xs
xsm
sm
md
lg

สปช.วาดฝันปฏิรูปฯ ศก.สีเขียวการเมืองสีขาวสังคมไร้สี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.08 น. วานนี้ (9พ.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์ราชการ ห้องวายุภักษ์ ได้มีการการจัดงสัมมนาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธานการสัมมนา ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีสมาชิกเดินทางมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง
นายเทียนฉาย กล่าวระหว่างเปิดงานตอนหนึ่งว่า จากนี้ไปเราจะเดินไปอย่างมั่นคง และมั่นใจ โดยมีเจตนา3-4 เรื่อง คือ 1. เสริมสร้างสานสัมพันธ์สมาชิกสปช. ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการทำงานข้างหน้า เพราะโอกาสที่จะมีความขัดแย้งทางความคิด มีอยู่สูง แต่การไม่ลงรอยจะไม่เป็นอุปสรรคการทำงาน 2. กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อเป็นหนึ่งเดียวในการปฏิรูปประเทศ 3. เส้นทางจะไปสู่อนาคตที่ความคาดหวังได้อย่างไร และ 4. จะนำผลภาพวาดอนาคตไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร ซึ่งตนคิดว่าใน 4 ประเด็นนี้ เราทำได้แน่ในสองวันนี้ โดยจะชวนให้สมาชิกคิดพร้อมๆ กัน และจูนความคิดให้ตรงกัน ด้วยการเดินหน้าคิกอ๊อฟ จะทำได้เร็วมากขึ้น การปฏิรูปจะพบว่ามีทั้งประเด็นหลัก และประเด็นย่อยที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนปลงให้ดีขึ้น จะเห็นมีมากกว่า 18 เรื่อง แต่บางอย่าง แค่แก้ไขประกาศ หรือคำสั่ง ก็แก้ปัญหาได้ โดยไม่ต้องมีการปฏิรูปเพียงแต่ เราอาจจะช่วยกระตุ้น แค่ปรับแนวคิด องคาพยพ ถึงจะแก้ปัญหาได้

