นายกฯ และหัวหน้า คสช.ลั่นต้องมีกฎหมายควบคุมการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ อ้างทั่วโลกเขามี คนไทยต้องยอมรับกติกาบ้างไม่ใช่นั้นจะวุ่นวาย หวังป้องกันเจ้าหน้าที่ปะทะชาวบ้าน พร้อมพยายามสร้างความเข้าใจนักการเมือง ถามพวกวิจารณ์ สปช.มาสมัครหรือไม่ สั่งทีมกฎหมายดูตั้งพวกพลาดหวังร่วมทำงานได้หรือไม่ จ่อคุยรัฐบาลคัด กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนจะประชามติหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยมีร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ ว่าทำอยู่ กำลังเข้าไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เขาทำไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว เข้าไปก็ไปถกแถลงกันว่าจะออกมาอย่างไร แก้ไขตรงไหน จะทำได้หรือไม่ได้ สังคมก็ต้องเรียนรู้ ก่อนหน้านี้กฎหมายออกไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของการเมือง และการเมืองต้องมีมวลชนสนับสนุนการเมือง เมื่อมีมวลชนสนับสนุนก็มีโอกาสมาต่อต้านต่อสู้ให้พรรคการเมือง กฎหมายตัวนี้จึงออกมาไม่ได้ เพราะรัฐบาลต้องไปจำกัดการชุมนุมของทุกกลุ่มทุกฝ่าย และอาจจะไปจำกัดกลุ่มของตนเอง ฉะนั้นวันนี้เราไม่ต้องการให้มีกลุ่มของใครทั้งสิ้น สิ่งที่เราทำวันนี้ไม่มีกลุ่มใครทั้งสิ้น ไม่มีกลุ่มตน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าต้องมีกฎหมายนี้ออกมาแน่นอนใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มันต้องมี ประเทศรอบบ้านและทั่วโลกเขามีหมดแล้ว คนไทยต้องยอมรับกติกากันบ้าง ไม่เช่นนั้นประเทศชาติจะวุ่นวาย วันนี้การเมืองคือการเมือง ตนไม่ได้ขัดแย้งกับการเมือง เมื่อถามว่าเสนอเข้า ครม.หรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ยังอยู่ในวิปพิจารณาอยู่ ถ้าเสร็จเรียบร้อยถึงจะเสนอรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะเห็นชอบและนำเข้า ครม. โดยการนำเข้า ครม. ไม่ได้หมายความจะอนุมัติเลย เมื่อผ่าน ครม.ก็จะเข้าสู่ สนช. ที่จะพิจารณาในวาระ 1-3 เสร็จแล้วก็ประกาศ ใช้เป็นกฎหมาย เมื่อประกาศแล้วก็มีผลการบังคับใช้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ฉะนั้นยังมีโอกาสโต้แย้ง แต่ตนเห็นควรว่าควรจะมีกฎหมายดังกล่าว จะได้ป้องกันเจ้าหน้าที่ได้ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกับประชาชน หากมีคนไม่ดีสักคนสองคนใช้อาวุธ เจ้าหน้าที่ก็ตาย ประชาชนก็เจ็บ ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบอีก ตรงนี้มันเป็นประเด็นและจะไม่จบ ถ้าทุกรัฐบาลคิดแบบตน การเมืองก็ว่าของท่านไป ท่านจะอะไรก็ทำไป แต่ต้องไม่ลืมเสียงส่วนน้อย ต้องดูแลทั้งเสียงส่วนน้อยและส่วนใหญ่ จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาลเขาเป็นคนไทย ต้องดูแลคนไทยจำไว้ทุกรัฐบาล
เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่ที่รัฐบาลนี้พยายามจะออกกฎหมาย แต่นักการเมืองจ้องฉีก นายกฯ กล่าวว่า ตนไปทะเลาะกับเขาไม่ได้ ต้องพยายามสร้างความเข้าใจ ถ้าต้องการให้ประเทศไทยไปข้างหน้า ไม่ใช่การเมืองดีแล้วประเทศไทยถอยหลังมันไม่ได้ หากพรรคท่านดีหรือรัฐบาลดี แต่ประเทศชาติไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมโลกภายนอกแล้วเราจะทำอะไรต่อไปได้ รายได้จะมาจากไหน วันนี้รายได้เรามาจากการส่งออก 60-70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อทั่วโลกรายได้ตก เราก็ตกตามเขา เราจะทำอย่างไรถึงจะสู้เข้าได้ ให้เวลาตนมาคิดอย่างนี้ดีกว่า วันนี้เราสร้างความเข้มแข็ง การลงทุน บีโอไอเพิ่มเทคโนโลยี เครื่องจักรเครื่องมือใหม่ เราคิดใหม่ทั้งหมดซึ่งต้องใช้เวลา
เมื่อถามว่า รัฐบาลเตรียมรับอย่างไร ซึ่งประเทศที่เคยให้สิทธิพิเศษ มองว่าประเทศไทยหลุดพ้นความยากจน และจะไม่ให้สิทธิพิเศษไทยแล้ว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นี่คือปัญหาซึ่งต้องไปคุยกับเขา โดยจะขอยืดเวลาให้เขาผ่อนผัน เช่น การลดสิทธิทางภาษีที่เขาจะไม่ยกเว้นให้เราแล้ว ถ้าไม่ลดสิทธิทางภาษี ต้นทุนเราก็จะสูงขึ้น เพราะค่าแรงสูง ค่าแรงจะบวกในค่าลงทุนแล้วจะสู้กับประเทศที่มีแรงงานถูกไม่ได้ ตรงนี้คือภาพรวมของเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งใช้มาตรการเร่งด่วนระยะสั้น ระยะยาว สร้างความเข้มแข็งปรับทั้งหมดทำคู่ขนานกันไปในระยะเวลาแค่ 4 เดือน รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ทำอย่างนี้
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีที่มีคนมองว่า สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 250 คน คือคณะความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แปลงร่าง ว่าขอถามว่าพวกที่ว่าสมัครมาเป็น สปช.หรือไม่ พรรคการเมืองมาสมัครหรือไม่ ในเมื่อไม่มาตนจะเอาเข้ามาได้อย่างไร เขาสมัครมาแค่นั้นก็ได้แค่นั้น การที่เขาไม่มาสมัครก็ไม่ใช่เรื่องของตน เดิม สปช.ไม่ได้กำหนดกติกาอะไรมากมายเพราะต้องการให้ทุกพวกเข้ามา เมื่ออีกพวกเข้ามา อีกพวกไม่เข้ามาก็กลายเป็นประเด็น ฉะนั้นถ้าตัวเองไม่สมัครไม่ได้เข้ามาก็ไปเสนอหาช่องทางเข้ามาในช่องทางที่เปิดไว้ให้ และเมื่อวันที่ 7 ต.ค.พวกที่สมัครเข้ามา 7 พันกว่าคนแล้วไม่ได้เป็น สปช. ตนได้สั่งทีมกฎหมายไปดูว่าจะตั้งเป็น 2-3 คณะได้หรือไม่ ฉะนั้น 7 พันคนมีงานให้ทำหมด แต่จะให้เป็น สปช.ทั้ง 7 พันคน จะให้นั่งอย่างไร เพราะต้องมีเงินเดือนอะไรเยอะแยะไปหมด
“ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญผมต้องหารือร่วมกันในรัฐบาลว่าจะเอาใคร หลังจากที่ดูรายชื่อแล้ว คนที่จะมายกร่างรัฐธรรมนูญต้องทำกฎหมายให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช้สร้างปัญหา ประเด็นอยู่ที่การสร้างความยอมรับจะทำอย่างไร พวกเราต้องช่วยกันว่าจะสร้างประเทศให้เป็นอย่างไร หรือจะเปลี่ยนวิธีการใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยจะรับได้หรือไม่ ถ้ารับไม่ได้จะลงแค่ไหนก็ว่ากันมา ทำอย่างไรจะเกิดความยั่งยืน แต่ทั้งหมดต้องฟังเสียงจากข้างนอกเข้าไป เมื่อเสร็จแล้วจะถามประชาชนด้วยการทำประชามติหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องดูว่าเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ อย่าเพิ่งถามดักหน้าดักหลัง เรื่องยังไม่เกิดต้องค่อยๆ ทำไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว