xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ"ส่งซิกไม่ทำประชามติ รธน.ถาวรโยงม.35รธน.ชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ปู่ชัย"แบะท่านั่งประธาน สปช. จะรักษาผลประโยชน์ประเทศจนสิ้นลม ชี้กรอบเวลา 6 เดือนในการร่างรธน. น้อยไป ระบุในสปช.มีตัวแทนจากทุกพรรค เพียงแต่ไม่แสดงตน "คำนูณ" เสนอตัวเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ "วิษณุ" ชี้รธน.ถาวร ยึดโยง มาตรา 35 รธน.ชั่วคราว ส่อไม่ต้องทำประชามติ ด้าน"ประยุทธ์"บอกไม่ต้องห่วงเรื่องกรอบเวลาร่าง รธน. ทุกอย่างทำตามขั้นตอน เร่งหาทางปลอบใจ"สปช.ตกรอบ"

เมื่อวานนี้ ( 9 ต.ค.) ที่รัฐสภา ได้เปิดให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รายงานตัวเป็นวันที่สอง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักโดยตลอดทั้งวันมีสมาชิกสปช.มารายงานตัวทั้งหมด 63 คน รวม สองวันมีผู้มารายงานตัวแล้ว 104 คน

**"พารณ"พร้อมทำหน้าที่ปธ.ชั่วคราว

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สมาชิกสปช. อายุ 87 ปี ให้สัมภาษณ์ถึงการถูกวางตัวให้ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในการประชุมสปช. นัดแรก ในฐานะที่มีอาวุโสสูงสุด ว่า ในวันที่ 21 ต.ค. เวลา 08.30 น. ตนจะทำการซักซ้อมการทำหน้าที่เป็นประธานกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะเริ่มการประชุมจริงในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เพื่อให้กระบวนการถูกต้องไม่เสียเวลา ซึ่งยืนยันว่าไม่หนักใจ และไม่มีความกังวลใดๆ ส่วนบุคคลที่เหมาะสมจะทำหน้าที่เป็นประธานสปช.นั้น มองว่า บุคคลที่เหมาะสม ควรเป็นนักกฎหมายมือดี เพื่อที่จะสามารถตอบข้อซักถามต่างๆได้ รวมทั้งต้องเป็นคนที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับสูง มีประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาใสสะอาด ไม่มีประวัติการฉ้อโกง หรือผิดขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ก็ยังไม่มีรายชื่อใครเป็นพิเศษ ส่วนที่มีรายชื่อปรากฏออกมาทางสื่อมวลชนนั้น ไม่ขอวิจารณ์

สำหรับแนวทางการปฏิรูป ตนมองว่า ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยเก่าแก่ตามโลกปัจจุบันไม่ทันเป็นกับดักการพัฒนาประเทศในทุกๆ เรื่อง โอกาสในการปฎิรูปครั้งนี้ จะต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้ประเทศพัฒนาขับเคลื่อน ส่วนที่มองว่า สมาชิกสปช. เป็นเครือข่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตนคิดว่าไม่ใช่ และก็เพิ่งทราบข่าวจากสื่อเช่นกัน

**"ปู่ชัย"แบะท่าพร้อมนั่งประธาน

นายชัย ชิดชอบ สมาชิก สปช. ให้สัมภาษณ์หลังเข้ารายงานตัว ถึงกระแสข่าวการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งประธาน สปช.ว่า ตราบใดที่กำลังวังชาของตนยังมีอยู่ ก็เป็นได้ เพราะเรามีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติ จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ ซึ่งนโยบายของพรรคภูมิใจไทย อยากให้ประเทศไปในทิศทางที่ดีทุกด้าน เนื่องจากตั้งแต่เล่นการเมืองมา 42 ปี ครั้งนี้เฟะที่สุด โดยเฉพาะเรื่องทุจริต คอร์รัปชัน

ส่วนแนวทางการทำงานนั้น มองว่าแนวการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ครอบคลุม จึงคิดว่าน่าจะต้องมีการเพิ่มหัวข้อในอีกหลายด้าน เช่น ให้ตัวแทน สปช. จากทั้ง 77 จังหวัด เสนอแนวทางปฏิรูปโดยเฉพาะทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

เมื่อถามว่า มองกรอบระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร นายชัย กล่าวว่า คงเป็นไปได้ยากในระยะเวลา 6 เดือน เพราะถือว่าเร็วไป แต่สุดท้ายแล้ว การร่างรัฐธรรมนูญจะช้าหรือเร็วขึ้น ขึ้นอยู่กับแนวคิดของคสช.ที่วางกรอบไว้ ว่าจะไปในทิศทางเดียวกันกับแนวคิดของสปช.หรือไม่ ซึ่งตนมองว่าควรให้นักปฏิบัติ เข้ามามีส่วนร่วมให้มาก เนื่องจากนักวิชาการมีความรู้ แต่ปฏิบัติไม่เป็น ส่วนจะมีการทำประชามติด้วยหรือไม่นั้น หากเขียนรัฐธรรมนูญออกมาดี ก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ

ส่วนที่มองว่า มีนักการเมืองเข้าร่วมการปฏิรูปน้อย จะมีผลกระทบหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ทุกพรรคการเมืองมีตัวแทนเข้ามาร่วมหมด เพียงแต่ไม่แสดงตัว เพราะไม่อยากแปดเปื้อน แต่ตนไม่กลัว เพราะต้องการที่จะปฏิรูปประเทศจริงๆ ซึ่งตนรู้สึกแปลกใจ ที่ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนการปฏิรูปเป็นจำนวนมาก แต่พอเอาเข้าจริง กลับไม่มีใครเข้ามาร่วมเลย

**"คำนูณ"เสนอตัวเป็นกมธ.ร่างรธน.

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปช. กล่าวถึงการทำงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติว่า ภาพรวมในการประชุมช่วงแรก คงเห็นการอภิปรายทั่วไปถึงภาพรวมให้ตกผลึกร่วมกัน ก่อนที่จะแยกกันไปทำงานในคณะกรรมาธิการแต่ละด้าน ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ ไม่ได้มีลักษณะสภาอำนาจที่จะต้องออกกฎหมาย แต่เป็นในลักษณะของสภาที่ปรึกษา เพื่อเสนอแนะแนวทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ข้อดีก็คือ สภาของเราก็จะพูดได้กว้างขวางขึ้น

ส่วนเรื่องผู้ที่เหมาะสมจะเป็นประธาน สปช. นั้น ตอนนี้ตนยังไม่มีชื่อในใจ แต่ควรเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และให้โอกาสสมาชิกแสดงความเห็นในการประชุมให้มากที่สุด เพราะตนอยู่ในสภาที่มีการจำกัดเวลาในการอภิปราย มานานมากแล้ว

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า การส่งตัวแทน สปช. ไปเป็นคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องหารือแนวทางร่วมกันใน สปช. ก่อนว่าจะมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกตัวแทนอย่างไร แต่ส่วนตัวแล้ว มีความเป็นห่วงเรื่องกรอบเวลาที่จำกัด ที่ต้องดำเนินการภายใน 15 วัน หลังจากการประชุม สปช. ครั้งแรก แต่เข้าใจว่าการกำหนดวันประชุม วันที่ 21 ต.ค.นี้ ก็เพื่อให้เวลาสมาชิกสปช.ได้หารือกันนอกรอบก่อน ขณะที่บุคคลที่เหมาะสมทำหน้าที่ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และต้องทำงานกันเป็นทีม ซึ่งหากตนเองได้รับเลือก ก็พร้อมเข้าไปทำหน้าที่ เพราะตนก็ศึกษาเรื่องนี้มานาน เขียนหนังสือก็เขียนแต่เรื่องนี้ ก็อยากจะได้รับโอกาส


