ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนไม่รับฟ้อง 28 สนช. ขอวินิจฉัยต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ ชี้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น หลังยื่นแย้งความเห็นศาลปกครองชั้นต้น ที่ระบุผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน หมายรวมถึงผู้ที่รับการเอาภาระบ้านเมืองมาเป็นภาระตนโดยสมัครใจ ไม่ว่ามาจากเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ซ้ำหากไม่ยื่นระวังรับโทษอาญา ขณะเดียวกันไร้เงา "บิ๊กกี่" ฟังคำพิพากษา
วันนี้ (30 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้อง ที่ พล.อ.นพดล อินทปัญญา และพวกรวม 28 คน ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีขอให้เพิกถอนมติ ป.ป.ช. ลงวันที่ 14 ส.ค. และลงวันที่ 27 ส.ค. 2557 ที่ระบุให้ สนช. ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. โดยศาลปกครองสูงสุดระบุเหตุผลว่า พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามที่มีอยู่จริงในวันที่เข้ารับตำแหน่งหรือวันที่พ้นจากตำแหน่งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี ตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด ซึ่ง ป.ป.ช. เป็นคณะกรรมการที่กฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง มติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคลถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
แต่การที่ ป.ป.ช. มีความเห็นตอบข้อหารือตามหนังสือที่ ปช 0008/0147 ลงวันที่ 14 ส.ค.2557 และหนังสือที่ ปช 0008/0171 ลงวันที่ 27 ส.ค. 2557 เกี่ยวกับบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง สนช. มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น เป็นเพียงการให้ความเห็นตอบข้อหารือเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายของมาตรา 32 วรรคหนึ่งของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. ต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของ พล.อ.นพดล และพวก มติ ป.ป.ช. ดังกล่าวจึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง และไม่ได้ทำให้ พล.อ.นพดลและพวกได้รับความเดือนร้อน หรืออาจเดือดร้อนเสียหาย จึงยังไม่มีสิทธิที่จะมาฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ดังนั้นการที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง และสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยว่าคำร้องอุทธรณ์ของ พล.อ.นพดลกับพวกฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ ในศาลปกครองชั้นต้นแม้จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา แต่เนื้อหาของการมีคำสั่งก็ได้ระบุความหมายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า หมายถึงผู้เอาภาระของบ้านเมืองเป็นภาระของตน ไม่ว่าจะโดยสมัครใจเข้าสมัครรับเลือกตั้ง หรือสมัครใจตามที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในการตรากฎหมายอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และการสรรหาบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามารับใช้บ้านเมืองในตำแหน่งต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติและอื่นๆ มีหน้าที่ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ เปิดเผยความจริง ว่าก่อนตนเข้ามาดำรงตำแหน่งมีทรัพย์สินใดบ้าง รวมทั้งภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อให้สังคมรับรู้รับทราบถึงความโปร่งใสของผู้เข้ามารับภาระของบ้านเมืองว่าไม่ได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ แก่ตนเองและครอบครัว หน้าที่ตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องส่วนตนโดยแท้ของผู้อาสาเข้ามารับใช้บ้านเมือง หาใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะต้องมีคำสั่งให้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามนัยมาตรา 32 หากผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามย่อมต้องรับโทษทางอาญา ตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ. เดียวกันเป็นส่วนตน
ซึ่งทำให้ในการยื่นคำอุทธรณ์ของ พล.อ.นพดล กับพวกต่อศาลปกครองสูงสุด พล.อ.นพดลกับพวกได้โต้แย้งความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 32 นี้ ของศาลปกครองชั้นต้นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินตามความหมายมาตรา 32 นั้นต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น ส.ส. และ ส.ว. แต่ สนช. ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว. จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 32 และ ป.ป.ช. ไม่มีหน้าที่ต้องเรียกให้ สนช. ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินดังกล่าว การที่ ป.ป.ช. มีมติเช่นนี้ ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถ้า ป.ป.ช. จะอ้างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 6 วรรคสอง ประกอบมาตรา 42 และมีความเห็นว่า สนช. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว. ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ป.ป.ช. ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายไปในทางเดียวกัน โดยมีมติให้หัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย แต่ ป.ป.ช. กลับไม่มีมติดังกล่าว จึงเห็นว่าการตีความและการบังคับใช้กฎหมายของ ป.ป.ช. ไม่มีมาตรฐานเดียวกันและเป็นการเลือกปฏิบัติ
อีกทั้งยังเห็นว่ามติของ ป.ป.ช. และการมีหนังสือมายังสำนักเลขาธิการวุฒิสภาไม่ได้มีลักษณะเป็นการตอบข้อหารือ แต่เป็นคำสั่งทางปกครองที่กระทบต่อตนเองกับพวก และเมื่อ ป.ป.ช. มีมติดังกล่าว ตนกับพวกก็ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ถือว่าตนกับพวกถูกละเมิดจากคำสั่งที่ไม่ใช่ด้วยกฎหมาย จึงเป็นผู้ที่เดือดร้อนเสียหายและมีสิทธิ์ที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ แต่ศาลปกครองสูงสุดก็ระบุในคำสั่งวันนี้ว่าคำอุทธรณ์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการนัดฟังคำสั่งในวันนี้ เมื่อถึงเวลานัด ฝ่าย พล.อ.นพดลกับพวก ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี ไม่ได้เดินทางหรือส่งตัวแทนมาฟังคำสั่งศาลแต่อย่างใด มีเพียงนายสิทธิพงษ์ ปึงวงศานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักคดี ป.ป.ช. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก ป.ป.ช. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี มาศาล จึงทำให้คณะตุลาการไม่ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่ง โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีไปคัดสำเนาคำสั่งดังกล่าวแทน
อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 1430/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 1347/2557 โดยเห็นว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 32 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีความหมายถึงผู้เอาภาระของบ้านเมืองเป็นภาระของตน ไม่ว่าจะโดยสมัครใจเข้าสมัครรับการเลือกตั้ง หรือสมัครใจตามที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในการตรากฎหมายอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และการสรรหาบุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถเข้ามารับใช้บ้านเมืองในตำแหน่งต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และอื่นๆ ที่มีหน้าที่ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ เปิดเผยความจริงว่า ก่อนตนเข้ารับตำแหน่งมีทรัพย์สินใดบ้าง รวมทั้งภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อให้สังคมรับรู้รับทราบถึงความโปร่งใสของผู้เข้ามารับภาระของบ้านเมืองว่า มิได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ แก่ตนเองและครอบครัว ดังนั้น หน้าที่ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. เป็นเรื่องส่วนตนโดยแท้ของผู้อาสาเข้ามารับภาระของบ้านเมือง หาใช่หน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะต้องเรียกให้มีคำสั่งให้ผู้ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ ตามนัยมาตรา 32 ดังกล่าวข้างต้นไม่ หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามความในมาตรา 32 ดังกล่าว ย่อมต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกันเป็นส่วนตน
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เลขาธิการวุฒิสภามีหนังสือหารือข้อกำหมายไปยังเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาข้อหารือดังกล่าวถึง 2 ครั้ง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้ตอบข้อหารือดังกล่าวตามประเด็นข้อกฎหมายตามหนังสือลงวันที่ 14 สิงหาคม 2557 และวันที่ 27 สิงหาคม 2557 ยืนยันว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 28 และ สนช. ทุกคนมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ จึงเห็นได้ว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ตอบข้อหารือเลขาธิการวุฒิสภาดังกล่าว มิใช่คำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อันจะมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างผู้ตอบข้อหารือกับผู้หารือในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลประทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว อันจะทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 28 คน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย อันจะมีสิทธินำมาฟ้องต่อศาลไม่ได้
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานะของผู้ฟ้องคดีทั้ง 28 คน ซึ่งเป็น สนช. จะมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้อยู่แล้ว หาได้ขึ้นอยู่กับมติของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวข้างต้น แต่อย่างใดไม่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 28 คน จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว ตามนัยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 28 คน
สำหรับสมาชิก สนช.ที่ยื่นฟ้องคดีทั้ง 28 คน ประกอบด้วย พล.อ.นพดล อินทปัญญา, พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต, นายสุธรรม พันธุศักดิ์, นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์, นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน, พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย, นายชัชวาล อภิบาลศรี, พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์, นายประมุท สูตะบุตร, พล.อ.จิรพงศ์ วรรณรัตน์, พล.อ.ไตรรัตน์ รังคะรัตน, นายธำรง ทัศนาญชลี, นางสุวิมล ภูมิสิงหราช, พล.อ.ชยุติ สุวรรณมาศ, นายศรีศักดิ์ ว่องส่งสาร, พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ, พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ, พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์, พล.อ.โสภณ ศีลพิพัฒน์, พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์, พล.อ.วิลาศ อรุณศรี, พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ, พล.อ.ยุวนัฏ สริยกุล ณ อยุธยา, นายธานี อ่อนละเอียด, พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ และ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์