พลันที่หน้าตาของ “สมาชิกสภาปฏิรูป” (สปช.) ออกมาปรากฎต่อสาธารณะ ดูเหมือนจะมีเสียง “ยี้” ออกตามมามากมาย เพราะต้องยอมรับว่ามีหลายคนที่มีชื่อเสียงบวกกับภูมิหลังไม่น่าจะได้เข้ามามีส่วนในการปฏิรูปพลิกฟื้นประเทศ ที่บ่นมากหน่อยก็บรรดาลิ่วล้อ “ระบอบทักษิณ” ที่เห็นว่าคนที่มีจุดยืนตรงข้ามกับฝ่ายตนเข้า สปช.เยอะ
แต่ด้วยเหตุผลที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการใช้งานคนที่ไว้ใจได้ ผนวกกับ “กฎอัยการศึก” ที่บังคับใช้อยู่ กระแสต่อต้านในทางเปิดเผยจึงลดน้อยถอยลง แต่กระแสต้านในทางลับ คสช. จึงต้องรอเช็คให้ดี เพราะอาจจะเป็นเชื้อไฟชั้นดีที่จุดติดง่ายมาก
จากนี้ไป คสช. อาจจะต้องระมัดระวังอย่าเปลี่ยนเสียง “ยี้” ให้มาเป็นเสียง “โห่” ขับไล่จนดังขึ้นมาก เพราะหากบีบบังคับชนิดมัดมือชกกันเยอะ เสียงของ “ขั้วตรงข้าม” อาจจะดังขึ้นมาได้
พลาดพลั้งเมื่อใดคงมีคนออกมาขย้ำไม่ต่างกับฝูงไฮยีน่า
เรื่องการแต่งตั้ง “คนกันเอง” เข้ามาดำรงตำแหน่งคงไม่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เท่าใดนัก เพราะพูดไปก็แค่ผ่านหูซ้ายทะลุหูขวา คสช.ไม่สนใจจนวันนี้ทุกขบวนการเดินหน้าเกือบเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนแล้ว อม่น้ำ 5 สายได้มาเกือบครบ ขาดก็เพียง “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร” ที่จะเป็นแม่น้ำสายสุดท้าย
เมื่อไล่ไทม์มิ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เมื่อได้ สปช.กันแล้ว คิวต่อไปคือการจัดตั้ง “กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หลังมีการประชุม สปช.นัดแรก ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้
ล่าสุดคาดว่าจะมีการประชุม สปช.นัดแรกในวันที่ 21 ตุลาคม นับไปอีก 15 วัน จะอยู่ที่วันที่ 5 พฤศจิกายน ประเทศไทยจะมี “กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ” คณะใหม่ถือกำเนิดขึ้น เพื่อร่างกติกาใหม่ที่จะบังคับใช้กับการบริหารประเทศทั้งหมด
โดยสัดส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วย 1.ประธานกรรมการตามที่ คสช.เลือก 2.สปช.จะเสนอจำนวน 20 คน 3.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. ร่วมกันเสนอชื่อฝ่ายละ 5 คน
รวมเป็น 36 คน หรือ “36 อรหันต์” ที่จะมาร่างกติกาประเทศ
ซึ่งตัวเต็งที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หนีไม่พ้น “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า หลัง “บวรศักดิ์” เตรียมผลักดันเครือข่ายคนสนิท “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เข้าไปยึดเก้าอี้เบอร์หนึ่ง สปช. โดยให้ “เทียนฉาย กีระนันทน์” อดีตอธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่งเก้าอี้ประธาน สปช. โดยมี “ทัศนา บุญทอง” อดีตรองประธานวุฒิสภา คั่วตำแหน่งรองประธาน สปช.คนที่สอง ส่วนตัว “บวรศักดิ์” อาจนั่งคุมเกมในตำแหน่งรองประธาน สปช.คนที่หนึ่งเอง
ทั้ง 3 คนถือเป็นศิษย์เก่ารั้วสีชมพูทุกคน “บวรศักดิ์” จบนิติศาสตร์ “เทียนฉาย” จบรัฐศาสตร์ “ทัศนา” จบคุรุศาสตร์ เรียกได้ว่า “รัฐประหาร” ครั้งนี้ “จุฬาฯคอนเนคชั่น” ชักจะมาแรงกว่า “ธรรมศาสตร์คอนเนคชั่น” เสียแล้ว
และจากนี้ต้องจับตาว่า “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่บรรดา “อาจารย์-นักวิชาการ” ใฝ่ฝันที่จะเข้ามานั่งเกือบทุกคน เพื่อลองภูมิความรู้ปัญหาที่ได้เล่าเรียนมาว่าจะนำมาเขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศได้หรือไม่
อีกทั้ง “บวรศักดิ์” ยังเป็นลูกศิษย์ก้นกรุของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” สมาชิก คสช. อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“มีชัย” เคยระบุว่า “ทำไมลูกศิษย์ผมจะเป็นใหญ่เป็นโตบ้างไม่ได้ ในเมื่อเขาก็มีความสามารถ” ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมการันตีคุณภาพ-คุณสมบัติของ “บวรศักดิ์” ที่สามารถเข้ามาขับเคลื่อนการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ได้
หากย้อนไปในช่วงที่ “พล.อ.ประยุทธ์” นำกำลังทหารเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ก็เป็น “บวรศักดิ์” และ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ที่ถูกดึงมาเป็น “กุนซือ” ด้านกฎหมายให้กับ คสช.มาโดยตลอด ทั้งการออกข้อบังคับ-ออกประกาศ ต่างๆ ทุกตัวอักษรผ่านการตรวจสอบจาก “บวรศักดิ์-วิษณุ”