**"รสนา"ชูแก้ปัญหาการเข้าถึงทรัพยากร

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสปช. กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศว่า ทั้ง 11 ด้านจะต้องมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมดเป็นภาพรวม ซึ่งปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ต้องแก้ไขคือความเหลื่อมล้ำ ด้วยเหตุที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม หากแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ก็จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ และการทำงานของสภาปฏิรูปต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น เพื่อนำข้อเสนอแนะไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเห็นว่า ควรจะมีการยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก เพื่ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และทำให้ภาพพจน์ประเทศในสายตาชาวโลกดีขึ้น

น.ส.รสนา ยังกล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปด้านพลังงานว่า พลังงานควรจะเป็นสาธารณะสมบัติของประชาชน แต่ปัญหาในขณะนี้ เป็นเพราะกิจการพลังงานเป็นไปเพื่อแสวงหากำไร จึงส่งผลกระทบต่อประชาชน

"วิษณุ"ชี้รธน.ถาวร ยึดโยง ม.35 รธน.ชั่วคราว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ว่า ต้องยึดโยงมาตรา 35 รัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องจัดทำร่างครอบคลุมที่กำหนดกว่า 10 เรื่อง รวมถึงทบทวนถึงความจำเป็นขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น โดยกำหนดกรอบภายใน 60 วัน นับแต่การประชุม สปช. นัดแรก วันที่ 21ต.ค. และนับจากวันที่ 21 ต.ค.ใน 15 วัน ต้องส่งชื่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน มาจาก คสช. 5 คน ครม.5 คน สนช.5 คน และ สปช. 20 คน โดยประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คสช.เป็นผู้เสนอมา 1 คน

ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไปจากครม. จะต้องไม่เป็นรัฐมนตรี หรือถ้าจะเป็น ต้องลาออก และกรอบร่างอีกทาง รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งหมดนำมาเป็นโจทย์เพื่อหาคำตอบ เป็นสิ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบังคับโจทย์ แต่ไม่ใช่ใบสั่ง

นายวิษณุ กล่าวว่า วิธีตั้งโจทย์คือ รัฐธรรมนูญถาวรฉบับก่อนๆ มาดู อะไรที่ชอบใจก็นำไปกำหนดเป็นกรอบ อะไรที่ไม่พอใจให้โจทย์ไปว่า อย่าไปเขียน

เมื่อถามว่าเริ่มมีการพูดถึงที่มา นายกรัฐมนตรี จะมาจากเลือกตั้ง หรือเป็นคนนอก นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าสนใจ เชื่อว่าในที่สุด สปช. จะถกเรื่องนี้ และนำไปใส่ในกรอบพิจารณาร่าง รวมถึงที่มาของ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่

เมื่อถามว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรไม่สามารถร่างแล้วเสร็จภายใน 1 ปี รัฐบาลจะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว บังคับร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ 120 วัน เป็นการดำเนินการเสร็จ ขั้นที่ 1 แต่ละขั้นตอนกำหนดระยะเวลาชัดเจน จะเบี้ยวไม่ได้ ยกเว้นถ้าทำประชามติ ก็ต้องบวกเวลาเพิ่ม สำหรับการลงประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำ เพราะคิดว่าหากมีการบังคับ ก็จะต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ เมื่อทำแล้วมีทั้งผลดี ผลเสีย ซึ่งผลดีคือจะเป็นการตอบความในใจของประชาชนที่อยากมีส่วนร่วม ผลเสียคือ หากมีการทำประชามติ อาจต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมืองได้

