xs
xsm
sm
md
lg

ออกแบบรธน.ใหม่ ซื้อเสียงแบนตลอดชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ก.กลาโหม” จับมือ “ส.พระปกเกล้า” จัดเสวนาปฏิรูปประเทศ “สุรศักดิ์” หวังอีก 20 ปีเลือกตั้งบริสุทธิ์ ขณะที่ “บวรศักดิ์” ร่ายยาว รธน.ชั่วคราว ชูยกร่าง รธน.ใหม่ต้องเหมาะกับสังคมไทย ห้ามลอกต่างชาติ วางกลไกป้องกันโกง ใครโดนคดีทุจริตหมดสิทธิเล่นการเมือง ซื้อเสียงแบนตลอดชีวิต ห้ามใช้ประชานิยมที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศ ส่วนปฏิทินร่าง รธน.ใหม่คาดใช้เวลา 11 เดือน อดีต กกต.ชี้ช่องปฏิรูปเลือกตั้ง “ปณิธาน” หนุนประชามติตีตรา กม.สูงสุด

วานนี้ (24 ก.ค.) ที่ห้องพินิตประชานาถ กระทรวงกลาโหม สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับกระทรวงกลาโหม จัดเสวนาสู่ทศวรรษที่เก้า : ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตยไทย ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “การปฏิรูปประเทศไทย: การเข้าสู่อำนาจของสมาชิกรัฐสภา” โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมทั้งมีนักวิชาการร่วมวงเสวนา อาทิ นายปณิธาน วัฒนายากร ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า และนายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง

โดย พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่คงไม่ค่อยเชื่อว่าการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ อย่างเวลาตนไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ตนหย่อนด้วยน้ำตา เพราะไม่ชอบคนที่เลือก แต่ไม่ชอบอีกคนหนึ่งมากกว่า แต่เพราะมีตัวเลือกให้เท่านี้ ก็ต้องเลือกไปให้ครบเสียง ทั้งนี้ตนได้ตระเวนไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือพบว่าประชาชนโชคดีกว่าตนมาก เพราะได้เลือกคนที่รักได้พรรคที่ชอบ ผิดกับตนที่ไม่รักไม่ชอบพรรคใดแต่ต้องหย่อนบัตรไปตามกติกา ซึ่งสุดท้ายคนที่ไม่ชอบก็ได้เข้าไปในสภาไปทำหน้าที่ดีหรือไม่ก็ไม่ทราบ

“วันนี้มาถึงจุดที่ต้องออกแบบให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพดีจริงๆ ผมหวังว่าอีก 20 ปีข้างหน้าซึ่งตอนนั้นผมคงอายุ 80 ปีเมื่อเดินไปหย่อนบัตร คงต้องถามลูกหลานว่าใครดีกว่ากัน เพราะตัดสินใจไม่ถูกระหว่างดีเลิศกับดีมาก ก่อนที่ผมจะตายคงได้หย่อนบัตรอย่างนั้น แต่ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะคนที่ผมเลือกทำงานไม่ได้เรื่อง ผมก็เจ็บปวด” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว

** “บวรศักดิ์” เลคเชอร์อำนาจ 5 องค์กร

ต่อมา นายบวรศักดิ์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ออกแบบให้มี 5 องค์กร คือ 1.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 220 คน มีหน้าที่สำคัญ คือ เลือกคนเป็นนายกฯ และร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3.คณะรัฐมนตรี มีจำนวน 36 คน โดยกำหนดหน้าที่เพิ่มเติมนอกจากการบริหารราชการแผ่นดิน เพิ่มขึ้นอีก 2 หน้าที่ เป็นหน้าที่เฉพาะกาล คือ การปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช.และไม่ให้การยึดอำนาจเสียเปล่า อย่างที่มีการกล่าวถึงการยึดอำนาจที่ผ่านมา

นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า 4.สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ให้มีจำนวน 250 คน ทำหน้าที่ปฏิรูป 11 ด้าน เช่น การเมือง, การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการปฏิรูประบบราชการ, กฎหมาย และกระบวนยุติธรรม, การศึกษา, สื่อสารมวลชน เป็นต้น โดยเสนอไปยัง สนช. ครม. หรือ คสช.เพื่อพิจารณาออกกฎหมาย และให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณายกร่าง และให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่มีอำนาจในการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยตนเอง และ 5.กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดกรอบไว้ 10 ประเด็น

** วางกฏเหล็กซื้อเสียงแบนตลอดชีวิต

นายบวรศักดิ์ ยังได้กล่าวอธิบายในส่วนของกรอบ 10 ประเด็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่มีระบุไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวด้วยว่า บัญญัติ 10 ประการ ในมาตรา 35 ที่ต้องขีดเส้นใต้ ยกตัวอย่างเช่น (2) การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย หมายความว่า รัฐธรรมนูญนี้ไม่ต้องการเห็นไปลอกฝรั่งมาทั้งดุ้น อะไรเหมาะให้สมกับสังคมไทยต้องทำ (4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้ง ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

“แปลว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวบอกว่า ต่อไปนี้คนซื้อเสียง หากพิสูจน์ได้ว่าซื้อจริง ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี อย่างที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ดังนั้นใครคิดจะซื้อเสียงให้อ่านมาตรา 35 (4) ให้ดี เสี่ยงมากที่จะถูกตัดออกจากระบบการเมืองไปตลอดชีวิต รวมถึงคนทุจริตด้วย” นายบวรศักดิ์ ระบุ

** ห้ามประชานิยมทำชาติพัง

นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า (5) กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำ โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แปลว่า หุ่นเชิดทางการเมืองจะมีไม่ได้อีกแล้วต่อไปนี้ (7) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

“พูดง่ายๆ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ต้องแก้ แก้ให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมเพื่อให้การพัฒนายั่งยืน และแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้ใช้คำว่า ประชานิยมก็จริง แต่นี่คือประชานิยม ไม่ได้ห้ามประชานิยมทุกประเภท แต่ประชานิยมที่ก่อให้เกิดผลดีไม่ได้ห้าม แต่ ห้าม “การบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว” นายบวรศักดิ์ กล่าว

** สกัดแก๊งชำเรารัฐธรรมนูญ

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า (9) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้ อันนี้สำคัญ หากรัฐธรรมนูญกำหนดหลักการสำคัญไว้แล้ว หากให้ ส.ส.หรือ ส.ว.มาแก้ได้ตามใจชอบ แปลว่า ก็ไม่มีความหมาย และ (10) กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่างๆให้สมบูรณ์ต่อไปให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จำเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย

“เขารู้ว่า 1 ปีปฏิรูปไม่สำเร็จ จึงกำหนดให้รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดกลไกให้มีการปฏิรูปต่อเนื่อง รวมถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หากจะให้มีต่อก็ต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลด้วย” นายบวรศักดิ์ กล่าว

** กางปฏิทินยกร่าง รธน. 11 เดือนเสร็จ

นายบวรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากกางรัฐธรรมนูญและอ่านทุกมาตราจะพบว่า เมื่อมีการตั้ง สปช.แล้ว ยังไม่มีการนับอะไรทั้งสิ้น จะนับหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดเมื่อมีการเรียกประชุมสภาปฏิรูปฯ ครั้งแรก ฉะนั้นคาดว่า จากนั้นอีก 11 เดือนจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่องทั้งหมดก็จะเป็นที่ยุติชัดเจน เว้นแต่สภาปฏิรูปฯ จะถูกยุบเพราะทำไม่เสร็จ หรือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ

“สำหรับตารางเวลาทำงานขององค์กรต่างๆ จะเริ่มนับ 1 จากการเรียกประชุม สปช.นัดแรก โดยมีกรอบปฏิทินคือ จากการประชุมนัดแรก ภายในระยะเวลา 15 วันต้องตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ, ภายใน 60 วัน สปช.ต้องให้ความเห็นต่อและกรอบคิดต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปยกร่างรัฐธรรมนูญ, ภายใน 180 วัน กมธ.ยกร่างฯ ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ, ภายใน 10 วันต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปยัง สนช., สปช. และ คสช.เพื่อเสนอความเห็น จากนั้นภายใน 30 วัน สปช.ต้องพิจารณาและเสนอญัตติเพื่อขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ กมธ.ยกร่างฯ โดย กมธ.ยกร่างจะแก้ไขหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้รวมเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จ ประมาณ 11 เดือน” นายบวรศักดิ์ กล่าว

