกับ ส.ว.ที่จะหมดวาระในวันที่ 2 มี.ค. 57 ซึ่งจะสามารถลงเลือกตั้งใหม่ได้ทันที
“ถ้าจะให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรที่จะมาจากคนละฐานเสียงกับ ส.ส. และควรกำหนดคุณสมบัติที่ต้องไม่เป็นเครือญาติกับ ส.ส. หรือกำหนดให้มาจากองค์กรกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เพราะไม่ฉะนั้นจะทำให้ ส.ว. กลายเป็นฐานของพรรคการเมือง ซึ่งเวลานี้พบว่ามีการจัดบัญชีรายชื่อผู้ที่จะลงสมัคร ส.ว. ในแต่ละจังหวัดของแต่ละพรรคการเมืองไว้ เป็นบัญชีที่ 3-4 ต่อจากบัญชีผู้สมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ” น.ส.รสนากล่าว