xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.สนช.ถกนอกรอบ กมธ.วางปฏิทินร่าง รธน. 4 ก.ย. 58 นำขึ้นทูลเกล้าฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ระหว่างเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เช้าวันนี้ (5 พ.ย.)
“บวรศักดิ์” หารือไม่เป็นทางการกับ กมธ.ยกร่างฯ วางกรอบปฏิทินการทำงาน ดีเดย์ร่าง รธน. ม.ค. 58 ไปถึง 17 เม.ย.เสร็จ 4 ก.ย. 58 นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย “นคร” เผยเดินสายจัดเวทีรับฟังความเห็น 77 จังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 พ.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ประชุม กมธ.ยกร่างฯ อย่างไม่เป็นทางการ โดยมี กมธ.ยกร่างฯ มาร่วมประชุม จำนวน 34 คน ส่วนอีก 2 คน คือ นายจรัส สุวรรณมาลา และ น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา ไม่ได้ร่วมประชุมเนื่องจากติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในช่วงช้าเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์เพื่อละลายพฤติกรรม โดยมีอาจารย์จากภาควิชาสันทนาการ คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้นำทำกิจกรรมดังกล่าว จากนั้นเวลา 12.00 น.ได้รับประทานอาหารร่วมกันที่สโมสรรัฐสภา ก่อนที่ช่วงบ่ายจะเข้าประชุมอีกครั้งซึ่งเป็นการแนะนำตัวให้ที่ประชุมได้รู้จัก และมีการพูดคุยถึงกรอบการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ

ในส่วนของปฏิทินการทำงานของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2558 เป็นระยะเวลาของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยวันที่ 17 เมษายน 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), วันที่ 26 เมษายน 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ สปช. ต้องพิจารณาให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ, วันที่ 16 พฤษภาคม 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ ครม. คสช. สามารถเสนอความเห็น หรือยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, วันที่ 25 พ.ค. 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ สปช.สามารถยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญต่อประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

จากนั้น วันที่ 23 กรกฎาคม 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จและเสนอ สปช.เพื่อพิจารณา, วันที่ 6 สิงหาคม 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ สปช.มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 37 วรรคสองกำหนด และวันที่ 4 กันยายนเป็นวันสุดท้ายที่ประธาน สปช.ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 32 วรรคสองกำหนด

พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการวางแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อประเด็นการรับฟังความเห็นของประชาชน ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้กำหนดให้ต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำประชามติก่อน

ดังนั้น เท่าที่ได้หารือกับ สปช.สายจังหวัด มีความเห็นร่วมกันว่าจะจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหา การปฏิรูปประเทศ และข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อสร้างการยึดโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และลดคำครหาที่ว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงการแก้ปัญหาของประเทศเป็นแบบบนลงล่าง หรือบนหอคอยงาช้าง ส่วนรูปแบบหลักนั้นจะใช้กลไกของกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา สปช.ทั้ง 18 คณะ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดดำเนินการ

สำหรับการจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา และทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้ อีกทั้งในแนวทางรับฟังความเห็นดังกล่าวนั้น ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของบุคคล แต่เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนได้พิจารณา และหากมีความเห็นคล้อยตามกัน สามารถจะปรับวิธีคิดได้


กำลังโหลดความคิดเห็น