“เทียนฉาย” นัด สปช. ลงคะแนนเลือก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญแบบฟรีโหวตพรุ่งนี้ หลังสมาชิกอภิปรายทั้งหนุนและค้าน หวั่นไม่หลากหลาย เปิดช่องให้วิ่งเต้น “วิริยะ” อัดเสนอบนโต๊ะไม่ชอบ ต้องให้ออกกำลัง ประชดเปิดไลน์กรุ๊ปรับวิ่งล็อบบี้ ด้านวิปอ้างเพื่อความรอมชอม ไม่ตัดสิทธิ์ใคร ขณะที่สปช. บางส่วนโวยถูกตัดสิทธิ์ห้ามนั่งควบ กมธ. “บวรศักดิ์” อ้างกัน กมธ. ใช้อ้างเวลาโดดประชุม เจอ “เจิมศักดิ์” จวกวุฒิภาวะมีปัญหา ห่วงหากนั่งหัวโต๊ะร่างรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (28 ต.ค.) การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 14.00 น. โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุมเฉพาะคราว เพื่อพิจารณาหลักการของคณะกรรมาธิการประสานงานกิจการ สปช. (วิป สปช.) ชั่วคราวที่เสนอแนวทางการคัดเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน ในส่วนของ สปช.
โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิป สปช. ชั่วคราว ได้รายงานถึงหลักเกณฑ์พิจารณาการคัดเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า 1. ต้องเป็นผู้มีความสามารถเหมาะสม โดยสมัครใจและ มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องกรอกใบสมัครด้วยตนเอง 2. สปช. ที่ไม่ได้รับการเสนอชื่อก็สามารถเสนอชื่อมาได้ ก่อนวันพรุ่งนี้(29 ต.ค.) ก่อนเวลา 12.00 น. และ 3. ให้ สปช. พิจารณาเลือกจำนวน 20 จากรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อหรือสมัคร โดยสมาชิกสามารถเลือกได้ไม่เกิน 20 คน ผู้ได้รับสูงสุดจากลำดับที่ 1 ถึง 20 จะได้เป็นกรรมาธิการยกร่างฯ กรณีที่เลือกมากกว่า 20 คน ให้ถือเป็นบัตรเสีย โดยผ็สมัครต้องกรอกรายชื่อ พร้อมระบุที่มา ด้าน หรือภาค และจะเป็นกรรมาธิการคณะอื่นไม่ได้จนกว่าจะทำการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ เพื่อป้องกันการมีส่วนได้เสียห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี
จากนั้น นายเทียนฉาย ได้เปิดให้สมาชิกได้แสดงความเห็นต่อมติของวิป สปช. ชั่วคราว ซึ่งสมาชิก สปช. ได้แสดงความเห็นออกเป็นสองฝ่าย โดย สปช. ฝ่ายที่เห็นด้วยกับแนวทางวิป สปช. ให้เหตุผลว่า เป็นแนวทางที่ให้ สปช. แต่ละด้านเสนอตัวแทนมา และยังให้อิสระผู้ที่ไม่ได้รับการเสนอชื่อไปลงสมัครเองได้ ถือเป็นการเปิดฟรีตามที่ต้องการ หากไปล็อกว่าต้องให้มีตัวแทน สปช. ด้านละ 1 คน จะเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว เรื่องการกำหนดโควตากรรมาธิการยกร่างฯ
โดย นายวันชัย สอนศิริ สปช. ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ สปช. สายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทุกคนเห็นด้วยกับแนวทางที่วิป สปช. เสนอมา และมีมติไปเรียบร้อยแล้วว่า จะส่งรายชื่อผู้สมัคร 4 คน ไปให้ สปช. พิจารณา ถือเป็นแนวทางตามรัฐธรรมนูญ และยังให้อิสระแก่สปช. อีกด้วย เพราะใครที่ไม่ได้รับการเสนอชื่อก็สามารถเสนอตัวเองลงสมัครได้
ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยซึ่ง ส่วนใหญ่เป็น สปช. จังหวัดให้เหตุผลว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควรกระจายโควตาไปทุกด้าน และไปยังระดับจังหวัดด้วย โดยเสนอให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีตัวแทนจาก สปช. ทั้ง 11 ด้านๆ ละ 1 คน และตัวแทน 4 ภาคๆ ละ 1 คน รวม 15 คน ส่วนอีก 5 คนที่เหลือให้ที่ประชุม สปช. ฟรีโหวตลงมติตัดสินว่าจะเลือกใคร