** ไม่ต้องห่วงกรอบเวลาร่างรธน.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง กรณีที่สมาชิก สปช. แสดงความกังวลถึง กรอบระยะเวลา 6 เดือน ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขอให้ใจเย็น เขามีกำหนดการอยู่แล้ว เขาต้องเตรียมโรดแมป ของเขาเช่นกัน ว่าเหลือเวลาเท่าไร จะเดินหน้าอย่างไร จะปฏิรูปให้มีความก้าวหน้าอย่างไร ไม่ใช่แค่ประชุมสภาฯ ลงความเห็นแล้วจะจบ หลายอย่างต้องถามว่ารัฐบาลเห็นชอบหรือไม่ หากเห็นชอบก็ต้องผ่าน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกเป็นกฎหมาย และข้อมูลของสปช. ที่มีการจัดทำเป็นรูปเล่ม 11 เล่ม มีความเห็นจากทุกสีเสื้อ เดี๋ยวจะเกิดข้อครหาว่า เสื้อสีโน้น สีนี้ไม่ได้เข้ามา แม้แต่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ก็ได้มาแสดงความคิดเห็น ทุกคนต่างก็มีความหวังดีกับประเทศ แต่เมื่อไม่ได้มีการสมัครเข้ามาเป็น สปช. เราก็จะดูความคิดเห็นทั้งหมดที่ผ่านมาด้วย ยืนยันว่า เราฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่ม ในส่วนของนักวิชาการ ก็ได้มีเอาผลงานของผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. เข้ามาอยู่ในหัวข้อต่างๆ ด้วย จากคณะปฏิรูปที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ทั้ง 3 คณะ เราเก็บหมดทุกเม็ด คู่ขัดแย้ง นักการเมือง เพียงแต่ว่าเวลามาสมัคร สปช. เขาไม่ได้มาสมัครเท่านั้น

**หาทางปลอบใจ "สปช.ตกรอบ"

เมื่อถามว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ได้เสนอรูปแบบเวทีแสดงความคิดเห็น สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช.ในกลุ่ม 7,000 กว่าคน เข้ามาหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ตนได้คุยกับนายวิษณุแล้ว มีรายละเอียดมาก จำไม่ได้ทั้งหมด และทุกตนจะต้องเป็นผู้อนุมัติ ดังนั้นจะให้พูดอะไรก่อนคงไม่ได้ เพราะบางเรื่องต้องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ตนจึงได้กำชับไปกับทุกคนแล้วว่า อย่าเพิ่งพูดอะไรตอนนี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นปัญหา บางครั้งสื่อมวลชนมาถาม ข่าวก็หลุดออกไป ก็อยากขอร้องสื่อว่า อย่าเพิ่งซักมาก

เมื่อถามย้ำว่า มีรูปแบบใดบ้างที่ดูแล้วจะเป็นแนวทางที่ดี นายกฯกล่าวว่า ขณะนี้เรามี สปช. 250 คนแล้ว ก็จะพิจารณาคัดเลือกจากกลุ่มที่ 550 คน ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้ามา ตั้งขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม เหมือนสภาที่ปรึกษา จากนั้นก็จะพิจารณาในส่วนของจังหวัด ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก มาเป็นกลุ่มที่ 2 และจะพิจารณาในส่วนที่นอกเหนือจากนี้ ซึ่งอาจจะไปดูแลในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เสนอแนะผ่าน กอ.รมน. ศูนย์ดำรงธรรม และทางจังหวัด โดยทุกคนจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูป และขอร้องว่าอย่ากดดันรัฐบาล เพราะมันไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของสภาปฏิรูป รัฐบาลมีหน้าที่เพียงการอำนวยความสะดวก ไม่มีการชี้นำ ไม่มีการมุ่งสู่อำนาจในอนาคต ขอทำวันนี้ให้จบ และในวันข้างหน้า ประเทศเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีความขัดแย้ง

ด้านนายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงาน กกต.ได้จัดเตรียมประวัติ และรายละเอียดของผู้ที่เสนอชื่อเข้ารับคัดเลือกมาเป็นสมาชิกสปช. ในส่วนของผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. ทั้งหมด 7,370 คน แบ่งเป็น 11 ด้าน 4,585 คน และระดับจังหวัด 2,785 คน ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประสานมา เพื่อขอนำรายชื่อ และประวัติของบุคคลที่ไม่ได้รับคัดเลือกเป็นสปช. กลับมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งบุคคลเหล่านี้ อาจจะได้รับการพิจารณาเข้ามาช่วยเหลืองานด้านการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า สามารถส่งประวัติดังกล่าวได้ภายในวันศุกร์ที่ 10 ต.ค.นี้ แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น