**วาง 6 กรอบให้ปฏิรูปสำเร็จ

นายเทียนฉาย กล่าวว่า ตนคิดว่าเป้าหมายที่จะทำให้การปฏิรูปมีผลสำเร็จ มีด้วยกัน 6 เรื่อง คือ 1 . ปฏิรูปแล้วต้องได้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสมต่อสภาพสังคมไทย 2. เราจะมีระบบเลือกตั้งสุจริต และเป็นธรรม 3. มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริต คอร์รัปชัน 4. จะขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และพัฒนาที่ยั่งยืน 5. กลไกรัฐสามารถให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวกรวดเร็ว และ 6 . ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด เป็นธรรม ซึ่ง 18 ด้านนี้ มีเป้าหมายใน 6 ข้อที่ต้องทำให้เกิด แต่อาจจะจะยืดประเด็นออกไปหรือลดมากกว่า 18 ด้าน ก็สามารถทำได้ แต่เราจะเกินไปได้ไม่ไกลมากนัก เพราะมีเวลาจำกัด อาจจะไม่ทัน
สำหรับกระบวนการปฏิรูป น่าจะมีหลายวิธีและหลายกระบวนการ คือ 1. ให้สาธารณชนมีส่วนร่วม 2. การฟังความเห็นของสาธารณะ และประชาชน โดยจะได้ให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมประชาชน แต่กระบวนการให้มีส่วนร่วมนั้น ควรจะต้องมีความรอบคอบ อย่างน้อย 3. ประการ คือ 1. ประสานสัมพันธ์ให้ดี มีเอกภาพ ทั้งรูปแบบและวิธีการ การจัดให้มีการเข้าไปร่วมรับฟังกรณีที่มีผู้จัด บทบาทของ สปช. กรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการ ต้องวางกันให้ดี เพราะต้องไม่สะดุดขาตัวเราเอง 2. ถูกต้องและยอมรับได้ในระเบียบวิธีให้มีส่วนร่วมของการให้มีส่วนร่วมและรับฟังความเห็น ไม่ใช่สักแต่ให้มีเท่านั้น แต่เพื่อให้ได้ผลรับที่ถูกต้อง และไม่มีอคติ เพราะการฟังความเห็นประชาชน ไม่สามารถฟัง 64 ล้านคน บางคนบางเวลา ต้องจำแนกให้ดีด้วยวิธีที่ถูกต้อง ทั้งหมดต้องวางแผนให้ดี กรรมาธิการแต่ละชุดต้องรับผิดชอบให้มากๆ ก่อนจะไปถึงจังหวัด หรือแต่ละประเด็น
"ระวังเรื่องอ๊อฟไชด์ กรอบอำนาจต้องทำให้ดี กรรมาธิการต้องเร่งรัด และเร่งมือ สมาชิกาอาจจะต้องชะลอสักนิด เพื่อรอทีม เรากำลังเร่งมืออยู่แล้วและไปด้วยกัน ซึ่งการฟัง และให้มีส่วนร่วมไม่ใช่คำมั่นสัญญา แต่เป็นการเอาข้อมูลมาประกอบร้อยเรียงเพื่ออนาคตประเทศไทย"
นายเทียนฉาย ยังได้ฝากถึงสมาชิกว่า เราเดินหน้ามาได้เร็วพอสมควร ขนาดนั้นยังไม่ทันใจ เราจะเร่งอีก ภารกิจเราทุกคนอยู่ที่กรรมาธิการ 18 คณะ แม้ท่านไปร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่าง ก็ต้องไม่ลืมว่ายังอยู่ในกรรมาธิการ 18 คณะด้วย และถือเป็นความสำคัญที่เร่งด่วนแรก ส่วนการให้มีการรับฟังความเห็นให้เป็นลำดับรอง ดังนั้น กรรมาธิการจะต้องไม่ขาดองค์ประชุม เพราะเวลาประชุมจะซ้อนกัน เกรงว่าอาจจะแบ่งภาคไม่ได้ นอกจากนี้ต้องช่วยกันระวังป้องกันเรื่องข้อมูลที่ประชาชนอาจจะเข้าใจผิด เพราะที่ผ่านมามีบางช่วง หากติดตามจากสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่มีการรายงานข้อมูลอย่างรวดเร็ว หากเรามองจากภายนอกจะงง ว่า สปช.ทำอะไรกัน บางครั้งออกอาการเป๋ จึงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจและรีบให้คณะกรรมาธิการแต่ละชุด ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ประธาน รองประธาน เลขานุการ และโฆษก ต้องเริ่มต้น ทุกคนต้องพูดผ่านโฆษกเท่านั้น บางคนอาจจะให้ข้อมูลบ้าง หรือไปสัมภาษณ์บ้าง ก็ต้องเคลียร์ ว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ความเห็นของสปช. จึงขอให้ระวังเรื่องนี้ เพราะหากเกิดปัญหาจะต้องใช้เวลาแก้นาน
นอกจากนี้ อาจจะจำเป็นต้องมีคณะทำงานประชาสัมพันธ์มาช่วย และวางแผน ให้ข้อมูลทั้งสองด้าน กับสมาชิกและสาธารณะโดยตนจะมีการเรียกประชุม สปช.ในวันที่ 11 พ.ย. เพื่อให้มีการรับทราบการตั้งกรรมาธิการทั้ง 18 คณะ และขอมติให้กรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปด้วย เพื่อเร่งจัดให้มีกรรมาธิการวิสามัญอีก 5 คณะ เพื่อให้การทำงานเดินหน้าอย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าว จะมีรูปแบบการสัมมนาโดยการจัดให้สมาชิกได้มีการพูดคุยกันโดยแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 10 กลุ่ม ภายใต้กิจกรรม " ความทรงจำ : การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในรอบ 50 ปี และ อนาคตใน 20 ปีที่อยากเห็น : ฝันว่าอยากจะเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า โดยจะมีการหลอมรวมวิสัยทัศน์ ทั้งหมดของสมาชิกทั้ง 250 คน ในการทำงานร่วมกับประชาชน เพื่อเป็นข้อตกลง และสรุปผลที่จะส่งมอบให้กับลูกหลานต่อไปในอนาคต ว่าประเทศไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ในช่วงเย็น ยังได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก สปช.ด้วย