นายชาลี เจริญสุข สปช. ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การทำงานเพื่อปฏิรูปต้องให้เกิดความรอบด้าน และหลากหลาย โดยเฉพาะ สปช. จากกลุ่มจังหวัด ซึ่งจะมีบทบาทไปช่วยเติมเต็มการทำงานของ สปช. ในแต่ละด้านให้มีความครบถ้วน มีส่วนเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ดังนั้นการจัดสรรกรรมาธิการยกร่างฯ ควรให้มาจากด้านวิชาชีพ 11 ด้านๆ ละ 1 คน อีก 4 คน มาจาก สปช. จังหวัด และที่เหลืออีก 5 คน มาจากการเลือกของที่ประชุม
ขณะที่ นายคณิศร ขุริรัง สปช. หนองบัวลำภู กล่าวว่า การเลือกกรรมาธิการยกร่างฯ ตามแนวทางของวิป สปช. ไม่มีหลักประกันว่าจะได้ กรรมาธิการยกร่างฯ จากบุคคลที่หลากหลาย อยากขอความเห็นใจจาก สปช. ให้เลือก สปช. ด้านวิชาชีพ 11 ด้านๆ ละ 1 คน และด้านจังหวัด 4 คนและผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน
นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช. สายการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญต้องรอบคอบ ไม่ใช่นำรัฐธรรมนูญไปฆ่าใคร จึงต้องเปิดกว้างให้ทุกจังหวัดและทุกด้านมีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯต้องมีผู้มีความสามารถเฉพาะด้านไปร่วมยกร่างด้วย แต่ข้อเสนอของวิป สปช. ที่ให้มีการโหวตทีเดียว 20 คนนั้น อาจจะเกิดการบล็อกโหวต หรือได้คนที่ไม่มีความรู้ไปยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงอยากเสนอให้มีการเลือกจากตัวแทน สปช. แต่ละด้านรวม 15 คน ส่วนอีก 5 คนที่เหลือใช้วิธีฟรีโหวตเลือก ซึ่งไม่ใช่เรื่องการแบ่งโควตา และไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ สปช. ด้านสังคม กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่วิป สปช. เสนอ เพราะเสียงส่วนใหญ่อยากให้กระจายว่าแต่ละด้าน แต่ผลวิปออกมากลายเป็นเลือกรายคน ไม่รู้ว่าฟังสมาชิกหรือเอาแต่ใจตนเอง ในที่สุดก็จะมีการล็อบบี้กัน ทำไมต้องให้พวกตนออกกำลัง
“พวกผมอยากเสนอชื่อในสภาเลยก็ห้าม พอให้ไปพูดข้างหลังก็ว่าหมกๆ ไม่ปฏิรูป เมื่อเสียงส่วนใหญ่อยากให้กระจายทุกคนก็ต้องคุยกัน ผมก็จะเลือกแต่ละด้านแบบเปิดเผย อยากให้ผมเลือกใครก็กระซิบมาได้ ไม่หมกใต้โต๊ะแน่นอน เมื่อไม่อยากให้เราทำตรงๆ ด้านไหนต้องการใครส่งไลน์บอกก็ได้ เลือกตามจิตวิญญาณแล้วกัน ถึงวิปไม่สนใจจะฟังสิ่งที่เราต้องการโดยตรง เขียนอ้อมๆ แอ้มๆ เราก็ต้องคุยกันเองว่าแต่ละด้านต้องการใครบ้าง” นายวิริยะ กล่าว
ด้าน นายอำพล จินดาวัฒนะ ตัวแทนวิป สปช. ชั่วคราว ชี้แจงว่า หลักการของวิป สปช. นอกจากให้ สปช. แต่ละด้านมีสิทธิเสนอรายชื่อผู้สมัครมาแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้รับการเสนอชื่อ มีโอกาสสมัครเองได้ด้วย ไม่มีการตัดสิทธิใครทั้งสิ้น จึงไม่ใช่การแบ่งโควตา คาดว่าที่ประชุม สปช. ก็คงเลือกกรรมาธิการยกร่างฯ แบบกระจายกันไป เพื่อให้ครอบคลุม สปช. ทั้ง 11ด้าน ถือเป็นวิธีที่รอมชอมที่สุดแล้ว เพราะไม่มีการไปตัดสิทธิ์ใคร
จนกระทั่งเวลา 15.30 น. นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช. เสนอญัตติปิดการอภิปรายต่อที่ประชุม เนื่องจากมีการอภิปรายยืดเยื้อมานานแล้ว ควรหาข้อสรุปได้แล้ว ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว จากนั้นได้ลงมติเห็นด้วยกับแนวทางการคัดเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของวิป สปช. ชั่วคราวด้วยคะแนน 165 ต่อ 47 เสียง งดออกเสียง 10 และไม่ลงคะแนน 1