เมื่อ “วิษณุ” ได้ดิบได้ดีเป็นถึงรองนายกฯไปแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หาก “บวรศักดิ์” จะเข้ามารับตำแหน่งประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ข่าวว่า “บวรศักดิ์” ตีตราจองตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ ถือเป็นจุดสูงสุดของนักกฎหมายที่จะได้คุมการเขียนกติกาประเทศ
ส่วนระยะเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวระบุว่า ต้องร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจาก สปช. นั่นหมายถึงการร่างรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2558
จากนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช.พิจารณา ซึ่ง สปช.สามารถขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้อีก ภายใน 30 วัน ซึ่งการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญสมาชิก สปช.ต้องเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 และหาก สปช.แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็สามารถทอดเวลาออกไปได้อีก
เมื่อ สปช.พิจารณาแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี และ คสช.เพื่อเสนอความคิดเห็นหรือเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน
กระบวนการทั้งหมดน่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในปี 2558 ตามโรดแมปที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้กำหนดและให้คำมั่นสัญญากับประชาชนเอาไว้ ซึ่งหาก คสช.เลือกทางลงในเวลานั้นตามที่สัญญาไว้ 1 ปี คงดูดี-ดูหล่อไม่น้อย
ทว่าข่าวที่ออกมาในระยะหลัง เริ่มมีความเคลื่อนไหวแล้วว่า “บิ๊กตู่ - คสช.” จะอยู่ยาวมากกว่า 1 ปี โดยจะมีเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างที่จะทำให้ระยะเวลาคืนอำนาจให้กับประชาชนอาจจะล่าช้าไปกว่าเดิม
พลิกดูมาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวระบุไว้ชัดเจนว่า หาก สปช.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง โดย คสช.ดำเนินการจัดตั้ง สปช.และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อดำเนินการตามกรอบที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดเอาไว้
ถึงวันนั้นหาก “บิ๊กตู่ - คสช.” บวก-ลบ-คูณ-หาร แล้ว สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่เอื้ออำนวย หรือคะแนนนิยมในตัวของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ยังไม่สิ้นมนต์ขลัง ไม่แน่ “บิ๊กตู่ - คสช.” อาจจะต่ออายุตัวเอง โดยอาศัยช่องว่างทางรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่กำหนดเอาไว้ก็ได้
ถึงวันนั้นหากการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช.หรือโดน “ครม.-คสช.” ตีตก อำนาจของ “บิ๊กตู่ - คสช.” จะถูกทอดเวลาออกไปก็จะกินระยะเวลาไปอีกแรมปี
มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าสาเหตุหนึ่งที่ “ครม. - คสช.” ตัดสินใจไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ หากหวังจะต่ออำนาจของตัวเองก็ต้องหวังเพิ่งอำนาจตามกฎอัยการศึกที่ประกาศทิ้งเอาไว้
มีบางคนใน “บิ๊ก คสช.” ระบุว่า “การคงอำนาจกฎอัยการศึกไว้โดยไม่ยกเลิก ยังง่ายกว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้วคิดจะประกาศมาใหม่” ยิ่งหาก “บิ๊กตู่ - คสช.” เลือกอยู่โยงแล้ว การมี “กฎอัยการศึก” ก็เท่ากับเป็นยันต์กันผี ป้องกัน “ครม. - คสช.” ไม่ให้มีปัจจัยแทรกซ้อนเข้ามากระเทือนเสถียรภาพ
ล่าสุด “ชัย ชิดชอบ” สมาชิก สปช.คนดัง ที่ทาง “พรรคภูมิใจไทย” ส่งเข้าประกวด ออกมาระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน คงทำไม่ทัน
สัญญาณจาก “ปู่ชัย” ผู้เจนจัดงานสภา ถือเป็นสัญญาณที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะมาพูดในขณะที่รับตำแหน่งสปช.หมาดๆ อาจจะต้องการบอกกับ “ครม. - คสช.” ที่ยังคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จทันภายใน 1 ปี ว่าไม่สามารถทำได้
หากเป็นอย่างที่ “ปู่ชัย” คาดการณ์เอาไว้ งานนี้มีหวัง “ครม. - คสช.” อยู่ยาวๆเป็นแน่
หลังจากนี้ต้องจับตาว่า “บิ๊กตู่ - ครม. - คสช.” มีแผนจะอยู่ยาวสักเท่าไร เพราะปัจจัยการลงจากอำนาจไม่ใช่แค่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จแน่นอน แต่อยู่ที่จะสลาย “ขั้วอำนาจเก่า” ให้หมดพลังได้มากน้อยเพียงใด
หากสลาย "ขั้วอำนาจเก่า” ได้เมื่อไร หรือมั่นใจว่า “พรรคการเมือง” ที่ “ทหาร” คอยหนุนหลังอยู่แข็งแกร่งพอที่จะต่อกรกับ “ขั้วอำนาจเก่า” วันนั้นคือวันที่ “บิ๊กตู่” ตัดสินใจลงจากเก้าอี้ “ผู้นำประเทศ”