xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอ"บวรศักดิ์” มโนทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**คืบหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง เมื่อที่ประชุมใหญ่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันอังคารที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ลงมติเห็นชอบกับแนวทางการเลือกและสรรหาคนที่ สปช.จะเสนอชื่อไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปฯ หรือ วิปสปช.ชั่วคราว ชงมาให้ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 165 ไม่เห็นด้วย 47 เสียง
โดยข้อเสนอกรอบการเลือก-สรรหาดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมใหญ่สปช. เห็นชอบแล้วก็คือ จะให้สปช.ทั้ง 11 กลุ่มตามที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาเช่น กลุ่มการเมือง-กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม-พลังงาน-การบริหารราชการแผ่นดิน และกลุ่มจังหวัดที่เรียงตามภาค เช่น ภาคเหนือ-อีสาน-กลาง ไปประชุมแล้วเสนอรายชื่อสมาชิกสปช. ในกลุ่มนั้นว่า สมควรถูกคัดเลือกไปทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้โดยไม่จำกัดจำนวน
ซึ่งก็คือ ทุกกลุ่มจะเสนอชื่อกี่คนก็ได้ ไม่มีจำกัด ไม่ใช่แค่ให้เสนอกลุ่มละคน อย่างที่เคยมีบางฝ่ายเสนอไว้ก่อนหน้านี้ เช่น หากกลุ่มกฎหมาย มี สปช.ในกลุ่มอยากเป็นกมธ.ยกร่างกันร่วม 7 คน ก็ให้เสนอมาได้เลย 7 คน จะได้ไม่ต้องมีความขัดแย้งกันเองในกลุ่ม นอกจากนี้ หาก สปช.คนไหนไม่ได้รับการเสนอชื่อจากเพื่อนในกลุ่ม หรือไม่อยากได้รับการเสนอชื่อโดยกลุ่ม แต่อยากเสนอชื่อตัวเองเลย ก็ให้ไปยื่นแจ้งความจำนง ยื่นใบสมัครได้โดยตรง เลย โดยขั้นตอนเรื่องการส่งรายชื่อ และการสมัครต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเที่ยงวันพุธที่ 29 ต.ค.นี้ เพื่อสุดท้ายให้ที่ประชุมใหญ่ สปช.โหวตเห็นชอบรายชื่อกรรมาธิการยกร่าง รธน. ต่อไป
**รายชื่อกรรมาธิการยกร่างรธน.20 คน ของสภาปฏิรูปฯ ได้เห็นกันทั้งหมด ในวันที่ 29 ต.ค.นี้
ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีโควต้า 5 คน ก็จะได้รายชื่อ ในวันที่ 30 ต.ค. ส่วนโควต้าคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวม 10 โควต้า จะได้ในวันจันทร์ที่ 4 พ.ย.นี้ โดยมีข่าวว่า หลายรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้ทาบทามหลายคนไว้แล้ว และยังมีการสั่งให้ตรวจสอบคุณสมบัติแล้วว่า มีคุณสมบัติอะไรต้องห้ามหรือไม่
ก็เป็นความคืบหน้าของการเตรียมคลอด “กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ”ที่จะต้องออกมาภายในไม่เกิน 4 พ.ย.นี้
เมื่อกำลังจะมีกมธ.ยกร่างรธน.แล้ว ก็น่าสนใจตัวคนที่มาเป็น ประธาน กมธ.ยกร่างรธน. ซึ่งมีเรื่องต้องมาวิเคราะห์กัน กับมติของที่ประชุมใหญ่ สปช. เมื่อ 28 ต.ค. ที่มีมติด้วยคะแนนเสียง175 ต่อ 39 ซึ่งไม่เอาด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ วิปสปช.ชั่วคราว จนส่งผลให้ "คนนอก" ที่ไม่ได้เป็นสปช. ไม่สามารถถูกเสนอชื่อโดยสปช.ไปเป็นกรรมาธิการกยกร่างรัฐธรรมนูญได้
ผลของมติดังกล่าว ไม่ผิดหรอกที่จะบอกว่า คนที่ถลอกปอกเปิกมากที่สุดก็คือ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”ว่าที่รองประธาน สปช. คนที่หนึ่ง และเต็งจ๋าประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้คนที่ออกตัวแรงหนุนแนวคิดนี้จะเป็น "เดอะจ้อน" อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการวิปสปช.
**แต่รู้กันทั้งสภาปฏิรูปฯว่า คนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในเรื่องนี้ ก็คือ บวรศักดิ์ นั่นเอง หาใช่ อลงกรณ์ หรือวิปสปช.เสียงข้างมากคนไหน
ถอดแนวคิดหลักดังกล่าว ของว่าที่ประธานกมธ. ยกร่างรธน.ได้ว่า เหตุที่หนุนแนวคิดนี้ เพราะมองว่าความขัดแย้งทางการเมืองของไทย อาจจะดำรงอยู่ต่อไป รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องไม่เป็นเพียงเอกสารที่ถูกตราว่า เป็นกติกาของผู้ชนะ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น จะต้องมีการเปิดโอกาสให้คู่ขัดแย้งเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย โดยยื่นมือไปให้คู่ขัดแย้งการเมืองที่สำคัญ 5 ฝ่ายหลักๆ เช่น พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์ -กปปส.-กลุ่มนปช. สภาปฏิรูป ที่เป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ จึงควรต้องเปิดโอกาสให้คนนอกเข้าร่วมได้ แต่หากไม่ยอมจับมือด้วย หากอนาคตมีการต่อต้าน หรือพูดง่ายๆ จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชน ก็จะได้พิจารณากันได้ว่า พอเขาเปิดให้มาร่วมแล้วไม่มาร่วม แต่ถึงเวลามีอำนาจ จะมาขอแก้ไข ประชาชนก็จะได้พิจารณากันเอง
อ่านแนวคิดนี้ของ"บวรศักดิ์" ตามประสาชาวบ้านก็คือ ว่าที่ประธาน กมธ.ยกร่างรธน. มองว่า สภาปฏิรูป ต้องเป็นสภาเปิดกว้างก่อน พยายามดึงฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ร่างรธน.ฉบับใหม่มีความชอบธรรม หากยื่นมือไปแล้ว เขาไม่เอาด้วย แล้วมาอ้างว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นผลิตผลของเผด็จการทหาร เป็นผลไม้พิษของคณะคสช. ถึงตอนนั้น หากมีการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มีเหตุผล ประชาชนก็จะได้ออกมาคัดค้าน ไม่เห็นด้วย ได้อย่างมีความชอบธรรมเช่นกัน
ถามว่าแนวคิดนี้ของบวรศักดิ์ ดีไหม ก็ต้องตอบว่าดี แต่ด้วยกรอบที่ดีไซน์ออกมา ก็ต้องยอมรับว่าไม่ตอบโจทย์การเมืองหลายอย่าง โดยเฉพาะการเมืองในข้อเท็จจริง เช่น ที่บอกจะให้ตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมเป็นกมธ.ยกร่างรธน. แต่เมื่อไปดูรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว บัญญัติว่า คนที่จะเป็น กมธ.ยกร่างรธน. ต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม คือ
**“เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปี ก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง”
นั่นก็หมายถึงว่า การไปเอาคนของพรรคการเมืองอย่าง ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย หรือ คนที่อยู่ในกปปส.-นปช. ที่เป็นระดับคีย์แมนตัวจริง มาเป็นกรรมาธิการยกร่างรธน. ก็น่าจะหาได้ยากมาก หรืออาจไม่ได้เลย เพราะการที่คนซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองมาก่อนหน้านี้ เป็นเวลาสามปี ทั้งเป็นสมาชิกพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค แล้วจะมาเป็นตัวแทนพรรคการเมือง มาเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มันหาได้ยากมาก หากหาได้ มันก็คือ "นอมินี" ที่คู่ขัดแย้งส่งมาเท่านั้น เพราะขนาดสมาชิกพรรคยังไม่เป็น แล้วจะมีอำนาจการตัดสินใจอะไรในนามพรรคได้ แล้วจะมาอ้างว่า เป็นความเห็นของตัวแทนพรรคการเมือง ได้อย่างไร
หรือจะไปเอาพวก แกนนำกปปส.-นปช. ที่เป็นระดับคีย์แมนจริงๆ เกือบทุกคนก็ล้วนเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยเกือบทั้งสิ้น หากไม่ใช่ ก็เป็นพวกที่เป็นแค่แนวร่วมเท่านั้น ไม่ใช่ระดับตัวแทน หรือแกนนำตัวจริงหรอก ไม่เชื่อไล่ดูก็ได้ อย่างเช่น ถาวร เสนเนียม วิทยา แก้วภราดัย เอกณัฐ พร้อมพันธุ์ ชุมพล จุลใส ณัฐพล ทีปสุวรรณ หรืออย่างฝ่าย นปช. เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พวกนี้ก็เป็นอดีตส.ส. ของประชาธิปัตย์ และเพื่อไทยทั้งสิ้น ยังไงก็ไม่พ้นสามปีแน่นอน การหาตัวคนที่เป็นตัวแทนของสองพรรคนี้ แล้วก็เป็นพวกแกนนำ กปปส.-นปช.ด้วย มาเป็นกมธ.ยกร่างรธน. จึงยากมากในความเป็นจริงทางการเมือง
** ที่สำคัญในความเป็นจริงแล้ว ทั้งประชาธิปัตย์-เพื่อไทย-กปปส.-นปช. หรือกลุ่มอื่นๆ อีกเช่น พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ปฏิเสธการส่งชื่อคนเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. ทั้งหมด ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมวงปฏิรูปของคสช. มาตั้งแต่แรกแล้ว
**ข้อเสนอของบวรศักดิ์ ในความเป็นจริงแล้ว จึงเป็นข้อเสนอที่ "มโนทางการเมือง" นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น