xs
xsm
sm
md
lg

อัด28สนช.ขาดจริยธรรม ขัดขืนแจ้งบัญชีทรัพย์สิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง พร้อมสมาชิก ร่วมกันแถลงว่า สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง การกระทำที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีทางจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 28 คน ที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติของป.ป.ช. ที่ให้สนช.ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยเห็นว่า การที่ป.ป.ช.มีมติว่า สนช.มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.
แต่สนช.นำโดย พล.อ.นพดล อินทปัญญาได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนมติป.ป.ช. และเมื่อศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา สนช.ทั้ง 28 คน ก็ยังไม่สำนึกถึงหน้าที่ที่ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อสังคม กลับยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด รวมทั้งขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณ าของศาลปกครองกลาง กรณีดังกล่าว สภาพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง 2551 มีบทบาทอำนาจหน้าที่ประการหนึ่งในการส่งเสริมพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงจำเป็นต้องแถลงให้สังคมทราบว่า การกระทำของสนช. ทั้ง 28 คน เป็นการกระทำที่ไม่สมควร และไม่เป็นแบบอย่างที่ดีทางจริยธรรม โดยขอให้ สนช.ทั้ง 28 คน ได้โปรดตระหนักถึงความพยายามร่วมกันในหน้าที่ และความรับผิดชอบในการธำรงไว้ ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมไทยต่อไป
ทั้งนี้ นายธีรภัทร ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองได้มีการหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาหารือ และเห็นตรงกันว่า การกระทำของ 28 สนช. ดังกล่าว ไม่สมควร แต่เป็นการกระทำครั้งแรก ซึ่งแม้ว่าจะมีการใช้สิทธิทางศาลที่ยังค่อนข้างก่ำกึ่ง ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต หรือทุจริต ซึ่งที่ประชุมก็เห็นว่า ยังไม่เป็นการทุจริต จึงจำเป็นที่สภาพัฒนาการเมืองควรต้องออกแถลงการณ์ ขอให้ สนช. 28 คน ได้
ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และการเป็นแบบอย่างดี ถือเป็นการให้คำแนะนำและข้อเตือนใจอะไรที่ไม่ดี ก็ไม่ควรปฏิบัติ
"การแสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน เป็นการแสดงถึงความโปร่งใสของตนเอง ไม่ว่าจะมาจากการได้รับแต่งตั้ง หรือเลือกตั้ง เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็สมควรที่จะกระทำ ที่บอกว่ามาอยู่แค่ 1 ปี ไม่ต้องแสดง จึงฟังไม่ขึ้น อีกทั้งในทางการเมืองแล้ว การจะตัดสินใจอะไรก็ล้วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ จริงอยู่การแสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน อาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาการทุจริตได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถป้องปราม และการป้องกันการทุจริตได้ระดับหนึ่ง ทำให้ประชาชนเกิดความสบายใจ และทำให้ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิจารณาว่า อยากจะเข้ามาหรือไม่ ถ้าไม่อยากแสดงบัญชีทรัพย์สิน ก็อย่ารับตำแหน่ง หรือรับตำแหน่งแล้วไม่อยากแสดงบัญชีทรัพย์สิน ก็ควรลาออกไปเสีย" นายธีรภัทร กล่าว
นายธีรภัทร กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวยังมีความเห็นว่า สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 250 คน และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ที่จะมีการแต่งตั้งต่อไป ควรจะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน เพราะคนเป็น สปช. สวมหมวกหลายใบ ทั้งในภาคราชการ เอกชน เมื่อจะต้องมาเสนอแนะในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ข้อเสนอก็ย่อมหลีกเลี่ยงการมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องไม่ได้ ซึ่งผลประโยชน์นั้น อาจแปรรูปเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต ขณะที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก็กำหนด ห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นกรรมาธิการฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉะนั้นบุคคลทั้ง 2 กลุ่ม ก็ควรที่จะแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ถือเป็นการยกระดับการส่ง เสริมจริยธรรม
" ที่กำลังจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมก็เห็นว่า เรื่องการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง นอกจากจะต้องให้เป็นบรรทัดฐานที่ยึดถืออย่างมั่นคงถาวรแล้ว ควรมีการเพิ่มความเข้มแข็งเข้มข้นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน เช่น รับราชการมา 30-40 ปี เงินเดือนไม่เท่าไร แต่ทำไมถึงร่ำรวยมีทรัพย์สินมาก ยิ่งถ้าไม่ได้มีมรดก ทรัพย์สินได้มาอย่างไรจากไหน เข้ามาเป็นมาตรการเสริมรองรับเพื่อป้อมปรามและป้องกันผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วคิดมิชอบ" นายธีรภัทร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น