xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เปิดช่อง สปช. ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน - ปัดตั้งธงยุบองค์กรอิสระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ เผยการประชุม สปช.รอเลือกประธาน ก่อนนำชื่อทูลเกล้าฯ ถวายแต่งตั้งจึงประชุมอย่างเป็นทางการ เปิดช่องไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ชี้คล้ายกับผู้ช่วยรัฐมนตรี ปัดตั้งธงยุบทิ้งองค์กรอิสระ ชี้ข้อเสนอมีหลายแบบ

วันนี้ (20 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อเลือกประธานและรองประธาน สปช.ในวันที่ 21 ต.ค.นี้ว่า ตามขั้นตอนหลังจากเลือกประธานและรองประธาน สปช.เสร็จสิ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และหลังจากมีพระบรมราชการโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา สปช.จึงจะประชุมอย่างเป็นทางการได้ แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงระหว่างยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สปช. อาจจะมีการนัดประชุมไม่เป็นทางการ และตั้งประธานชั่วคราวเข้ามาทำหน้าที่เพื่อเตรียมตัวเป็นการภายในก่อนได้ เช่นเดียวกับกรรมาธิการ สปช. จะมีกี่ชุดนั้นสมาชิกอาจนัดแนะกันไว้ก่อนได้

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า สปช.ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่นั้น นายวิษณุในฐานะที่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าไม่ต้องยื่นจนกว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะกำหนด ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เขียนเอาไว้ว่าตำแหน่งใดบ้างเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ใน พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันก็ระบุไว้ว่า ป.ป.ช.สามารถกำหนดตำแหน่งอื่นที่แม้ไม่ใช่ตำแหน่งที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายให้เป็นตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ด้วยก็ได้ ก่อนหน้านี้ตอนมีตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีใหม่ๆ ตนเคยมีหนังสือไปถึง ป.ป.ช.ขอให้ประกาศเป็นตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ จนเป็นตำแหน่งที่ต้องยื่น ซึ่ง สปช.จะอยู่ในลักษณะเดียวกันคือ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ แต่จะให้ยื่นหรือไม่แล้วแต่เขากำหนด ขณะนี้เขากำลังขอดูข้อบังคับการประชุม สปช.ก่อนว่าจะทำอะไรบ้าง

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อ ป.ป.ช.มี 2 ขั้นตอน คือ 1. ยื่นโดยไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน และ 2. ยื่นและเปิดเผยต่อสาธารณชน ส่วนตัวมองว่ากรณีของ สปช. จะให้เปิดเผยต่อสาธารณชนไม่ได้ จะนำไปเปรียบเทียบกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ได้ เพราะ สนช.เทียบเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่กรณี สปช.คล้ายกับผู้ช่วยรัฐมนตรีที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่หากมีผู้ไปร้องว่าทุจริตจึงจะไปเปิดเผยกัน อย่างไรก็ดี เรื่องนี้คงต้องไปถามนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับระยะเวลา 60 วัน ที่ สปช.จะต้องกำหนดกรอบเนื้อหาเพื่อเสนอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่มี กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญคือ วันที่ 4 พ.ย. อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 60 วัน ถือว่าเพียงพอที่ สปช. จะไปกำหนดกรอบให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเขาไม่ได้ให้ สปช.ไปลงในรายละเอียด แต่ให้เสนอแต่กรอบใหญ่ๆ เท่านั้น ส่วนที่เหลือ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะไปคิดเอง สปช. จึงต้องใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้ม แล้วหากมีข้อเสนอเยอะสามารถส่งเพิ่มเติมไปทีหลังได้ นึกอะไรออกส่งไปก่อนเพื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะได้เขียน ไม่เช่นนั้นจะเขียนอะไรไม่ได้ มานั่งมัวรอกรอบอยู่ ส่วนที่มีการเสนอให้ปฏิรูปองค์กรอิสระนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้มีโมเดลอยู่ในใจ ให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนคิด ขณะที่ข้อเสนอให้ยุบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้นก็คงเป็นเรื่องของอนาคต เพราะมีข้อเสนอหลายแบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น