** ศก.สีเขียว การเมืองสีขาว สังคมไร้สี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่เปิดให้สมาชิกได้แสดงวิสัยทัศน์ตามกลุ่มย่อย 10 กลุ่ม ในหัวข้ออนาคต 20 ปีที่อยากเห็น โดยสรุปส่วนใหญ่ฝันอยากเห็นประเทศไทย มีความสันติสุข ปรองดอง เอื้อเฟื้อ และสุขสงบ มีระบอบการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา ที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมที่มีความเป็นธรรม คนในชาติมีคุณภาพ ระบบกฎหมายที่เป็นธรรม ระบบเศรษฐกิจมีการแข่งขัน และยั่งยืน ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกมิติ มีสถาบันยุทธศาสตร์แห่งชาติที่ยั่งยืน ฝังรากอยู่ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แม้จะมีการเปลี่ยนผู้บริหารจะต้องเดินตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ โดยไม่มีใครสามารถฉีกรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์สร้างคนไทยพันธุ์ใหม่ มีนักการเมืองเลือดใหม่ที่น่าเลื่อมใส สังคมประชาธิปไตยมีความสุข
ขณะที่บางส่วนเห็นว่า ความฝันต่ออนาคตต่อประเทศ ควรจะมีการเมืองที่เข้มแข็ง นักการเมืองมีคุณธรรมจริยธรรม ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนด้านสังคมต้องมีสถาบันครอบครัวอย่างเข้มแข็ง ประชาชนรู้สิทธิ หน้าที่ ของตนเอง ส่วนด้านเศรษฐกิจจะต้องทำตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติ ต้องให้ประชาชนเข้าถึงอย่างพอเพียง และมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรนั้น โดยมีคำขวัญที่ว่า " เศรษฐกิจสีเขียว การเมืองสีขาว และสังคมที่ไร้สี"

**"เทียนฉาย" มั่นใจทำฝันให้เป็นจริง

นายเทียนฉาย ให้สัมภาษณ์ ถึงการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ที่ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองที่ยังออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ว่า เรายังไม่ได้วิเคราะห์เจาะลึกลงไปในเหตุของปัญหาว่า ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากอะไร แต่มีการพูดแบบรวมๆว่า เป็นความขัดแย้งทางการเมือง แต่พื้นฐานอาจจะมีหลายเรื่องความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากร หรือการเข้าไปถึงของการให้บริหารจากภาครัฐ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย จนกลายเป็นความขัดแย้งที่ระเบิดขึ้น จึงจำต้องเข้าไปแก้ไขที่ตัวรากของปัญหามากกว่าที่จะแก้ที่ปลายเหตุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาของประเทศไทยฝังรากลึกมานาน คิดว่าอนาคตที่เราฝันไว้จะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน นายเทียนฉาย กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ในอนาคต หากเราต้องการจะทำ เพราะเหตุการณ์วันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้ง แต่สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นที่เราทำในอดีตก็มีมากมาย ไม่เช่นนั้นประเทศอยู่มาไม่ได้จนถึงวันนี้ ถ้าเรามองเฉพาะด้านลบและอุปสรรค ตนคิดว่ามีแค่ในระยะนี้ แต่หากแก้บางเปลาะไปได้ ประเทศไทยข้างหน้ายังมีความหวังสูงมาก และ สิ่งที่เราคิดวันนี้จะเป็นประโยชน์ในอนาคต จึงอยากให้มองในด้านบวกมากกว่า
"ฝันก็คือฝัน แต่ฝันครั้งนี้จะเป็นจริงแน่นอน เราจะสร้างให้มันเป็นจริง แต่ทุกคนทั้งประเทศต้องช่วยกัน เพราะสังคมให้ความคาดหวังต่อการปฏิรูปสูงมาก บางครั้งก็น่าเป็นห่วง เช่นหลังการปฏิรูปแล้ว จะไม่มีคนพูดโกหก ไม่มีการทุจริต ซึ่งมันไม่ใช่ ก็ยังคงมีคนโกหก แต่คนโกหกต้องจับได้และสังคมต้องไม่คบ ส่วนคนที่ทุจริต ต้องมีการนำมาตัวมาลงโทษโดยไม่มีสองมาตรฐาน ผมคิดว่าความหมายของการปฏิรูปคืออย่างนี้" นายเทียนฉาย กล่าว

