xs
xsm
sm
md
lg

พตส.ระดมสมองปฏิรูป ก่อนชง กมธ.ยกร่างฯ “ปริญญา” แนะเลือกตั้งแบบเยอรมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (แฟ้มภาพ)
สถาบันพัฒนาการเมืองฯ ระดมความเห็นปฏิรูปเลือกตั้ง ก่อนส่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา “ปริญญา” ระบุถ้าจะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งต้องปราบคอร์รัปชัน ที่มีจุดอ่อนให้ทหารเข้ามา แนะแบ่งแยกอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการให้ชัด พร้อมเชียร์ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน เชื่อยุติธรรมกับทุกพรรคการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ได้จัดสัมนาระดมความคิดเห็นนักศึกษาหลักสูตร พตส.ตั้งแต่รุ่นที่ 1-5 เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการเลือกตั้ง

นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดการสัมมนาว่า ขณะนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำลังเปิดรับฟังข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น ตลอดจนกรอบแนวคิดจากทุกภาคส่วน เพื่อรวบรวมข้อมูลให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งถือว่ากำลังอยู่ในการแก้ไขปัญหาระยะที่ 2 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การระดมความคิดเห็นใน 4 ประเด็นหลักคือ การควบคุมและจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม การส่งเสริมและสนับสนุนพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่เข้มแข็ง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนและประชาธิปไตยทางตรง และกรอบแนวคิดในการปฏิรูปการเมืองและการเลือกตั้ง

“แม้ กกต.จะไม่มีหน้าที่อยู่ใน สปช. แต่ก็มีเจ้าหน้าที่และผู้บริหารของ กกต.เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในกรรมาธิการหรือคณะอนุกรรมาธิการในด้านต่างๆ ความเห็นที่เกิดขึ้นวันนี้ มั่นใจว่าจะไม่จบอยู่แค่ในห้องนี้ เชื่อว่าจะมีช่องทางต่างๆ ที่จะเสนอหรือถ่ายทอดออกไปได้”

จากนั้นนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวนำถึงปัญหาการเมืองและการเลือกตั้งให้แก่นักศึกษา พตส.ก่อนที่จะมีการไประดมความคิดเห็น โดยนายปริญญากล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาทำไมประชาธิปไตยจึงไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ตั้งแต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เกิดเหตุการณ์นองเลือด 5 ครั้ง เหตุการณ์ล่าสุดคือเดือน ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา ต้องตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่กำลังร่างกันอยู่นี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้จริงหรือไม่ เห็นว่าถ้าเราไม่รู้ถึงปัญหาที่แท้จริง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็ยากที่จะอยู่ถาวร สาเหตุสำคัญของการยึดอำนาจทุกครั้งส่วนใหญ่เกิดมาจากการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง มันมีคำถามต่อว่าประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็งทำให้การคอร์รัปชั่นมีน้อย หรือการคอร์รัปชั่นมีน้อยประชาธิปไตยจึงเข้มแข็ง สิ่งสำคัญ คือ เรื่องของระบบกับเรื่องของคนต้องดีทั้งคู่ ประชาธิปไตยที่ดีต้องให้ประชาชนมองเห็นได้ ถ้าจะปราบคอร์รัปชั่นให้หมดไปต้องทำประชาธิปไตยให้เข็มแข็งเสียก่อน แต่ที่ประเทศไทยมีปัญหาเพราะกำลังทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม

“ผู้นำเผด็จการทั่วโลกเกิดจากการเป็นวีรบุรุษของชาติมาก่อน เพียงแต่อยู่ในอำนาจนานเกินไป พอยิ่งอยู่นานเข้าประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนตนแยกกันไม่ออก การป้องกันเผด็จการอย่างระบอบประชาธิปไตยจึงต้องให้มีการเลือกตั้งทุกระยะ แต่ข่าวร้าย คือ ระบบรัฐสภาในประเทศไทยมีจุดอ่อน คือรัฐบาลอาจเป็นเผด็จการควบคุมทุกอย่าง ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลมีแต่ฝ่ายค้านที่เป็นเสียงข้างน้อย หรือไม่ก็รัฐบาลปวกเปียกไร้ประสิทธิภาพ เนื่อง จากการดึงพรรคอื่นให้มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็มักจะมีการการันตีตำแหน่งทางการเมืองและรัฐบาลจะไม่ค่อยไปยุ่งในงานของพรรคร่วมเพราะเกรงว่าจะถูกถอนตัว ส่วนปัญหาอีกประการหนึ่งคือ บรรดา ส.ส.ต้องจงรักภักดีต่อพรรคการเมือง เพราะจะทำให้พรรคส่งเป็นตัวแทนลงสมัครเลือกตั้ง วิธีแก้ปัญหาคือ ต้องทำให้เกิดการแบ่งแยกอำนาจที่ชัดเจน ทำให้คนแบ่งเค้กกับคนกินเค้กเป็นคนละส่วน ฝ่ายตุลาการต้องตรวจสอบฝ่ายบริหารไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ออกกฎหมายที่ดีให้ฝ่ายตุลาการนำไปใช้”