** แนะ ส.ส.-ส.ว.ใช้สเปกเดียวกับ สนช.

ขณะที่ นายประพันธ์ กล่าวในช่วงเสวนาตอนหนึ่งว่า การที่เรามีรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก แสดงว่าประเทศมีปัญหาด้านการเมือง การจะทำให้การเมืองดีขึ้นจะต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง ซึ่งจะปฏิรูปการเมืองได้ต้องปฏิรูปการเลือกตั้ง และจะไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่ออกกฎหมายใหม่ ฉะนั้นต้องมีการวางรูปแบบการเมืองการปกครอง โดยในเรื่องการเข้าสู่อำนาจนั้นคงต้องเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า รัฐสภาของเราควรจะมีสภาเดียวหรือ 2 สภา รวมถึงจำนวน ส.ส. ที่ต้องให้สมดุลระหว่าง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.เลือกตั้ง หรือควรจะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่ ส่วนปัญหาระบบการเลือกตั้ง ตนเห็นว่า ถ้าให้เขตเลือกตั้งมีขนาดเล็กลงจะทำให้การซื้อเสียงง่ายขึ้น ซึ่งจากประสบการณ์พบว่าการเลือกตั้งในเขตใหญ่ ไม่ค่อยพบปัญหาการซื้อเสียงเท่าไรนัก

นายประพันธ์ กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เรื่องการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง สนช. ที่กำหนดว่าจะต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อาจนำมากำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย หรือมีข้อเสนอให้คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือพ้นโทษตัดสิทธิทางการเมืองก็ไม่ควรให้สิทธิลงเลือกตั้งอีก หรือแนวคิด กกต.ให้เป็น ส.ส.แค่ 2 สมัย ห้ามเครือญาติลงสมัครพร้อมกันในคราวเดียว โดยข้อเสนอเหล่านี้น่าจะถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาเพื่อหาข้อสรุป

สำหรับการทำประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องพิจารณา โดยต้องคำนึงถึงกรอบระยะเวลาที่ คสช.กำหนดไว้ เพราะถ้าหากมีการทำประชามติต้องใช้เวลาอีกประมาณ 90 วัน ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นช้าลง แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน และนำสู่ความปรองดองและเกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง

** หนุนประชามติ รธน.ฉบับใหม่

ทางด้าน นายปณิธาน กล่าวว่า การเข้าถึงอำนาจว่าปัจจุบันการเข้าสู่อำนาจขึ้นอยู่กับคนส่วนน้อย และเป็นคนหน้าเดิมๆ คนที่มาลงสมัครรับเลือกตั้งมีเพียงกลุ่มเดียว และตัวแทนที่ได้มักไม่มีคุณภาพเมื่อเข้ามาสู่อำนาจแล้วมักมีอำนาจมาก ตรวจสอบยาก กลายเป็นคนมีบารมี จึงอยากฝากประเด็นเหล่านี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ช. ให้มีส่วนร่วมตรวจสอบคุณสมบัติของที่มาเหล่านั้นด้วย ในอนาคตการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นควรประกอบไปด้วยพรรคการเมืองใหญ่เพียง 2 พรรค หรือจะเป็น 2 พรรคใหญ่กับ 10 พรรคเล็ก หรือจะให้ความสำคัญทุกพรรคเท่าเทียม ขณะที่คุณสมบัติของผู้เข้าสู่อำนาจเป็นเรื่องสำคัญ โดยสิ่งที่จะช่วยได้คือการพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตของบุคคลให้ดียิ่งขึ้น สำหรับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการทุจริต สามารถทำได้ด้วยการร่างกฎหมายใหม่เน้นการพัฒนาคุณภาพของคน เพิ่มบทบาทภาคสังคมให้เข้ามามีส่วนในการช่วยกันตรวจสอบการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา นอกจากนั้นก็สามารถปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง

“การทำประชามติภายหลังยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ถือเป็นสิ่งชี้วัดได้ระดับหนึ่งว่า ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ แต่จำเป็นต้องออกแบบการทำประชามติให้เกิดความรัดกุมเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาภายหลัง” นายปณิธาน กล่าว

ขณะที่มาตรการตัดสิทธิ์เลือกตั้งตลอดชีวิตหากพบว่ามีการทุจริตในการหาเสียงนั้น นายปณิธาน กล่าวว่า ไม่มั่นใจว่าจะเห็นผลได้จริงหรือไม่ เพราะแม้จะมีส่วนช่วยยับยั้งหรือป้องกันการทุจริตได้ แต่หากเกิดการผิดพลาดในการพิจารณาตัดสิน อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครนั้นได้

** คาดโผ สนช.ทหาร-ขรก.พรึ่บ

นายตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการคัดเลือก สนช.ว่า ขณะนี้ตนไม่ได้รับการทาบทามแต่อย่างใด รวมถึงนักวิชาการหลายคน โดยพอทราบมาว่าขณะนี้รายชื่อ สนช.ทั้ง 220 คนค่อนข้างจะลงตัวแล้ว ซึ่งการคัดเลือกผู้เข้ามาเป็น สนช.นั้น คสช.คงจะเลือกบุคคลที่มีความไว้ใจได้เป็นอันดับแรก รวมถึงต้องคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานให้มีเอกภาพมากที่สุด จึงคาดว่าสนช.ทั้ง 220 คน ส่วนใหญ่จะเป็นคนในกองทัพ และข้าราชการประจำมากพอสมควร และอาจจะมีอดีต ส.ว.สรรหาที่มีสัญญาใจกัน มีภาคธุรกิจเอกชน นักวิชาการที่ทำงานร่วมกับ คสช.มาอยู่ในกลุ่มของ สนช.ด้วย

นายตระกูล กล่าวต่อว่า ส่วนการออกแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ เพราะ คสช.ต้องการคุมให้ได้ โดยเฉพาะสนช.และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการภายหลังจากนี้ทั้งหมด โดยจะมองการทำหน้าที่ของ สนช.ในสมัยของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) เป็นบทเรียนสำคัญ ส่วนตามกรอบเวลา 1 ปีบวกลบหลังจากนี้ ตามที่ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช.ระบุนั้น อาจจะมีบวกบ้าง 1-2 เดือน และไม่จำเป็นต้องลบ ยกเว้นมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในขณะนั้นอาจจะต้องทำตามกำหนดเดิมที่ได้วางไว้ให้ตรงเวลา ทั้งนี้ คาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่คงจะมีความสอดรับกับรัฐธรรมฉบับชั่วคราวพอสมควรด้วยเช่นกัน

“อาจารย์วิษณุพูดย้ำเรื่องเสียของอยู่หลายครั้ง เพื่อตอกย้ำถึงการรัฐประหารที่ทำไป ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ซ่อนปมไว้หลายอย่าง เช่น มาตรา 44 ก็ไม่เหมือนกับมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะสถานการณ์แตกต่างกัน แต่มาตรา 44 กลับมีพลังเมื่อมีความจำเป็นจะต้องใช้ จึงเป็นความฉลาดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในการดึงเอาไว้เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต” นายตระกูล กล่าว

** “พรรคคนไทย” พร้อมร่วมวงปฏิรูป

ขณะที่ นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า การที่กำหนดให้ กมธ.ยกร่างต้องจัดทําร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุม 10 ประเด็น อาทิ กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน หรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรมนั้น ส่วนตัวมองว่า คสช.มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง อย่างไรก็ตามในแต่ละหัวข้อที่กำหนดขึ้นมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นนามธรรม ซึ่งมองแล้วยากต่อการแก้ไขปัญหาหรือเป้าหมายในการปฏิรูปตามที่ คสช.วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างขาดวิสัยทัศน์ก็อาจจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถาวรที่จะจัดทำขึ้นมานั้น ส่งผลเสียต่อประเทศมากกว่าผลดี