** ต้องระดมความเห็นเรื่องประชามติ

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการ สปช. กล่าวว่า การสัมนา สปช.ครั้งนี้ จะเป็นการเป็นออกแบบอนาคตประเทศไทย โดยสมาชิกสปช.ทั้ง 250 คน จะมาระดมความคิดแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อเป็นโรดแมปในการปฏิรูปประเทศทั้งนี้ เพื่อเป็นกรอบในการออกแบบพิมพ์เขียวการปฏิรูป โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งในการสัมนาครั้งนี้ สมาชิกจะประกาศเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการยกเครื่องประเทศ ภายใต้การขับเคลื่อนของสปช. และยืนยันว่า การทำงานของสปช.จะเร่งดำเนินการภายใต้กรอบรธน. เพื่อเป็นไปตามความหวังของประชาชน
ส่วนข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าฯ เรื่องอภิรัฐมนตรีนั้น สมาชิกสปช. ยังไม่มีการพิจารณา แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ทุกฝ่ายร่วมกันเสนอความเห็นการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสปช.จะนำข้อเสนอต่างๆ มาประมวลความเห็น โดยผ่านคณะกมธ.วิสามัญประจำสภา ทั้ง 18 คณะ
สำหรับข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าฯ ให้ทำประชามติ สอบถามประชาชนเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้ร่างฉบับนี้เป็นที่ยอมรับของประชาชน และผ่านการเห็นชอบจากประชาชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ
"อนาคตหากมีการจัดทำประชามติ ทุกฝ่ายต้องหารือกันทั้ง สปช. สนช. ครม. คสช. กมธ.ยกร่างฯ ร่วมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่พรรคกาเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปเข้ามา ซึ่งตรงนี้ สปช.ต้องไปพิจารณากันว่าจะนำความเห็นดังกล่าวเข้ามาในพิมพ์เขียวการเมืองหรือไม่"นายอลงการณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สปช. จะมีการตั้งกมธ.วิสามัญอีก 5 คณะ เพื่อกำหนดทิศทางในการทำงานก่อนเสนอให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 19 ธ.ค. นี้

** จัดตั้ง"อภิรัฐมนตรี"เป็นไปได้ยาก

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการจัดตั้งอภิรัฐมนตรี ในเวทีสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้า ว่า เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และประชาชนอาจจะไม่ยอมรับ และไม่สามารถผลักดันข้อเสนอดังกล่าวได้
ส่วนการจัดทำประชามติ นั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ของสิ่งที่กล่าวกันมา เช่น ที่บอกว่าเป็นเกราะคุ้มครองรัฐธรรมนูญให้มีอายุยาวนานนั้น ไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญอยู่ได้คือ สาระการนำไปบังคับใช้ โดยเฉพาะหากจะทำ แค่ตั้งคำถามว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ เพราะประชาชนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงยังเสียเวลา และใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
เมื่อถามว่าแต่การทำประชามติเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วม นายไพบูลย์ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริงอยู่ในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ในการรับฟังความเห็นของประชาชน ต้องสำรวจความเห็นประชาชนในประเด็นต่างๆ สิ่งที่ตนห่วงคือ การหลงประเด็นว่า รัฐธรรมนูญจะร่างออกมาอย่างไรก็ได้ แต่เสร็จแล้วก็ต้องไปทำประชามติเพื่อให้ผ่าน ก็จะกลายเป็นว่า ไม่ได้ตั้งใจออกรัฐธรรมนูญที่จะให้มีผลบังคับใช้จริงๆ

** ประชามติแค่พิธีกรรม

เมื่อถามต่อว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า ควรทำประชามติเพื่อเป็นเกราะให้กับรัฐธรรมนูญชุดนี้ว่าไม่ได้มาจากการรัฐประหาร นายไพบูลย์ กล่าวว่านายอภิสิทธิ์ ไม่น่าพูดให้เกี่ยวกับการรัฐประหาร ควรพูดเพียงว่า จะได้ชอบธรรม แต่หากจะคิดว่าเพื่อไม่ให้เป็นข้อครหาก็คิดได้ อย่างเหตุการณ์ก่อนปี 2550 ที่มีการทำประชามติแล้ว แต่ไม่ได้ผล
"ความจริงมันเป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น จะทำให้เสียเวลาเพราะเราต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่หากมีพรรคการเมืองต้องการก็ไปหาฉันทามติมา หรือถามกับสังคมให้ยอมรับได้เสียก่อนว่า หากมันไม่ผ่าน การเลือกตั้งก็ต้องยืดออกไปอีก 1 ปี เป็นปี 2560 จากเดิมที่คาดว่ามีขึ้นในต้นปี 2559 แล้ว เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วจะมาหาว่า เป็นแผนการของ ครม. คสช. สชป. และกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ต้องการจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ แต่ ผมเห็นว่าควรใช้รัฐธรรมนูญไประยะหนึ่งก่อน หากมีประเด็นไหนใช้แล้วมีปัญหา ค่อยไปทำประชามติในแต่ละประเด็น แต่สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมด ก็ไม่ควรมาลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าสุดท้าย ส.ส.ที่ออกมาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะเป็นคนดี" นายไพบูลย์ กล่าว