โดย นายเทียนฉาย ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า มติเสียงข้างมากดังกล่าวที่ออกมาเป็นการกำหนดเฉพาะวิธีการคัดเลือกสมาชิก สปช. ไปทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างฯ เท่านั้น ส่วนแนวทางที่วิป สปช. เสนอให้สมาชิก สปช. ที่เป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่สามารถเป็นกรรมาธิการสามัญคณะอื่นๆ ใน สปช. ได้อีกนั้น ขอให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช. นำไปพิจารณาต่อไป ส่วนการกำหนดวันประชุม สปช. นั้น จะกำหนดสัปดาห์ละ 2 วันคือทุกวันจันทร์และอังคาร อย่างไรก็ตามขอนัดประชุม สปช. ครั้งต่อไปในวันที่ 29 ต.ค. เวลา 14.00 น. เพื่อพิจารณาคัดเลือกรายชื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการร่างข้อบังคับการประชุม สปช. ที่วิป สปช. ระบุว่าผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ จะดำรงตำแหน่งใดเป็น กรรมาธิการสามัญ ไม่ได้จนกว่าการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และเพื่อประโยชน์ไม่ให้มีส่วนได้ส่วนเสีย ห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี นับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง
โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช สปช. ฐานะประธานคณะกรรมการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช. กล่าวว่า เรื่องนี้มีผู้ที่ไม่เห็นด้วย ในประเด็นดังกล่าวจะนำไปพิจารณาในที่ประชุมของกรรมการยกร่างข้อบังคับ การประชุม สปช. ในวันที่ 29 ต.ค. เบื้องต้นตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช. คนที่ 1 ระบุว่าต้องเปิดกว้างให้ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามาร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด จึงมีรายละเอียดที่จะกำหนดในร่างข้อบังคับการประชุม สปช. คือ ให้กรรมาธิการยกร่างฯ ดำรงตำแหน่ง ใน กมธ. วิสามัญประจำสภา สปช. ได้ 1 คณะ แต่จะดำรงตำแหน่ง ประธานหรือเลขานุการ ไม่ได้ เหตุผลที่เปลี่ยนชื่อจาก กมธ. สามัญ เป็น กมธ. วิสามัญเพื่อเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกเข้ามาทำงานร่วม สปช. เบื้องต้นจะกำหนดให้มีสัดส่วน 1 ใน 5 หรือจำนวน 7 คน
นายบวรศักดิ์ อภิปรายคัดค้านว่า การทำงานของ กรรมาธิการยกร่างฯ เชื่อว่าจะต้องทำงานตลอดทั้งสัปดาห์ และแบบห้ามรุ่งหามค่ำ ดังนั้นควรให้สมาชิกฯ ที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกรรมาธิการ เท่านั้น และไม่ถือว่าเป็นองค์ประชุม เพราะหากให้กรรมาธิการยกร่างฯ เป็นกรรมาธิการสามัญ อาจทำให้มีปัญหา ทั้ง 2 ชุดได้ โดยเฉพาะเวลาขาดประชุม
“เวลาขาดจากกรรมาธิการยกร่างฯ อาจอ้างว่าไปประชุมกรรมาธิการสามัญ ซึ่งจริงหรือไม่ ก็ไม่รู้ หรืออาจทำให้องค์ประชุมในกรรมาธิการสามัญมีปัญหา ถ้าจะเขียนก็ให้ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ โดยไม่นับเป็นองค์ประชุม ถึงจะเหมาะสม และเข้าประชุมเรื่องที่จำเป็นและสำคัญเท่านั้น” นายบวรศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช. อภิปรายตำหนิการให้ความเห็นของนายบวรศักดิ์ ว่าเป็นการแสดงวุฒิภาวะที่มีปัญหา หากเป็นไปตามข่าวที่นายบวรศักดิ์ จะเข้าไปเป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วมีความคิดดังกล่าวอาจทำให้มีปัญหา และกรรมาธิการฯยกร่าง จะมีท่าทีแบบนี้ไม่ได้ ข้อเสนอของนายบวรศักดิ์นั้นตนไม่ขัดข้อง แต่การอภิปรายด้วยถ้อยคำดังกล่าว ทำให้ตนต่อต้านและต้องการลุกเสนอญัตติให้โหวตคะแนนสวนทาง แต่ตนจะไม่ทำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเด็นดังกล่าวที่ประชุมไม่ได้มีข้อสรุปใดๆ และในวันที่ 28 ต.ค. กรรมการร่างข้อบังคับ สปช. จะมีการหารือกัน ในเวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาในรายละเอียดต่อไป