“คำนูณ” เผยการทำหน้าที่ สปช.ช่วงแรกคงอภิปรายทั่วไปให้ตกผลึกก่อน ยังไม่มีชื่อประธาน สปช.ในใจ แต่ควรยอมรับทุกฝ่าย ห่วงกระบวนการคัดเลือกตัวแทนเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กรอบเวลาจำกัด แต่หากได้รับเลือกพร้อมทำหน้าที่ ด้าน “บุญเลิศ มติชน” เสียงอ่อน บอกจะไม่ทำตัวดูหมิ่นเหยียดหยามต่อฝ่ายเห็นต่าง โวต้องสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วม
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการทำงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติว่า ภาพรวมในการประชุมช่วงแรกคงเห็นการอภิปรายทั่วไปถึงภาพรวมให้ตกผลึกร่วมกัน ก่อนที่จะแยกกันไปทำงานในคณะกรรมาธิการแต่ละด้าน ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่ได้มีลักษณะสภาอำนาจที่จะต้องออกกฎหมาย แต่เป็นในลักษณะของสภาที่ปรึกษา เพื่อเสนอแนะแนวทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ข้อดีก็คือ สภาของเราก็จะพูดได้กว้างขวางขึ้น ส่วนเรื่องผู้ที่เหมาะสมจะเป็นประธาน สปช.นั้น นายคำนูณกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีชื่อในใจ แต่ควรเป็นบุคคลที่ยอมรับจากทุกฝ่าย และให้โอกาสสมาชิกแสดงความเห็นในการประชุมให้มากที่สุด เพราะตนอยู่ในสภาที่มีการจำกัดเวลาในการอภิปรายมานานมากแล้ว
นายคำนูณกล่าวต่อว่า การส่งตัวแทนสมาชิก สปช.เป็นคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องหารือแนวทางร่วมกันใน สปช.ก่อนว่าจะมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกตัวแทนอย่างไร แต่ส่วนตัวแล้วมีความเป็นห่วงเรื่องกรอบเวลาที่จำกัด ที่ต้องดำเนินการภายใน 15 วัน หลังจากการประชุม สปช.ครั้งแรก แต่เข้าใจว่าการกำหนดวันประชุมวันที่ 21 ต.ค.นี้ ก็เพื่อให้เวลาสมาชิก สปช.ได้หารือกันนอกรอบก่อน ขณะที่บุคคลที่เหมาะสมทำหน้าที่ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และต้องทำงานกันเป็นทีม หากตนเองได้รับเลือกก็พร้อมเข้าไปทำหน้าที่ เพราะตนก็ศึกษาเรื่องนี้มานาน เขียนหนังสือก็เขียนแต่เรื่องนี้ ก็อยากจะได้รับโอกาส
ด้านนายบุญเลิศ คชายุทธเดช (หรือชื่อเดิมคือ บุญเลิศ ช้างใหญ่) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แถลงหลังจากเข้ารายงานตัวว่า ในการทำหน้าที่ สปช. ตนจะไม่กระทำการใดๆ ต่อผู้ที่เห็นต่างในลักษณะดูหมิ่น เหยียดหยาม เพราะที่ผ่านมาประเทศเกิดความสูญเสียจากวิกฤตความขัดแย้งมามากแล้ว ขณะนี้กำลังเข้าสู่ห้วงเวลาของการปฏิรูปประเทศ และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องร่วมแรงร่วมใจกันก้าวไปข้างหน้า กระบวนการทำงานของ สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องสอดคล้องกันโดยต้องสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และในฐานะที่ตนเป็น สปช.สายสื่อสารมวลชน จึงมีความสนใจเกี่ยวกับงานด้านการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และเรื่องจริยธรรมสื่อมวลชน