**ห้ามผู้สมัครส.ส.หาเสียง

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ตนจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ ขายเสียงในการเลือกตั้งส.ส. โดยจะยึดรูปแบบการสมัครรับเลือกตั้งของวุฒิสภา ปี 2540 โดยจะให้ผู้สมัครส.ส.ห้ามหาเสียง ปราศรัย หรือโฆษณาผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน รวมทั้งห้ามติดป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ตามพื้นที่ต่างๆ แต่สามารถลงพื้นที่แนะนำตัว พูดคุยกับประชาชนได้ โดยผู้สมัคร ส.ส.จะต้องทำการสมัครกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมเขียนประวัติส่วนตัว รวมไปถึงผลงาน หรือคดีความต่าง ๆหากมี อย่างละเอียด ความยาวประมาณ 2 หน้า จากนั้นให้กกต.พิมพ์ประวัติของผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ทั้งหมด แจกจ่ายให้กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนในพื้นที่ เพื่อพิจารณาเลือกสรรบุคคลที่ตัวเองต้องการเพียงคนเดียว ในรูปแบบเลือกตั้งในระบบเขตเดียว ทั้งจังหวัด จะทำให้การซื้อเสียงยากขึ้น ขณะที่ตัวผู้สมัคร แม้ตอนแรกจะต้องเสียเงินค่าสมัครประมาณ 5 หมื่น –1 แสนบาท เพื่อป้องกันคนที่หวังดัง เพราะกกต.จะต้องไปเสียค่าใช้จ่ายในการพิมพ์เอกสารจำนวนมาก เพื่อแจกจ่ายชาวบ้าน แต่เมื่อผู้สมัครดังกล่าวได้เป็นส.ส.แล้วก็จะได้รับเงินค่าสมัครคืน ขณะเดียวกัน จะทำให้ผู้สมัคร ส.ส.เมื่อเข้าไปในสภาฯแล้ว ไม่ต้องถอนทุนคืน เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง นอกจากนี้ กกต.ยังสามารถจัดการเลือกตั้งได้เร็วขึ้น โดยใช้เวลาไม่เกิน 20 วัน เพราะไม่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง และผู้สมัครไปหาเสียง

**สปท.ระดมความเห็นปฏิรูปตำรวจ

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.)กล่าวว่า ขณะนี้สมาชิก สปช. ต้องระมัดระวังการเสนอความเห็นที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวให้มาก เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เพราะในขณะนี้ประเด็นปฏิรูปที่มีการเสนอกัน มีลักษณะเพ่นพ่าน จนไร้กรอบ ไร้ทิศทาง เช่น บางคนเสนอเปิดช่องนายกฯคนนอก บางคนเสนอเลือกตั้งนายกฯ ทางตรง หรือการตั้งอภิรัฐมนตรี กับประเด็นการกระจายอำนาจ ก็สวนทางกันโดยสิ้นเชิง
สปช.และ กรรมาธิการยกร่างฯ ควรจะรอกรอบทำงาน และกรอบประเด็นก่อน ไม่เช่นนั้นสังคมจะรู้สึกว่า มีการตั้งธง หรือมีพิมพ์เขียวไว้ล่วงหน้า จนประชาชนหันหลังให้กับเวทีการมีส่วนร่วม ที่รัฐออกแบบ
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ต้องขอบคุณ สปช. หลายท่าน ที่ออกมาสนับสนุน การมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะนี่เป็นลมหายใจของการปฏิรูปและจะทำให้การปฏิรูปมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง
นายสุริยะใส ยังกล่าวถึง สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ว่า หลังจากเปิดตัวไป ก็จะรอดูกระบวนการทำงานของ สปช. โดยเฉพาะรูปแบบ และเนื้อหาการทำงาน กรรมาธิการวิสามัญคณะต่างๆ และเวทีที่ คสช. กับรัฐบาลจะตั้งขึ้น เราพร้อมสนับสนุน และเข้าร่วม แต่ต้องไม่เป็นแค่การมีส่วนร่วมแบบพิธีกรรมเท่านั้น ความเห็นของประชาชน ต้องไม่ใช่แค่เสียงนกเสียงกา หรือแค่ไม้ประดับ
ปลายเดือนนี้ สปท. จะจัดสัมนาวิชาการประเด็นแรก คือ แนวทางการปฏิรูปตำรวจ จากนั้นจะออกแบบสอบถามความเห็นจากองค์กรต่างๆ และระดมความเห็นประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟสบุคแฟนเพจ เว็บไซต์ และเตรียมเปิดตู้ ปณ. รับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วไปแล้ว สปท.จะทำการสังเคราะห์ความเห็นประชาชนแล้วยื่นต่อ สปช.เป็นระยะๆ ต่อไป ซึ่งในบางประเด็นอาจประสานงานร่วมจัดกับคณะกรรมาธิการวิสามัญของสปช.
กำลังโหลดความคิดเห็น