xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"สั่งสปช.หุบปาก โวบยังไม่เปิดสภาเถียงกันจนเละ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแสดงตนของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวานนี้ (14ต.ค.) ซึ่งเป็นวันที่ 7 มีสมาชิกมาแสดงตน 12 คน สรุปยอดสปช.ที่มาแสดงตนแล้ว 247 คน ยังเหลือที่ยังไม่ได้เดินทางแสดงตนอีก 3 คน คือ พล.ท.เดชา ปุญญบาล และ นางทิชา ณ นคร ที่คาดว่าจะเดินทางมาในวันนี้ (15 ต.ค.) ส่วน นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่า ติดภารกิจต่างประเทศ จะขอแสดงตนในวันที่ 18 ต.ค. แต่เนื่องจากเป็นวันเสาร์ ทางเจ้าหน้าที่ได้ขอให้มาแสดงตนในวันที่ 20 ต.ค.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้า โรดแมปขั้นที่ 3 โดยเฉพาะระยะเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรว่า มีการกำหนดไว้แล้วว่า สิ้นปีนี้ต้องมีรัฐธรรมนูญ และต้องใช้เวลาเตรียมการเลือกตั้ง 3-4 เดือน แต่เรื่องการปฏิรูป 11 เรื่อง จะออกมาได้ไม่ได้ นี่ยังไม่ได้เปิดสภาฯเลย เถียงกันจนเละไปหมดแล้ว คนหนึ่งพูดขยายตรงนั้น ตรงนี้กันไป ไม้รู้ ตนสั่งไปแล้ว สปช.พูดให้น้อยลง ยังไม่ทำงานเลย การเสนอความคิดของตัวเอง มันก็เป็นร้อยเรื่องพันเรื่อง ยกกันมาต้องเลือกตั้งแบบนี้แบบนั้น จะเป็นแบบประธานาธิบดี ไปกันใหญ่ ปวดหัว

** ครม.เสนอชื่อ กมธ.ยกร่างรธน.คนนอก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะไปเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นคนนอก จะเอารัฐมนตรีไปเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบังคับ โดยต้องเข้าที่ประชุมครม. เพื่อขอมติก่อน
ส่วนสัดส่วนของ คสช. สปช. และ สนช. จะเป็นคนในหรือคนนอกก็ได้ โดย คสช.จะเสนอ 6 คน แบ่งเป็น ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 1 คน และเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน ซึ่งเสนอไปพร้อมกัน ซึ่งขณะนี้ครม. และคสช. ยังไม่มีการส่งรายชื่อ เพราะโดยหลักต้องรอการส่งชื่อของสนช.และ สปช. เรียบร้อยก่อน ไม่อย่างนั้นต่างคนต่างไป เดี๋ยวซ้ำกัน สำหรับตนมีคนที่จะเสนอในใจแล้ว แต่คาดว่าคนที่ตนจะเสนอชื่อส่วนอื่นอาจเสนอชื่อคนนี้ไปก่อนตนแล้ว สำหรับตัวประธานที่ คสช. เสนอ เลือกจากคนนอก คนในสนช. หรือ สปช. มาเป็นประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้ ยังมีเวลาบวกไปจากวันที่ 21 ต.ค.ไปอีก 15 วัน ที่จะตกลงกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าเร็วเกินไปหรือไม่ ที่สมาชิก สปช. บางคนเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญ อย่างนายกรัฐมนตรี มาจากคนนอกได้ นายวิษณุ กล่าวว่า เร็วไปที่จะคิดอย่างนั้น ควรฟังอะไรให้หลากหลายก่อน แล้วค่อยนำเสนอ เนื่องจากมีผู้สื่อข่าวไปถาม ท่านก็ตอบจากจุดยืนตัวเอง แต่ต้องฟังสมาชิก สปช. ที่เหลือด้วย ว่าคิดอย่างไร การร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ สปช.เป็นคนร่าง แต่เป็นหน้าที่ของ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนเป็นคนร่าง สปช.อาจจะเป็นคนให้กรอบเข้าไปโดยเป็นกรอบกว้างๆ ที่ไม่ลงไปว่านายกฯ มาจากคนใน หรือคนนอก เป็นเพียงการพูดกันกว้างๆ เช่น มีสภาเดียว หรือสองสภา ส.ว.จะมาจากเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งการตอบของท่านเป็นการตอบ ณ จุดยืนที่ยังไม่ได้เป็น สปช. แต่พอมาเป็นแล้ว ใครอยากได้อะไร ไม่ใช่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะมานั่งรับ สปช. ทั้ง 250 คนเสนออะไร ซึ่ง สปช.ทั้ง 250 คน ค่อยไปเสนอในสภา แล้วโหวตกัน จึงจะเป็นกรอบ ของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะนำไปสรุปประเด็น โดยใช้เสียงข้างมาก ในเวลา 2 เดือน

** ยอมรับเลือกตั้ง อาจยืดไปปี 59

เมื่อถามว่า มีการมองว่า ถ้าไม่สามารถดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาจต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าเพิ่งถาม เพราะยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่ง ที่จริงคำตอบอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่แล้ว ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จ ต้องยุบ สปช. ยุบกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และตั้งต้นใหม่ ซึ่งการตั้งใหม่ อาจไม่ใช้กระบวนการอย่างเก่า แต่เร็วขึ้น
เมื่อถามย้ำว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า จะเลือกตั้งในปี 59 ตามที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปช. ระบุ นายวิษณุ กล่าวว่า ในที่สุดต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้แล้ว ปี 58 ต้องเสร็จ
" แต่คำว่ารัฐธรรมนูญเสร็จ ไม่ได้หมายความว่า จะเลือกตั้งได้ทันที ต้องบวกเวลาออกกฎหมายลูก อย่างน้อย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่รู้ กกต.จะมีหรือไม่ ทั้งเมื่อ พ.ร.บ.ออกมาแล้ว หลังจากนั้นก็ต้องให้เวลาสำหรับเตรียมตั้งพรรค หาเสียง กับเลือกตั้ง ก็ต้องบวกไป จะใช้เวลานานเท่าไร ดังนั้นก็ไม่แปลกถ้าเวลาจะล้ำไปถึงต้นเดือน ม.ค.59 เพราะกว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะแล้วเสร็จ ก็เดือน ก.ย.58 และหากต้องทำกฎหมายลูก ก็ต้องใช้เวลาร่างกฎหมายลูก แล้วเข้าสภาประมาณ 2 เดือน คือ ปลายปี 58 จึงไปอีกพอสมครวร มันไม่ใช่เรื่องถ่วงเวลาหา เรื่องอยู่นาน" นายวิษณุ กล่าว

** สนช.คัดกมธ.ยกร่างฯ 30 ต.ค.

นพ.เจตน์ ศิรธนานนท์ โฆษกวิป สนช. กล่าวภายหลังการประชุมวิปว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการสรรหากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามสัดส่วนของสนช.จำนวน 5 คน โดยวิปจะมีการตัดสินในวันที่ 30 ต.ค. ซึ่งมีทั้งการเปิดรับอาสาสมัครและทาบทามบุคคล โดยขณะนี้บุคคลที่อาสาสมัครคือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส่วนที่มีการทาบทามเท่าที่ทราบ มีนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น เราจะพิจารณาคัดเลือกจาก สนช. ก่อน แต่หากหาบุคคลใน สนช.ไม่ได้ ก็อาจจะพิจารณาจากบุคคลภายนอก ทั้งนี้ หากสนช.ได้เป็นกรรมาธิการยกร่างที่ประชุมเห็นว่า ไม่ต้องลาออกจาก สนช. แต่ควรลาออกจากการเป็นกรรมาธิการสามัญ เพราะจะต้องทุ่มเทเวลาให้กับการยกร่าง รัฐธรรมนูญ

**ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ศาลรธน.

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวานนี้ (14ต.ค.) ได้มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ และวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... โดยกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการพิจารณา และการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 45 วรรคสอง ตามที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ก่อนเสนอสนช. ต่อไป
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก่ 1. กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการออกข้อกำหนดของศาลฯ เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลฯ เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ
2. กำหนดให้มีพนักงานคดีรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ช่วยเหลือในกระบวนพิจารณาของศาลตามที่ศาลมอบหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และข้อกำหนดของศาลฯ สำหรับคุณสมบัติหลักเกณฑ์ และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้ง และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งพนักงานคดีรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ศาลฯ กำหนด
3. กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีตามรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
4. เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของตุลาการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลกำหนด สำหรับค่าพาหนะเดินทาง ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายอื่นในกรณีเดินทางไปราชการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ศาลกำหนด
5. กำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ใช้ระบบไต่สวน
6. กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคำร้อง และการจำหน่ายคดี โดยคำร้องต้องทำเป็นหนังสือระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ
7. กำหนดองค์คณะของศาลในการพิจารณาคดี และในการทำคำวินิจฉัยต้องประกอบด้วย ตุลาการไม่น้อยกว่า 5 คน และคำวินิจฉัยของศาล ให้มีผลในวันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำวินิจฉัยนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น