xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.สปช.รับสมาชิกอึดอัดทหารขู่ไทยพีบีเอส เปิดตัวศูนย์รับฟังปชช. 17พ.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เทียนฉาย” จี้สำนักเลขาฯ สปช.ทำงานลัด เชื่อปฏิรูปเป็นจริงได้ รับกังวลการฟังความเห็นชาวบ้าน เผยสมาชิกอึดอัดเหตุทหารขู่ไทยพีบีเอส แต่เชื่อไม่มีผลกระทบระหว่างสื่อกับสภา แย้มจันทร์หน้าเปิดตัวศูนย์รับฟังความเห็น พร้อมนัด 18 ปธ.กมธ.และตั้งเพิ่มอีก 2 ชุด หนุนพรรคขออนุญาต คสช.

วันนี้ (14 พ.ย.) ที่ห้องประชุมรักตะกษิฐ โรงแรมสวนดุสิตเพลส มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง มุมมองในการปฏิรูปประเทศ ทิศทางในการดำเนินงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในงานสัมมนาโครงการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานสนับสนุนกระบวนการนิติบัญญัติสปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างมืออาชีพตอนหนึ่งว่า สำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎร ฐานะเลขาธิการ สปช.ต้องปรับรูปแบบการทำงานให้รวดเร็ว ใช้วิธีลัด รวมถึงปรับแนวคิด วิธีการทำงานที่ไม่ยึดรูปแบบเหมือนสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาการเมืองเพราะ สปช.มีภารกิจที่เป็นไปตามเงื่อนไขคือกรอบเวลาเพียง1 ปี และกรอบการทำงานตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ระบุไว้โดยภารกิจหลักคือ พิจารณาปัญหาที่หมักหมกมาชั่วนาตาปี และเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน, ระบอบประชาธิปไตย รวมถึงเป็นตัวถ่วงไม่ให้ประเทศไทยเดินหน้า ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมตามที่พึงเป็น อย่างไรก็ตาม การทำงานของ สปช.มีความยาก ทั้งเรื่องความเป็นเอกภาพของสมาชิก สปช.250 คน ที่มาจากการสรรหา 173 คนและคัดสรรจาก 77 จังหวัด และความคาดหวังของประชาชนทั้ง 64 ล้านคน

“ผมเชื่อว่าการปฏิรูปจะทำให้เป็นจริงได้ ไม่ใช่แค่ความเพ้อฝันหรือเพ้อเจ้อหากได้วางกรอบการปฏิบัติที่ฉายภาพอนาคตได้เมื่อไม่กี่วันนี้ ผมได้รับโทรศัพท์จากบุรุษคนหนึ่ง ถึง 3 ครั้ง เขาบอกเล่าถึงวิธีแก้ปัญหารถติดใน กทม.และอยากเจอผมเพื่อบอกถึงแผนแก้ปัญหารถติดตามสี่แยกไฟแดง ผมบอกว่าให้เขียนเป็นข้อมูลมา จะ 500 แยกก็เขียนมา สิ่งที่พูดไม่ใช่ประชด แต่ต้องการบอกว่ามีประเด็นที่ประชาชนอึดอัดอีกมากที่เป็นทุกข์รอการแก้ไข ดังนั้นประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาปฏิรูป แต่สำนักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปฯต้องมีช่องทางรับฟังความอึดอัดเหล่านี้ และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่เพื่อให้เขาแก้ปัญหาเรื่องจะได้จบๆ” นายเทียนฉายกล่าว

นายเทียนฉายกล่าวด้วยว่า มีสิ่งที่ตนกังวล คือ การรับฟังความเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ไม่กำหนดคำนิยามหรือความหมายให้ชัดเจน ตนขอยกตัวอย่างว่า มีการชุมนุมในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ศาลากลางจังหวัด แล้วมี สปช.ไปร่วมรับฟัง จะถือเป็นการรับฟังความเห็นหรือไม่ ทั้งนี้มีเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการรับฟังความเห็นของประชาชนภายใต้กรรมาธิการรับฟังความเห็นจะเริ่มทำงาน เมื่อช่วงเวลา 11.00 น.ของวันที่ 14 พ.ย. สมาชิก สปช. ในกลุ่มแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) ที่อึดอัดและแสดงความเห็นจำนวนมาก คือ กรณีที่เกิดกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ถูก คสช.ระงับการทำและออกรายการหนึ่งของสถานีไทยพีบีเอส โดยประเด็นที่สะท้อนคือมีประชาชนที่ต้องการสะท้อนความเห็นแบบเร็ว แรง และจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งที่ สปช.กับกระบวนการรับฟังความเห็นต้องทำเร่งด่วนคือ กำหนดกระบวนการทำงาน มีระเบียบรองรับการทำงานที่ชัดเจน

“ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อ 11.00 น.คงจะเกิดขึ้นอีก เพราะความร้อนใจของ สปช. ซึ่งกระตุ้นให้ประชาชนให้ความเห็น รัฐบาลเขาพูดชัดอยู่ระหว่างการประกาศใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึก แต่การปฏิรูปยังทำได้โดยไม่ต้องยกเลิกกฎอัยการศึก เรามีวิธีที่ง่ายและสามารถทำได้ โดยวันที่ 17 พ.ย.นี้จะมีคำตอบ แต่ไม่ใช่ให้ผมไปขออนุญาต คสช. แต่ได้วางหลักทำงานร่วมกัน ด้วยการเปลี่ยนศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สภาผู้แทนราษฎร เป็นศูนย์รับฟังความเห็นประชาชนเพื่อการปฏิรูป ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 17 พ.ย.นี้” นายเทียนฉายกล่าว

ประธาน สปช.กล่าวด้วยว่า สำหรับการทำงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะ ยังขาดการเชื่อม และประสานการทำงานร่วมกัน ดังนั้นวันที่ 17 พ.ย.นี้ตนจะนัดประธาน กมธ.ปฏิรูป 18 คณะประชุมหลังเสร็จประชุม สปช. แล้วเพื่อเตรียมการทำงานดังกล่าว นอกจากนั้นจะมี กมธ.คณะพิเศษอีก 2 คณะ คือ กมธ.อนาคตประเทศไทย (Thailand Future) ที่ประกอบด้วยบุคคลภายนอกที่เชี่ยวชาญ และ กมธ.บันทึกและจดหมายเหตุ มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะร่วมดำเนินการ

ต่อมาเวลา 15.15 น. นายเทียนฉายให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการรับฟังความประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศว่า ในวันที่ 17 พ.ย.จะมีการเปิดตัวคณะกรรมาธิการรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งการทำงานของคณะกรรมาธิการดังกล่าวจะมีการวางกระบวนการวิธีการรับฟัง และเทคนิคการรับฟังความเห็น โดยจะมีการรับฟังความเห็นอย่างโปร่งใส รอบด้าน ซึ่งการรับฟังความเห็นที่ได้ต้องไม่มีความเป็นอคติซึ่งต้องระวังเป็นอย่างมาก ส่วนที่ยังมีบางฝ่ายอิดออดไม่เข้าร่วมการแสดงความเห็นนั้น เชื่อว่า กลุ่มคนที่ยังลังเลจะเข้ามาทำงานเพื่อประเทศแน่นอน แต่ขอให้เวลาสักนิด ทั้งนี้ คงต้องมีการประสานงานไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

ส่วนกรณีที่ คสช.มีคำสั่งระงับการนำเสนอเนื้อหารายการเสียงประชาชน ทางสถานีไทยไทยพีบีเอสนั้น นายเทียนฉายกล่าวว่า เชื่อว่าจะไม่เกิดผลกระทบการทำงานระหว่างสภาปฏิรูปกับสื่อมวลชน ที่ผ่านมาสื่อยังให้ความร่วมมือเรื่องการปฏิรูปเป็นอย่างดี มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเล็กน้อย และไม่สามารถนำไปขยายผลได้ ไม่คิดว่า คสช.หรือรัฐบาลเข้ามาก้าวก่าย

เมื่อถามว่า มีบางพรรคการเมืองต้องการให้ประธาน สปช. ประสาน คสช.ให้ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎอัยการศึก นายเทียนฉาย กล่าวว่า หน้าที่ของสปช.คือการทำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งงาน สปช.แยกออกจากภารกิจอื่นๆ ดังนั้น บางกิจกรรมที่ คสช.อธิบายว่า ต้องขออนุญาตก่อน เป็นสิ่งที่ควรทำ ส่วนที่มีนักการเมืองบางคนเสนอให้ สปช. ทำความเห็นไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้แก้ไขมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดกว้างการรับฟังความเห็นนั้น สปช.ไม่มีหน้าที่ไปแก้ปัญหาเหล่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและ คสช. ที่ต้องพิจารณาตามเกณฑ์และความเหมาะสม














กำลังโหลดความคิดเห็น