xs
xsm
sm
md
lg

“จเร” ปัดบีบ สปช.ตั้งคนสอบตกนั่ง ผช. ประชุมนัดแรก 21 ต.ค.ข้อบังคับคล้าย สนช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร(แฟ้มภาพ)
เลขาฯ สภาเผยไม่บังคับ สปช.ตั้งคนวืด สปช.เป็นผู้เชี่ยวชาญ ให้ที่ประชุมถกกันเองกำหนดการทำงานผู้สอบตกที่ช่วยกันเอง ร่างบังคับประชุมคล้าย สนช.ปรับให้สอดรับภารกิจ ปัดถาม ป.ป.ช.เรื่องตรวจบัญชี สปช. พร้อมทำหนังสือเชิญ สปช.ประชุมครั้งแรก 21 ต.ค. เผยรับอุปกรณ์สารสนเทศ ส.ส.ครบแล้ว มอบ สปช.ใช้ต่อ สถานที่พร้อมเริ่มทำงานแล้ว

วันนี้ (15 ต.ค.) นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ก.ร.) มีมติให้ผู้สมัคร สปช.ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญให้กับสมาชิก สปช.นั้นเป็นเพียงหลักการเท่านั้น โดยไม่ได้บังคับว่าสมาชิก สปช.จะต้องแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ เพียงแต่อาจจะเสียสิทธิประโยชน์เท่านั้น

นายจเรกล่าวว่า สมาชิก สปช.สามารถแต่งตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 1 คน ผู้ชำนาญการ 1 คน และผู้ช่วยดำเนินงาน จำนวน 3 คน ตามระเบียบของรัฐสภากำหนด ซึ่งถ้าสมาชิก สปช.จะแต่งตั้งบุคคลให้ครบตามตำแหน่งดังกล่าวจะต้องมีผู้สมัคร สปช.ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่จำนวน 1 คน แต่สมาชิก สปช.จะไม่แต่งตั้งผู้สมัคร สปช.ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกก็ได้ซึ่งจะทำให้ตำแหน่งนั้นว่างลง

เมื่อถามว่า ผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเป็น สปช.หากเข้ามาทำงานใน สปช.จะมีขอบเขตการทำงานอย่างไร นายจเรกล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องแล้วแต่ที่ประชุม สปช.จะเป็นผู้ตกลงว่าจะกำหนดบทบาทการทำงานอย่างไร เช่น ถ้าจะให้บุคคลเหล่านี้เข้าไปทำงานในตำแหน่งคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำ สปช.ก็ต้องไปกำหนดคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ไว้ข้อบังคับการประชุม สนช.ต่อไปในอนาคต

นายจเรกล่าวว่า สำหรับการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ได้ทำการจัดทำร่างข้อบังคับการประชุม สปช.ในเบื้องต้น โดยเนื้อหาจะสอดคล้องกับข้อบังคับการประชุม สนช. เพียงแต่จะนำมาปรับปรุงเพื่อให้สอดรับกับภารกิจของ สปช.ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ทั้งนี้เมื่อได้นำข้อบังคับฉบับนี้เสนอต่อที่ประชุม สปช.คาดว่า สปช.จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือนเพื่อให้ความเห็นชอบและบังคับใช้ในการทำงาน

เมื่อถามอีกว่า ในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ สปช.ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ทำเรื่องสอบถามไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ เลขาธิการสภาฯ กล่าวว่า คงจะไม่มีการทำเรื่องไปถาม ป.ป.ช.เพราะเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่ ป.ป.ช.สามารถวินิจฉัยได้โดยตรง โดยที่ สปช.ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือไปสอบถาม

นายจเรกล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะทำหนังสือเชิญประชุมไปยัง สปช.ให้รับทราบในวันที่ 15 ต.ค.ว่าจะมีการประชุม สปช.ครั้งแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ต.ค.นี้ โดยมีวาระสำคัญ คือ การรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิก สปช.จำนวน 250 คน จากนั้นจะเป็นการเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งประธาน สปช.1 คน และรองประธาน สปช.อีก 2 คน ซึ่งการประชุมในวาระการเลือกประธานและรองประธาน สปช.จะนำข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาบังคับใช้โดยอนุโลมก่อน ส่วนภายหลังการเลือกประธานและรองประธาน สปช.แล้วหากสมาชิก สปช.จะนำเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการเรื่องการปฏิรูปก็ขึ้นอยู่กับความเห็นที่ประชุมว่าจะตัดสินอย่างไร

เลขาธิการสภาฯ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้รับอุปกรณ์สารสนเทศจากอดีต ส.ส.เกือบครบหมดแล้ว ซึ่งจะนำไปปรับปรุงโปรมแกรมภายในเพื่อให้มีความทันสมัยและนำมามอบให้กับสมาชิก สปช.ไปใช้สำหรับอำนวยความสะดวกในการทำงานต่อไป นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้จัดเตรียมสถานที่และห้องทำงานให้กับสมาชิก สปช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้มีการจัดเตรียมสถานที่ทำงานไว้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยบริเวณชั้น 3 อาคารรัฐสภา 1 ได้มีการปรับปรุงห้องทำงานของรองประธานสภาฯเดิมมาเป็นห้องทำงานของประธาน สปช. รองประธาน สปช.คนที่ 1 และรองประธาน สปช.คนที่ 2 พร้อมกับนำป้ายระบุตำแหน่งมาติดไว้หน้าห้อง เช่นเดียวกับได้ปรับปรุงห้องทำงานบริเวณชั้น 3 ของอาคารรัฐสภา 3 สำหรับเป็นห้องทำงานของประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น