นายปริญญากล่าวว่า ปัญหาต่อมาจากการเลือกตั้งในประเทศไทยนั้น คือ ระบบการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนอันดับหนึ่งจะได้ที่นั่ง ส.ส.มากกว่าความเป็นจริง แต่พรรครองลงมาจะได้ที่นั่ง ส.ส.ที่น้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้รัฐบาลเข้มแข็งกว่าความเป็นจริงและฝ่ายค้านก็อ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้งในโลกนี้จะมีสองระบบหลักคือระบบเสียงข้างมากที่แบ่งได้เป็นระบบเสียงข้างมากแบบธรรมดาและระบบเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด ซึ่งเสียงข้างมากแบบธรรมดา พรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดแม้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งของผู้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดก็จะชนะการเลือกตั้ง ส่วนเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด คือ ต้องชนะการเลือกตั้งให้ได้คะแนนมากกว่าครึ่ง

ส่วนระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ที่เราคุ้นเคยกันคือระบบบัญชีรายชื่อ โดยจะแบ่งเป็นบัญชีปิด ที่พรรคจะเลือกอันดับของ ส.ส. แต่หากเป็นบัญชีเปิดประชาชนจะมีสิทธิเลือกอันดับ ส.ส.ในลิสต์ด้วยตัวเอง จึงเห็นว่าระบบบัญชีเปิดน่าสนใจที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย จะได้แก้ปัญหาอิทธิพลจากนายทุนพรรค

นายปริญญากล่าวว่า หรืออีกระบบหนึ่งเรียกว่าระบบเลือกตั้งแบบผสม ที่เอาระบบเสียงข้างมากและระบบสัดส่วนมารวมกัน แบ่งได้เป็น 1. ระบบผสมแบบคู่ขนาน ที่ระบบเสียงข้างมากและสัดส่วนจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย ซึ่งประเทศไทยก็ใช้ระบบนี้ และ 2. แบบใช้คะแนนสัดส่วนกำหนดจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่แต่ละพรรคจะได้ แบบที่ประเทศเยอรมันใช้ โดยมีวิธีคือ รวมคะแนนแบบสัดส่วนของทุกพรรคทั้งประเทศ คะแนนสัดส่วนคือคะแนนที่กำหนดจำนวนของ ส.ส.ทั้งหมดที่แต่ละพรรคจะได้ และนำจำนวน ส.ส.แบบเสียงข้างมากมาหักออกที่เหลือคือ ส.ส.แบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อ เห็นว่าระบบนี้เหมาะสมกับประเทศที่มีความขัดแย้งสูง เพราะที่นั่งในสภาจะตรงกับความเป็นจริงและจะมีการประนีประนอมกว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะสะท้อนความเข็มแข็งที่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นการเลือกตั้งแบบเยอรมันจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุด

“พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย คงไม่ชอบวิธีการเลือกตั้งแบบนี้เพราะจะได้ที่นั่งน้อยลง และจะทำให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงรองลงมาจะมีสัดส่วน ส.ส.เพิ่มมากขึ้น ส่วนตัวจึงมองว่านี่คือระบบเลือกตั้งที่เป็นธรรมที่สุด ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองใดชนะหรือแพ้ตลอด”

นายปริญญากล่าวว่า การแก้ปัญหาการเมืองไทยอีกสิ่งหนึ่งต้องตั้งประเด็นว่า รัฐธรรมนูญควรจะหนาแค่ไหน ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไทยหนาขึ้นเรื่อยๆ จากฉบับแรกที่มีสามพันกว่าคำกลายเป็นสี่หมื่นคำ ถามว่าหนาขึ้นแล้วทำให้ดีขึ้นหรือไม่ ยิ่งหนากลับยิ่งแก้ปัญหาไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น มาตราที่เกี่ยวกับ ส.ส.และส.ว.ที่มีการเพิ่มคำในมาตราทุกครั้งที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากบรรทัดเดียวกลายเป็นสี่บรรทัด หรือการที่ต้องการให้ ส.ส.ไม่ผูกมัดกับหรืออยู่ใต้อาณัติใคร แต่ข้อเท็จจริง ส.ส.ต้องสังกัดพรรคเท่านั้น เราเขียนอะไรกันมากมาย แต่กลับลืมเขียนการแบ่งแยกอำนาจที่ชัดเจน จริงๆ การมีประชาธิปไตยที่ดี ต่อให้ขัดแย้งแค่ไหน ถ้าทุกฝ่ายว่ากันตามกติกาก็เพียงพอ เปรียบเทียบกับการเล่นฟุตบอล หากผู้เล่นไม่ฟังกรรมการ หรือกรรมการเองไม่เที่ยงธรรม จนกลายเป็นผู้เล่นทะเลาะกัน คนดูทะเลากัน สุดท้าย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็เข้ามาสั่งยุติการแข่งขัน ถ้าคนเล่นฟุตบอลตามกติกาทหารจะมายุ่งหรือไม่

“ผู้ควบคุมการแข่งขันที่แท้จริงคือประชาชน ประชาชนต้องรู้กติกา ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรหนาเกินไป รัฐธรรมนูญที่ดีอย่างที่ประเทศอเมริกาใช้นั้นก็มีความหนาเพียงแค่เจ็ดพันคำเท่านั้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น