ผ่าประเด็นร้อน
ไม่น่าเชื่อว่าทัศนคติ เหตุผลของคนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนถึง 28 คน จะขัดขวางไม่ให้มีการยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยบางคนอ้างว่าพวกเขา “ไม่ใช่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หรือยังมีข้ออ้างที่พิลึกพิลั่นอีกว่า มีทรัพย์สินกระจัดกระจายผ่านมาหลายปี ทำให้รวบรวมยาก ว่าเข้าไปนั่นอีก โดยคนพวกนี้ได้ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้มีการสั่งระงับการยื่นบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวทันที
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะพิจารณาในแง่มุมความเหมาะสมในด้านอื่น มาพิจารณาบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2557 มาตรา 6 วรรค 2 บัญญัติให้ สนช. ทำหน้าที่เป็น ส.ส. และ ส.ว. ขณะเดียวกัน หากย้อนนับไปพิจารณาตัวอย่างก็จะพบว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยมีมติเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 ให้ สนช. ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ดังนั้น สนช. ปี 2557 ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯต่อ ป.ป.ช. ตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งต้องยื่นภายใน 30 วัน
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อบัญญัติตามกฎหมายก็ชัดเจนว่า สนช. ปี 2557 ทำหน้าที่เป็นสมาชิกรัฐสภา ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ระงับยับยั้งกฎหมายรวมไปถึงการอนุมัติเห็นชอบบุคลากรในองค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การเป็น สนช. ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นตำแหน่งสำคัญ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี มีจิตสำนึกเสียสละ มีสำนึกสาธารณะ “ต้องมีจริยธรรมคุณธรรมต้องอยู่เหนือกฎหมายบังคับ”ด้วยซ้ำไป
เพราะแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯในฐานะนายกรัฐมนตรีไปแล้ว และยืนยันว่าพร้อมให้มีการตรวจสอบ ทำไห้ไม่ต้องมีคำถามให้กวนใจ หรือแม้แต่ สนช. บางคนที่เป็นระดับนายทหารระดับคุมกำลังบางคนก็เคยยืนยันว่าเขาพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ หากไม่พร้อมก็ไม่ต้องเข้ามา
แต่เมื่อได้เห็น พฤติกรรมของ สนช. กลุ่มนี้ โดยในจำนวน 28 คนดังกล่าวดันมีชื่อของ พล.อ.นพดล อินทปัญญา ที่ควบหลายตำแหน่งรวมอยู่ด้วย โดยเขา เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อสารมวลชน มันก็ยิ่งเป็นคำถามตัวโตๆ ว่าหากคนที่มีบทบาทสำคัญแบบนี้ยังมีทัศนคติแบบนี้มันจะมีความหวังได้อย่างไร เพราะถือว่า “ล้าหลัง” จะเรียกว่า “ไม่มีจิตสำนึกสาธารณะ” เลยก็ว่าได้ ในทางตรงข้ามความคิดแบบนี้น่าจะเป็นการฉุดรั้งต่อการปฏิรูปบ้านเมืองในวันหน้าด้วยซ้ำไป และที่สำคัญเป็นการทำลายเครดิตด้านการปฏิรูปให้ถดถอยลงไม่น้อย
แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวของ พล.อ.นพดล อินทปัญญา กับ สนช. ที่เหลือรวม 28 คน ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางให้ตัดสินชี้ขาดว่า สมาชิก สนช. จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมไปถึงมีอำนาจในการนำบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวมาเปิดเผยต่อสาธาณะภายใน 30 วัน หลังครบกำหนดหรือไม่ถือว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ถ้าถามในเรื่องของความเหมาะสมก็ต้องตอบแบบตรงๆ ว่า ไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง มิหนำซ้ำยังทำให้เกิดความน่าสงสัยตามมาอีกว่าทำไมถึงไม่ยินดีให้มีการเปิดเผยและตรวจสอบทรัพย์สิน คำถามต่อมาอีกก็คือมีอะไรต้องปิดบังซ่อนเร้นหรือเปล่า
แม้ว่าที่ผ่านมา พล.อ.นพดล อินทปัญญา จะออกตัวแล้วว่าสาเหตุที่ต้องร่วมยื่นฟ้องศาลปกครองดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาขัดขวางการยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยอ้างว่าส่วนตัวได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินไปให้ปปช.ตรวจสอบแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องตั้งคำถามอีกว่าแล้วทำไมต้องหาความชัดเจนแบบนี้ทำไมไม่มีจิตสำนึกสาธารณะ มีจริยธรรมทางการเมืองที่ต้องเหนือข้อบังคับทางกฎหมาย ต้องพร้อมที่จะให้ตรวจสอบและมีสปิริตสูงส่งอยู่ตลอดเวลา
ทั้งที่จะว่าไปแล้วในสถานการณ์ “พิเศษ” แบบนี้การตรวจสอบหรือการยื่นบัญชีทรัพย์สินก็คงไม่ได้เข้มงวดจริงจังแบบเต็มร้อยนัก อาจเป็นลักษณะตามธรรมเนียมด้วยซ้ำไป แต่ที่คาดไม่ถึงก็คือยังมีบุคคลที่มีความคิดและทัศนคติแบบนี้ออกมาให้เห็นจนได้ และแม้ว่าในที่สุดศาลปกครองจะชี้ออกมาในทางไหนก็ตามสามารถทุเลาคำสั่งให้ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นจะอยู่สปิริตและความสำนึกรับผิดชอบต่างหาก
ที่น่าสนใจก็คือคนพวกนี้ยังมีส่วนสำคัญในการออกกฎหมาย ยับยั้งกฎหมายที่มีผลบังคับกับคนทั้งประเทศ มีส่วนร่วมในการปฏิรูปบ้านเมืองเสียด้วย ถือว่าน่าหนักใจเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าจะต้อง “ปฏิรูปคนพวกนี้” เสียก่อนหรือไม่ !!