“ผมมองว่า 10 หัวข้อที่กำหนดไว้นั้นเป็นแค่นามธรรม ยากต่อการแก้ปัญหา บางข้อบางกลไกอาจสร้างความแตกแยกมากกว่าปรองดองด้วยซ้ำ และหากผู้ที่เข้ามามีความคิดคับแคบแล้ว ความหวังดีของมาตรานี้จะถูกบิดไปเป็นร้ายได้ หากมีใครใช้ช่องทางในการร่างรัฐ ธรรมนูญ สร้างปมก่อปัญหาเช่นที่เกิดในกา รร่างรัฐธรรมนูญปี 2550” นายอุเทน กล่าว

นายอุเทน เปิดเผยด้วยว่า ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้เปิดโอกาสให้นิติบุคคลที่ไม่แสวงผลกำไร ซึ่งหมายรวมถึงพรรคการเมืองสามารถเสนอตัวบุคคลเข้าร่วมเป็น สปช.ได้นั้น พรรคคนไทยในฐานะที่ยังเป็นพรรคการเมือง ก็พร้อมที่จะพิจารณาตัวบุคคลเข้าร่วมกระบวนการคัดสรร สปช.ด้วย เพียงแต่ขณะนี้ คสช.ยังไม่ประกาศยกเลิกการห้ามดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง จึงยังไม่สามารถเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณาในส่วนนี้ได้ หาก คสช.ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว พรรคคนไทยก็จะใช้กลไกของพรรคในการเสนอชื่อตัวบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้าร่วมกระบวนการสรรหา สปช.ต่อไป

** หวังผู้หญิงร่วมเป็น สนช.-สปช.

นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้ทาบทามตัวแทนเครือข่ายสตรีทุกภาคทั่วประเทศ เพื่อช่วยกันรณรงค์ให้ผู้หญิงได้มีสิทธิ์เข้าไปนั่งเป็น สนช.และ สปช. เพื่อที่จะได้มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นและเป็นตัวแทนของผู้หญิงทั้งประเทศ โดยตนเห็นว่าสัดส่วนของผู้หญิงน่าจะมีจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด หรือมีจำนวนเท่ากับ สนช.ปี 2540 ก็พอใจแล้ว เพราะเข้าใจว่าการเลือกสมาชิกครั้งนี้ค่อนข้างยาก และมีข้อจำกัดและกฎระเบียบมาก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ คสช.เป็นผู้พิจารณา ส่วนรายละเอียดในการรณรงค์ตนยังไม่สามารถพูดได้ในขณะนี้

ด้าน นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า น่าสนใจมากมีบัญญัติ 10 ประการ ที่เป็นมาตรการเข้ม ซึ่งจะมีผลไพศาล โดยเฉพาะในข้อ 3-5 และ 7-8 ซึ่งวางมาตรการเข้มในการตรวจสอบและขจัดการทุจริต ป้องกันและกำจัดนักการเมืองปล้นชาติ ทำให้ ส.ส.และ ส.ว.เป็นอิสระจากทุนและอิทธิพลทั้งปวง สะกัดกั้นประชานิยมที่ล้นเกิน ทำให้การจ่ายเงินรัฐ มีความคุ้มค่า เปิดเผยและตรวจสอบได้ นับเป็นยาแรงที่จะแก้ปัญหาความฉ้อฉลทางการเมือง ที่เป็นมาตลอดในระยะ 12 ปีที่ผ่านมา บัญญัติ 10 ประการ จึงเป็นการตอบสนองพระราชดำรัสที่ว่า"ให้คนดีปกครองบ้านเมือง อย่าให้คนชั่วมีอำนาจ

“นับว่า คสช.ได้ตั้งโจทย์ที่ท้าทาย กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ อย่างมีนัยสำคัญ หากสามารถร่าง รธน.ให้เกิดผลทางปฏิบัติที่เป็นจริงได้ จะเป็นอภิมหากุศลยิ่งใหญ่ต่อแผ่นดินไทย ทำให้การยึดอำนาจไม่เสียของ และมวลมหาประชาชนก็ไม่ต้องมาออกเหงื่อออกแรงกันบนท้องถนนอีก” นายประสาร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น