xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” รับประกัน “บวรศักดิ์” คนดี - เปรยเขียนรัฐธรรมนูญบล็อก “ตระกูลชิน” อาจเรื่องบังเอิญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ ด้านกฎหมาย เผยอาจใช้ที่ปรึกษา คสช.นั่งคณะทำงานเงา ติดตาม กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ มั่นใจเนติบริกรผู้น้องคนดี มีจุดแข็งรับฟังคนอื่น ปัดข่าวมีพิมพ์เขียวไว้แล้ว พูดเป็นนัยเขียนกฎหมายบล็อก “ตระกูลชินวัตร” อาจเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้ตั้งใจ อีกด้านเผยหากงัดมาตรา 44 อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จะกลับมา ชี้ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้

วันนี้ (5 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณีเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งคณะทำงานติดตามกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 120 วัน ครบกำหนดวันที่ 20 เม.ย. 2558 ในช่วงเวลานี้อาจมีการรณรงค์ กดดัน ผลักดัน หรือเสนอแนะ ไปที่ กมธ.ยกร่างฯ ฉะนั้นรัฐบาลและ คสช.ควรจะมีติดตามเพื่อว่าหาก กมธ.ต้องการความสะดวกหรือต้องการข้อมูล ความร่วมมือ งบประมาณ ก็ต้องจัดให้ เมื่อยกร่างเสร็จต้องเอากลับมาถาม ครม.และ คสช. ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ ฉะนั้น ถ้าไม่ติดตามในระหว่างนี้ถึงเวลานั้นคงต้องทำการบ้านไม่ถูก และคงมีบางเรื่องที่รัฐบาลต้องมีกฎหมายออกมารองรับ จะรอให้ร่างเสร็จแล้วค่อยร่างคงไม่ทัน ถ้าอยากเลือกตั้งเร็วจึงต้องมีการติดตาม ซึ่งเป็นที่มาการตั้งคณะทำงานร่วม ครม. และ คสช.โดยมอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานที่ปรึกษา คสช.ไปคิดรูปแบบ ซึ่งเท่าที่คุยกับ พล.อ.ประวิตร ท่านได้ปรารภว่า ขณะนี้มีคณะที่ปรึกษา คสช.อยู่แล้ว อาจจะใช้เวทีตรงนั้นติดตาม และถ้าจำเป็นอาจจะเชิญใครมาร่วมเฉพาะกิจในการติดตามก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปไหว้พระแก้ว เพราะกลัวคนไม่เชื่อมั่นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่กลัวคนไม่มั่นใจ แต่เขาอาจจะไม่มั่นใจ หรือต้องการให้เห็นว่ามีความจริงใจ ทำอะไรก็ตามถ้าเริ่มด้วยความมงคลจะเป็นเรื่องดีตามธรรมเนียมไทย ส่วนที่มีข่าวว่ามีการยกร่างรัฐธรรมนูญไว้บางส่วนแล้วก็ไม่เป็นความจริง ร่างรัฐธรรมนูญเกิดในเมืองไทยมีมาแล้วหลายครั้ง ทุกครั้งจะเริ่มต้นด้วยการตีวัวกระทบคราดหรือโยนหินถามทาง ซึ่งไม่มีการทำ เพราะทำขึ้นมาถึงเวลาก็เอากลับเข้าไป กมธ.36 คน ตอนนั้นความจะแตก และไม่มีใครไปคิดทำ ทุกอย่างอยู่ในสายตาสื่อมวลชนและประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานของคนทั้งประเทศ ทุกคนมีส่วนร่วมได้

เมื่อถามว่า มีความไม่สบายใจที่ กมธ.หลายคนถูกมองมีสี หรือมาร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะที่เขียนตีกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย นายวิษณุ กล่าวว่า มันยังไม่เกิด อย่าตีตนไปก่อนไข้ โอกาสที่จะเกิดมันยาก เพราะอยู่ท่ามกลางของคน ตนไม่เชื่อว่าองค์ประกอบของ กมธ.ที่มีอยู่ก็ดี สถานการณ์ของประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็ดี ซึ่งต้องการความปรองดองและต้องการการปฏิรูป มันยังจะย้อนกลับไปสู่สิ่งที่ทำให้เกิดการติฉินนินทา แต่ถ้าหากว่าผลมันจะเกิดขึ้นบ้าง มันคงไม่ได้เกิดขึ้นจากการตั้งใจหรือตั้งธงให้เป็นเช่นนั้น แต่เป็นผลจากการปฏิรูปและความคิดที่ว่านี่คือสิ่งที่ดีหรือคำตอบสุดท้ายที่ประเทศต้องการมากกว่า ถ้าบังเอิญจะต้องออกมาในทางที่เป็นผลบวกหรือลบแก่ใคร แต่เชื่อว่าไม่มีผู้ใดยอมให้เกิดความตั้งใจตั้งธงอย่างนั้น จนขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณแบบนั้นตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาถ้าย้อนกลับไป

