ปธ.สปช.เผยตั้ง กมธ.ยุทธศาสตร์ 3 คณะ ช่วยงานปฏิรูป ยันการต้านรัฐไม่กระทบ ปชช.เข้าใจไม่น่าห่วง “วันชัย” ชี้อัยการศึก ไร้ปัญหาปฏิรูป เหตุปล่อยปลุกระดม จะยิ่งบานปลาย แนะแก้ปากท้อง ทำสถานการณ์เบาลง คณบดีรัฐศาสตร์ มสธ. จี้รัฐจัดเวทีคุยหาทางออก อย่าใช้กำลัง ฟังกลุ่มเห็นต่าง-อนุ กมธ.ลุยวางกรอบยกร่างฯ ชี้เรื่องดีการเมือง ทยอยให้ความเห็น
วันนี้ (23 พ.ย.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ขณะนี้จะมีการตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ขึ้นมา 3 คณะ เพื่อช่วยงานประธาน สปช. คือ 1. ดูแลเรื่องทั่วไปในการปฏิรูป 2. เพื่อประสานงานภายในคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะ โดยกรรมการจะมาจากประธาน กมธ.แต่ละชุด 3. เพื่อสื่อสารระหว่างภายใน กมธ. รัฐบาล สื่อมวลชนและประชาชนให้ได้ทราบความเคลื่อนไหวในการทำงานของ สปช. ทั้งนี้ การตั้งคณะกรรมการทั้ง 3 คณะเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานของตน เพราะตนยอมรับว่าไม่มีความรู้ในทุกๆ เรื่อง และเพื่อทำให้งานด้านการปฏิรูปประสบผลสำเร็จโดยเร็ว
นายเทียนฉายกล่าวต่อว่า ปัญหาความขัดแย้งและกระแสการต่อต้านรัฐบาลในหลายพื้นที่ตอนนี้ ยังไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของ สปช. แต่หากพบว่ามีปัญหาอะไรก็ต้องรีบแก้ไขทันที โดยจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่าเราเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศให้ไปสู่ทางที่ดี และตนเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจการเข้ามาทำงานของเรา ส่วนการที่จะลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน สปช.ได้มีการประสานไปยังหน่วยงานความมั่นคงอยู่แล้ว รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดในการอำนวยความสะดวก พวกเขารู้ว่าพื้นที่ไหนมีความต้องการอะไร ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าห่วง ทั้งนี้ตนหวังว่าการทำงานของ สปช.ในการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จด้วยดี
ส่วนนายวันชัย สอนศิริ สปช.ในฐานะโฆษกวิป สปช.กล่าวว่า กฎอัยการศึกไม่เป็นปัญหาต่อการปฏิรูปประเทศ แต่หากรัฐบาลและ คสช.ใช้อำนาจตรงนี้เป็นจะเป็นการเสริมให้การปฏิรูปมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่หากมีการปล่อยฟรีให้กลุ่มหรือบุคคลต่างๆทำอะไรได้ตามใจชอบ อาจจะเป็นปัญหาต่อการปฏิรูปได้ ทั้งการปลุกระดมกระแสการต่อต้าน ปลุกม็อบขึ้นมา ทำให้เหตุการณ์บานปลายมากขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งหากรัฐบาลและ คสช.ต้องการให้สถานการณ์เบาบางลงไม่ควรที่จะไปใช้กำลังหรือกฎหมายเข้าสู้ แต่ควรจะเน้นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ นำเม็ดเงินกระจายลงสู่ทุกพื้นที่ เพราะหากสามารถแก้ไขปัญหาปากท้องได้กระแสการต่อต้านและปัญหาความขัดแย้งจะเบาบางลงได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องปัญหาปากท้องมากกว่าปัญหาการเมือง หากพวกเขาท้องอิ่ม คนที่จะไปปลุกกระแสต่อต้านก็จะไม่มีผล
ด้านนายยุทธพร อิสรชัย คณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า กระแสความขัดแย้งและต่อต้านรัฐบาลวันนี้มีการขยายตัวมากขึ้นในหลายพื้นที่ รัฐบาลควรจัดเวทีให้ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กติกาเดียวกันพูดคุยเพื่อหาทางออก ใช้หลักของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ควรใช้กำลังหรือกฎหมายเข้าปราบปราบกลุ่มคนที่ต่อต้านหรือเห็นต่าง เพราะกลุ่มที่ต่อต้านอาจจะลงใต้ดินทำให้เป็นปัญหาที่จะแก้ได้ยากมากขึ้น ส่วนที่กรณีที่มีบุคคลชู 3 นิ้วตามสถานที่ต่างๆ ก็ถือว่าทำได้ตามหลักสิทธิเสรีภาพ หากทำเชิงสัญลักษณ์ไม่ได้ใช้ความรุนแรงก็คงจะไม่เสียหายอะไร แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการเข้ามาพูดคุยกันในระบบ รัฐบาลต้องหาทางรับฟังความเห็นจากพวกเขาเหล่านั้น
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ว่าด้วยนิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ทางอนุ กมธ.จะมีการประชุมเพื่อวางกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญในประเด็นเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐว่าจะต้องตรวจสอบเรื่องใด ตรวจสอบใคร และใช้กลไกใด จากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาเนื้อหาสาระในส่วนขององค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชน 77 จังหวัด ว่ารูปแบบการดำเนินงานและกรอบอำนาจหน้าที่ควรจะเป็นอย่างไรและหน่วยงานใดจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการช่วยประสานการทำงาน
นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเชิญพรรคการเมืองและกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นทราบว่าในช่วงเช้าวันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน ทางกปปส. ก็จะส่งตัวแทนเข้ามาหารือกับทางกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ประสานมาว่าจะส่งผู้บริหารระดับสูงซึ่งมีบทบาทสำคัญของพรรคมาเป็นตัวแทนในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเป็นวันและเวลาใดนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน ทั้งนี้มองว่าการที่พรรคการเมืองและกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองให้ความร่วมมือมาเสนอความคิดเห็นต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายมาก เพราะความเห็นและข้อมูลที่เสนอมานั้นก็จะถูกนำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่