ประธานสภาพัฒนาการเมือง แถลงการณ์ซัด 28 สนช.ยื่นฟ้องศาลปกครองขอเพิกถอนมติ ป.ป.ช.ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่เป็นแบบอย่างที่ดีทางจริยธรรม เตือนตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ยันโชว์ก็ป้องกันโกงได้ในระดับหนึ่ง ถ้าไม่อยากทำก็อย่ารับตำแหน่ง หนุน สปช.-กมธ.ยกร่าง รธน.ยื่นแสดงบัญชีด้วย แนะ ป.ป.ช.สอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน คลายข้อสงสัยรับราชการทำไมรวยจัง
วันนี้ (13 ต.ค.) นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง พร้อมสมาชิก ร่วมกันแถลงว่า สภาพัฒนาการเมืองได้ออกแถลงการณ์เรื่อง การกระทำที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีทางจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 28 คน ที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติของ ป.ป.ช. ที่ให้ สนช.ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยเห็นว่าการที่ ป.ป.ช.มีมติว่า สนช.มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. แต่ สนช.นำโดย พล.อ.นพดล อินทปัญญา ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนมติ ป.ป.ช. และเมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา สนช.ทั้ง 28 คนก็ยังไม่สำนึกถึงหน้าที่ที่ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อสังคมกลับยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดรวมทั้งขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาของศาลปกครองกลาง
กรณีดังกล่าว สภาพัฒนาการเมืองซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง 2551 มีบทบาทอำนาจหน้าที่ประการหนึ่งในการส่งเสริมพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงจำเป็นต้องแถลงให้สังคมทราบว่า การกระทำของ สนช.ทั้ง 28 คน เป็นการกระทำที่ไม่สมควรและไม่เป็นแบบอย่างที่ดีทางจริยธรรม โดยขอให้ สนช.ทั้ง 28 คนได้โปรดตระหนักถึงความพยายามร่วมกันในหน้าที่และความรับผิดชอบในการธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมไทยต่อไป
ทั้งนี้ นายธีรภัทรยังกล่าวด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองได้มีการหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาหารือและเห็นตรงกันว่าการกระทำของ 28 สนช.ดังกล่าวไม่สมควร แต่เป็นการกระทำครั้งแรกซึ่งแม้ว่าจะมีการใช้สิทธิทางศาลที่ยังค่อนข้างก่ำกึ่งว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต หรือทุจริต ซึ่งที่ประชุมก็เห็นว่ายังไม่เป็นการทุจริต จึงจำเป็นที่สภาพัฒนาการเมืองควรต้องออกแถลงการณ์ขอให้สนช. 28 คนได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและการเป็นแบบอย่างดีถือเป็นการให้คำแนะนำและข้อเตือนใจอะไรที่ไม่ดีก็ไม่ควรปฏิบัติ
“การแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินเป็นการแสดงถึงความโปร่งใสของตนเอง ไม่ว่าจะมาจากการได้รับแต่งตั้ง หรือเลือกตั้ง เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็สมควรที่จะกระทำ ที่บอกว่ามาอยู่แค่ 1 ปีไม่ต้องแสดงจึงฟังไม่ขึ้น อีกทั้งในทางการเมืองแล้วการจะตัดสินใจอะไรก็ล้วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ จริงอยู่การแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาการทุจริตได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถป้อมปรามและการป้องกันการทุจริตได้ระดับหนึ่ง ทำให้ประชาชนเกิดความสบายใจ และทำให้ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิจารณาว่าอยากจะเข้ามาหรือไม่ ถ้าไม่อยากแสดงบัญชีทรัพย์สิน ก็อย่ารับตำแหน่ง หรือรับตำแหน่งแล้วไม่อยากแสดงบัญชีทรัพย์สินก็ควรลาออกไปเสีย” นายธีรภัทรกล่าว
นายธีรภัทรกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวยังมีความเห็นว่าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 250 คน และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนที่จะมีการแต่งตั้งต่อไปควรจะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน เพราะคนเป็น สปช.สวมหมวกหลายใบทั้งในภาคราชการ เอกชน เมื่อจะต้องมาเสนอแนะในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ข้อเสนอก็ย่อมหลีกเลี่ยงการมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องไม่ได้ ซึ่งผลประโยชน์นั้นอาจแปรรูปเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต ขณะที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในเองรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก็กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นกรรมาธิการฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 2 ปีนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉะนั้นบุคคลทั้งสองกลุ่มก็ควรที่จะแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ถือเป็นการยกระดับการส่งเสริมจริยธรรม
“ที่กำลังจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผมก็เห็นว่า เรื่องการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงนอกจากจะต้องให้เป็นบรรทัดฐานที่ยึดถืออย่างมั่นคงถาวรแล้ว ควรมีการเพิ่มความเข้มแข็งเข้มข้นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน เช่น รับราชการมา 30-40 ปี เงินเดือนไม่เท่าไร แต่ทำไมถึงร่ำรวยมีทรัพย์สินมาก ยิ่งถ้าไม่ได้มีมรดก ทรัพย์สินได้มาอย่างไรจากไหน เข้ามาเป็นมาตรการเสริมรองรับเพื่อป้อมปรามและป้องกันผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วคิดมิชอบ” นายธีรภัทรกล่าว