เมื่อถามว่า มีการเสนอริดรอนอำนาจนักการเมือง ริดรอนไม่ให้นายกรัฐมนตรียุบสภา นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องพูดเรื่องเสนอได้ โยนหินโยนได้ ถึงเวลามันต้องมาลงมติกัน คงประนีประนอมกัน ไม่มีใครได้สิ่งที่ตนต้องการทั้งหมด เมื่อถามว่า ไม่เห็นมีใครพูดว่าห้ามปฏิวัติยึดอำนาจ นายวิษณุกล่าวว่า การยึดอำนาจเขียนห้ามไว้ก่อนได้ แต่ถึงเวลายึดข้อที่ห้ามไว้ก็ไปก่อน จะป้องกันโดยวิธีเขียนคงไม่ได้ ส่วนใน กมธ.ยกร่างฯ มีพ่อตาลูกเขยก็ไม่เป็นไร บางทีพี่น้องยังเห็นไม่ต้องกัน เขาไม่ได้มาตั้งแก๊งทำอะไร เขามาโดยประสบการณ์

เมื่อถามว่า เชื่อมั่นในตัวประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เชื่อ นายบวรศักดิ์เป็นคนดี ตั้งใจดี พยายามประนีประนอม เชื่อว่าโดยความแข็งที่มีอยู่คือ ความรู้ และโดยความอ่อนที่ท่านมีคือ รับฟังความเห็น ไม่ได้เผด็จการ

เมื่อถามถึง กรอบเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง นายวิษณุกล่าวว่า พูดให้ยาวก็ประมาณเดือน ก.ย.ถึง ต.ค. 2558 การเลือกตั้งจะเกิดทันทีไม่ได้ เพราะต้องมีกฎหมายลูก ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนละเอียดก็ไม่ต้องมีกฎหมายลูก ถ้าละเอียดต้องมีกฎหมายลูก 2-3 ฉบับ ซึ่งจะใช้เวลาอีก 2 เดือน หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แล้วยังต้องปล่อยให้มีการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งก็ประมาณต้นปี 2559 ก่อนเชงเม้ง ถ้าเลยเชงเม้งก็ช่วงไหว้พระจันทร์

ส่วนการทำประชามตินั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีปัญหาถึงเวลาจะลงก็ไม่ว่ากัน แต่ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ ปี 2475 ไม่มีการลงประชามติ ยังใช้ยาวนานถึง14 ปี แต่ยุคนี้การทำประชามติเพื่อให้เกิดความหนักแน่นว่าประชาชนมีส่วนร่วม แต่การมีส่วนร่วมสำคัญที่ตอนร่างรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมร่วมระหว่าง คสช.กับ ครม.หารือถึงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปรารภว่าหากมีความไม่สงบเรียบร้อยจะมีมาตรการอะไรรับมือได้บ้าง โดยมีกฎหมายสารพัดที่มีอยู่อย่างกฎอัยการศึก แต่หากไปจนถึงที่สุดจริงๆ ยังมีมาตรา 44 อยู่ มาตราดังกล่าวหัวหน้า คสช. สามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการได้ ซึ่งความเป็นรัฎฐาธิปัตย์จะกลับมา โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องกระทบกับความมั่นคง แต่ในยุคนี้สามารถใช้ในทางสร้างสรรค์ได้เหมือนกันเพื่อให้เกิดความปรองดอง ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนหากจะมีการใช้มาตรา 44 คสช. จะประชุมและมีมติให้ใช้และแจ้งให้ ครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทราบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูแนวโน้มแล้วอนาคตนายกฯ อาจจำเป็นต้องใช้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบหากสถานการณ์นั้นจำเป็น ส่วนตัวพูดไม่ถูกจนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้น ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ขนาดเขาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.มายังไม่เคยเห็นใช้อะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น