xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” คาด “ประยุทธ์” มีชื่อ กมธ.ยกร่างฯ สัดส่วน ครม.-คสช.อยู่ในใจแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
“วิษณุ” แนะนายกฯ ให้ประชุมร่วม ครม.-คสช. พิจารณา กมธ.ยกร่าง รธน.พร้อมกัน ป้องกันบุคคลในโควตา 2 ส่วนไม่ซ้ำซ้อนกัน เชื่อ “ประยุทธ์” มีรายชื่อในมืออยู่แล้ว เผย “สุรพล” ไม่ขอรับเก้าอี้เหตุมีภารกิจอยู่แล้ว ยัน กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีคอนเนกชันใคร อ้างสังคมไทยแคบบุคคลก็วนอยู่แค่นี้ ยก ส.ส.ร.-กมธ.ยกร่างฯ เปรียบ สปช.ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ซึ่งจะมีการพิจารณารายชื่อบุคคลที่จะทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีโควตา ครม.5 คน และ คสช.6 คนว่า การประชุมในวันดังกล่าว อาจเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.อาจเสนอรายชื่อบุคคลเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โควตาของ ครม. จากนั้นฝ่าย คสช.ก็เสนอชื่อคนในโควตาของตัวเองให้ที่ประชุมเลยเพื่อจะได้พิจารณาพร้อมกันทีเดียว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์สวมหมวก 2 ใบอยู่แล้ว เมื่อที่ประชุมเห็นชอบทั้งหมดจึงจะออกเป็นมติที่แยกจากกันระหว่าง คสช.กับ ครม.ออกจากกัน หรือ 2. อาจเริ่มการประชุมเฉพาะ คสช.ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงต่อด้วยการประชุมเฉพาะ ครม. แต่ส่วนตัวเห็นว่าถ้าทั้ง ครม.และ คสช.อยู่ร่วมประชุมพิจารณาพร้อมกันจะทำให้ง่ายขึ้น เนื่องจากรายชื่อบุคคลที่เป็นโควตาของทั้งสองส่วนนี้จะไม่ซ้ำซ้อนกัน และวันที่ 4 พ.ย.เป็นวันสุดท้ายที่จะต้องส่งชื่อผู้เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุกล่าวว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุม ท่านต้องมีการหารือมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้เวลาหารือกันมาก ซึ่งไม่จำเป็นที่ต้องเป็นการหารือนอกรอบ เพราะอาจเป็นการพูดคุยกันระหว่างการรับประทานอาหาร หรือโทรศัพท์ปรึกษากันก็ได้ ทั้งนี้ในส่วนของตนคงไม่มีการเสนอชื่อบุคคล แต่จะรับฟังการเสนอของนายกฯ แล้วให้ความเห็นประกอบการพิจารณา

ส่วนที่มีข่าวรายชื่อบุคคลที่คาดว่าจะเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โควตา ครม.และ คสช. ซึ่งมีชื่อของนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมอยู่ด้วย นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบจริงๆ แต่ได้เคยถามเขาเป็นการส่วนตัว ซึ่งเขาตอบว่าไม่อยากรับตำแหน่งดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ามีภารกิจอยู่แล้ว และต้องไปเจองานที่เขาคิดว่าเขาอาจไม่สะดวก ซึ่งหลายคนเคยบอกว่างานในฐานะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คงต้องประชุมกันทุกวัน วันละหลายชั่วโมง ซึ่งถ้าต้องไปทำภารกิจอื่นจนต้องขาดการประชุมในบางวัน ก็จะส่งผลต่อคะแนนเสียงในการลงมติของคณะกรรมาธิการฯ

“ข่าวที่สื่อมวลชนระบุว่ามีชื่อคนนั้นคนนี้แล้วบอกว่ามีความสนิทสนม หรือคอนเนกชันกับใครบ้างนั้น ที่จริงแล้วเวลาที่จะแต่งตั้งใครดำรงตำแหน่งอะไรก็ตาม ไม่มีใครคิดถึงเรื่องคอนเนกชัน เพราะในสังคมไทยแคบ คนก็วนกันอยู่แค่นี้ เพราะทุกคนมีที่มาที่ไปทั้งนั้น คนเราก็ต้องเรียนหนังสือ สังคมต้องมีคอนเนคชั่นกันทั้งนั้น ดังนั้นถ้าจะคิดหาในเรื่องคอนเนกชันก็เจอได้ แต่สิ่งที่คนอาจไม่รู้คือเราพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องคอนเนคชั่น”

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 1 จะดำรงตำแหน่งประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะตำแหน่งประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ คสช.เสนอชื่อ ถามว่าถ้านายบวรศักดิ์ได้ทำหน้าที่ใน 2 ตำแหน่งนี้ควบคู่กันจริง จะถือว่างานมากเกินไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้สมาชิก สปช.ไม่ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เพราะ สปช.ถือเป็นการทำหน้าที่ทางวิชาการ ไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย ว่า ป.ป.ช.ที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องนี้ได้พูดหมดแล้ว ทั้งนี้ ตนเห็นว่ามาตรฐานที่จะใช้เปรียบเทียบกับกรณีนี้ได้ คือ กรณีของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เคยต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะถือเป็นการทำงานทางวิชาการ และไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษอะไรต่อตัวบุคคล แต่ถ้าใครอยากมองอย่างไรก็ปล่อยเขาไป ไม่ว่ากัน

เมื่อถามถึงการจัดทำรูปแบบเวทีภายนอกที่จะทำงานร่วมกับ สปช. รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้เสนอหลายรูปแบบของเวทีดังกล่าวไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ซึ่งการพิจารณาการจัดเวทีดังกล่าว คงต้องดูเรื่องความสมัครใจ งบประมาณที่พยายามจะใช้ไม่มาก และเรื่องของสถานที่ที่ต้องเพียงพอกับจำนวนคน ทั้งนี้ตนทราบว่า มีผู้ที่ไม่ได้รับคัดเลือกให้เป็น สปช.จำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ขอไม่เข้าร่วมเวทีนี้ เพราะคงไม่สะดวก เนื่องจากต้องไปทำภารกิจของตัวเอง ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องเปิดเวทีในต่างจังหวัด หรือในแต่ละภาค เพราะต้องการให้ประชาชนทั่วประเทศได้มีส่วนร่วม ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็สามารถทำตรงนี้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของ ครม.ที่มีโควตาเสนอชื่อบุคคลเข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปเป็นเองได้ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 33 (1) กำหนดไว้ว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช., สนช. หรือ สปช.


กำลังโหลดความคิดเห็น