เลขาฯ วิป สปช.ชั่วคราว เผยมี 32 สมาชิกผ่านคุณสมบัติสมัครนั่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ยันไม่มีบล๊อกโหวต โยนที่ประชุมให้แสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ คาดลงคะแนนไม่เกิน 3 ชั่วโมง ไม่รวมอภิปราย แต่ไม่รู้ได้ครบทุกด้านหรือไม่ บอกห้ามคนนอกแจมไม่ได้หมายความว่าใจแคบ ด้าน “เจิมศักดิ์” ถอนตัวนาทีสุดท้าย ทำผู้สมัครเหลือ 31 คน
วันนี้ (29 ต.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.00 น. นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) หรือวิป สปช.ชั่วคราว กล่าวถึงความคืบหน้าของ สปช.ที่จะสมัครเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้มีสมาชิกสมัครจำนวน 34 คน แต่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 32 คน เนื่องจากอีก 2 คนพบว่าเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมาจาก 11 สาขา 4 ภาค ยืนยันว่าการคัดเลือกครั้งนี้ไม่มีการบล็อกโหวต แต่เปิดโอกาสให้ผู้สมัครหาเสียงกับสมาชิก สปช.ทั้ง 250 คนในห้องประชุมใหญ่ ส่วนจะมีการแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่นั้นก็ ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาลงคะแนนไม่เกิน 3 ชั่วโมง ตรงนี้ไม่รวมระยะเวลาในการอภิปราย อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถกำหนดได้ว่าแต่ละด้านจะได้เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครบทุกด้าน เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญ
“ในการคัดเลือกผู้ไปทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ สปช. ต้องคำนึงถึงนักเทคนิคในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีนักกฎหมายมหาชนเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้หากมีผู้เชี่ยวชาญเทคนิคมากเกินไป รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็จะเหมือนรัฐธรรมนูญสมัยเก่าที่ไม่เกิดความหลากหลาย วันนี้มิติของการเขียนร่างรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนแปลงในอดีตคนยกร่างจะเป็นนักกฎหมายและข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ ทำให้พูดถึงอำนาจรัฐแต่ไม่พูดถึงอำนาจพลเมือง แต่ครั้งนี้เราอยากให้มีสาขาต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น” นายอลงกรณ์กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคการเมืองทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่า อยากให้ สปช.เปิดใจกว้างรับฟังทุกภาคส่วน นายอลงกรณ์กล่าวว่า สปช.มีความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมและเปิดกว้างอยู่แล้ว ซึ่งเรามีหลายกลไก ทั้งนี้การลงมติที่ผ่านมาของ สปช.ในการไม่ให้คนนอก สัดส่วน 5 คน เข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างคงวัดไม่ได้ว่า สปช.ใจแคบ ขอยืนยันว่าเราใจกว้าง แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา และการทาบทาม รวมถึงท่าทีของพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ไม่ได้สร้างความมั่นใจว่าจะเข้าร่วม
ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกลงสมัครเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ด้านการเมือง 6 คน 1. นายชัยอนันต์ สมุทวณิช 2. นายชูชัย ศุภวงศ์ 3. นางตรึงใจ บูรณสมภพ 4. นายไพบูลย์ นิติตะวัน 5.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ 6. นายอมร วานิชวิวัฒน์, ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มี 1 คน คือ นางถวิลวดี บุรีกุล, ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มี 5 คน ได้แก่ 1. นายคำนูณ สิทธิสมาน 2. พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ 3. นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ 4. นายอุดม เฟื่องฟุ้ง และ 5. นายวรรณชัย บุญบำรุง
ด้านการปกครองท้องถิ่น มี 4 คน ได้แก่ 1. นายจรัส สุวรรณมาลา 2. นายไพโรจน์ พรหมสาสน์ 3. นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ และนายวุฒิสาร ตันไชย, ด้านการศึกษา มี 2 คน ได้แก่ นางทิชา ณ นคร และนายมีชัย วีระไวทยะ, ด้านเศรษฐกิจ มี 1 คน ได้แก่ นางนรีวรรณ จิตนกานนท์, ด้านพลังงาน มี 1 คน ได้แก่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวินิช, ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มี 3 คน ได้แก่ 1. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ 2. น.ส.สุภัทรา นาคะผิว และ 3. พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย, ด้านสื่อสารมวลชน มี 1 คนได้แก่ นายมานิจ สุขสมจิตร, ด้านสังคม มี 2 คน ได้แก่ น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา และ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ด้านอื่นๆ จำนวน 2 คน ได้แก่ นายนิรันดร์ พันทรกิจ และ พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์
ขณะที่รายจังหวัดที่แบ่งเป็น 4 ภาค มีตัวแทนที่เข้าสมัครภาคละ 1 คน ได้แก่ ภาคเหนือ คือ นายจุมพล สุขมั่น, ภาคใต้ คือ นายเชิดชัย วงศ์เสรี, ภาคกลาง-ตะวันออก คือ นายประชา เตรัตน์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ พล.ท.นคร สุขประเสริฐ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่านายเจิมศักดิ์ได้ขอถอนตัว ทำให้ผู้สมัครเหลือ 31 คน
ขณะที่ ในช่วงเช้าก่อนที่จะมีเปิดประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในเวลา 14.00 น. เพื่อให้สมาชิกทำการลงคะแนนคัดเลือกผู้สมัครเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 20 คน นางสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ในนามคณะผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และคณะ ได้ยื่นหนังสือต่อนายนายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีการกำหนดสัดส่วนจำนวนผู้หญิงในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครึ่งหนึ่งของจำนวน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด
ทั้งนี้ นายบุญเลิศกล่าวว่า ยินดีรับข้อเรียกร้องดังกล่าวไว้ ซึ่งการประชุม สปช.ในช่วงบ่ายวันนี้ก็คงจะทำให้ทราบว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 20 คน จะเป็นใครบ้าง ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่าง สปช.ด้วยกันผ่านช่องทางต่างๆ ทุกคนให้ความยอมรับและให้ความเคารพในเรื่องของสิทธิสตรี รวมทั้งเปิดโอกาสให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศและการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงขอให้ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย ได้ติดตามการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป