xs
xsm
sm
md
lg

"มีชัย" เดินหน้าร่างรธน. “พรเพชร”พร้อมช่วยงาน ตีกรอบเวลาแค่120วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "มีชัย" เดินหน้าร่างรธน. รับฟังความเห็นทุกภาคส่วนรวมทั้งทหาร โจทย์ใหญ่ทำอย่างไรให้คนในประเทศมีความสามัคคีกัน "พรเพชร" พร้อมช่วยงาน กรธ.ทุกเรื่อง ด้าน"อภิชาต" เผย ถูกทาบทามจากรองวิษณุทำหน้าที่กรธ. ด้าน"ประยุทธ์" อยากให้คนไทยร่วมกัน ตอบแทนคุณแผ่นดิน แจงสปท. สานต่อปฏิรูป ไม่ได้ตอบแทนคว่ำร่างบวรศักดิ์ ขอให้รอ กรธ.ร่างรธน.ก่อน คิดเรื่องแก้รธน. "ขบวนการปชต.ใหม่"แห่ต้าน กรธ.-สปท. หน้าสภาฯ วางศพประณามเนติบริกร 21 คน

เมื่อวานนี้ (6ต.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นัดแรก โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เป็นประธานการประชุม โดยนายมีชัย กล่าวถึง แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญว่า เบื้องต้นจะเป็นการตั้งคณะทำงานในตำแหน่งต่างๆ เช่น ตำแหน่งรองประธาน โฆษก กรธ. ตำแหน่งเลขานุการ พร้อมกำหนดวันเวลาในการประชุม และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพราะการร่างรัฐธรรมจะครบกำหนดภายใน 180 วัน หรือ วันที่ 1 เม.ย. 59 หากตัดวันหยุดราชการ และวันหยุดสุดสัปดาห์ออกไป จะเหลือเวลาทำงานเพียง 120 วัน ซึ่งมองว่ายังไม่เพียงพอ เพราะการ ร่างรธน. เป็นเรื่องของการออกแบบ และเมื่อจัดทำร่างเสร็จเบื้องต้น ต้องส่งไปให้องค์การต่างๆ เช่น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี และประชาชนได้พิจารณา และนำกลับมาแก้ไข หากมีข้อท้วงติงมา และมองว่าขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ซึ่งตนยังไม่ได้คิด

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องคุยกันในกรธ.ว่าจะใช้วิธีใด ซึ่งตนเองคิดว่าจะรับฟังความคิดเห็นอย่างเสรีจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาคประชาชนและการเมือง รวมถึงสื่อมวลชน ก็สามารถมาร่วมแสดงความคิดเห็นได้ และตนมีแนวคิดตั้งวงคุยกับสื่อ หากใครต้องการเสนออะไรก็เสนอมาได้ ส่วนคนที่เห็นต่างมองว่าหากไม่ชอบ ตนเองไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งทุกคนแสดงความเห็นได้ แต่จะต้องไม่ใช่การสั่ง เพราะในประชาธิปไตย มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และตนเองไม่ลำบากใจในการรับฟังความเห็นของคนอื่น พร้อมรับฟังเสมอ

ส่วนกรณีที่มีอดีตนายทหารจากกรมพระธรรมนูญ เข้ามาอยู่ในกรธ. ถึง 3 คน มองว่าทุกคนมีความรู้กฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ไม่จำเป็นว่าจะเป็นการประสานจากฝ่ายกองทัพเป็นพิเศษ ซึ่งเมื่อรับฟังความเห็นชองประชาชนได้ ก็สามารถรับฟังความเห็นจากกองทัพได้เช่นกัน เพื่อความเป็นธรรม

นอกจากนี้นายมีชัย กล่าวถึงเค้าโครงการร่างรัฐธรรมนูญว่า ยังไม่ได้หยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดเป็นพิเศษมาใช้เป็นเค้าโครงในการร่าง แต่หากสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ก็จะต้องนำไปพิจารณา ซึ่งการแก้ปัญหาวิฤตความขัดแย้งของประเทศ ถือเป็นเป้าหมายในทำงาน ซึ่งต้องหาหนทางว่าวิธีและที่ทำให้ประเทศเกิดความสามัคคีให้ได้

**"พรเพชร"มอบดอกไม้ให้กำลังใจ

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้มอบกระเช้าดอกไม้เพื่อแสดงความยินดี และให้กำลังใจ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในการเข้าทำหน้าที่วันแรก และในฐานะลูกศิษย์แสดงความเคารพต่ออาจารย์ พร้อมกับกล่าวภายหลังการมอบกระเช้าดอกไม้ว่า นายมีชัย ถือเป็นอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ ส่วนตัวดีใจ และขอบคุณที่นายมีชัย ตอบรับการมาช่วยงานร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนตัวในฐานะเป็นประธานสนช. ดูแลงานด้านนิติบัญญัติ หากกรธ. ทั้ง 21 คน ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่ากำลังคนหรือสถานที่ประชุม และการประชาสัมพันธ์ แม้กระทั่งการจัดรับฟังความคิดเห็น ก็พร้อมยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่

ส่วนกรณีที่มีพล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ สมาชิก สนช. เข้ามาร่วมทำหน้าที่ในกรธ.เพียงคนเดียวนั้น จริงๆ แล้วไม่มี สนช.เลยก็เชื่อว่าสื่อสารกันได้อยู่แล้ว แต่การมี1คน ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ประสานการทำงานง่ายขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดทำประชามติ เรื่องดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของ สนช. และครม. ซึ่งหากกังวลว่า ยังมีความชัดเจนไม่เพียงพอ ก็อาจให้มีการแก้ไขได้ แต่ทั้งนี้ ครม.และ คสช. จะต้องหารือให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน จึงจะส่งให้ สนช.พิจารณาแก้ไข

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุม กรธ.นัดแรกโดยเปิดใจถึงการเข้ารับหน้าที่ว่า ส่วนตัวอยากให้มีการนำร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ มาพิจารณาเปรียบเทียบให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ก็มีส่วนดีหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามการทุจริตการคอร์รัปชัน ขณะที่การตัดสินใจเข้ามาทำหน้าที่นั้นไม่ได้ตัดสินใจยากอะไร เพราะถือว่าได้รับเกียรติ โดยได้รับการทาบทามจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันตนก็ชื่นชมการทำงานของนายกฯ ที่ทำงานเพื่อนประเทศชาติ จึงยินดีและสนับสนุนเข้ามาทำงานนี้

** ให้คนไทยร่วมตอบแทนคุณแผ่นดิน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม. ถึงการทำงานวันแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ตนให้กำลังใจตลอด และเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาก็ให้กำลังใจมาแล้ว คิดว่าทุกคนเสียสละ ประธานกรธ. ก็บอกว่าทำเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตนอยากให้คนไทยทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินนี้ ที่ยืนอยู่ทุกวัน ซึ่งประเทศนี้มีศักดิ์ศรี มีอิสรเสรี ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร มีวันชาติ วันต่อสู้ของเรามาตลอด ต้องภูมิใจตรงนี้ จะแตกแยกกันไปทำไม เดี๋ยวก็ต้องไปอยู่กับคนอื่นเขา เพราะประเทศล้มเหลว เงินทองไม่มี ต้องไปกู้ธนาคารโลกมาใช้จ่าย ซึ่งก็เห็นตัวอย่างกันอยู่แล้ว เดี๋ยวก็รบกัน ประชาชนแบ่งเป็นพวกเป็นฝ่ายรบกัน อีกหน่อยต่างชาติส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ เข้ามา เธอก็อยู่กันไปแล้วกัน

เมื่อถามว่า มีการพูดคุยเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) กับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.หรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย แต่นายมีชัย บอกว่าจะเอาแนวทางรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาดู รวมถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับที่แล้วด้วย อะไรที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ ก็จะหารือกันใน กรธ. ซึ่งตนได้มอบ กรธ.ไปแล้ว ทำไมตนจะต้องไปคุยว่าจะต้องออกอย่างนู้นอย่างนี้ ตนไม่คุยหรอก ตนบอกเพียงว่าทำอย่างไรจะให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ และไม่เกิดปัญหาเดิมๆขึ้นมาอีก ไม่เกิดความขัดแย้ง เศรษฐกิจดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำหายไป ประชาชนมีส่วนร่วม ในการบริหารราชการแผ่นดิน สิ่งไหนถูกต้อง ก็ต้องสนับสนุนรัฐบาล ไม่ใช่ต่อต้านกันตลอด ทั้งนี้ที่ผ่านมากฎหมายอาญายังไม่ปฏิบัติกันเลย แล้วถามว่ามีรัฐธรรมนูญจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

"วันนี้ต้องสอนคนให้รักษากฎหมาย ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง ซึ่งวันนี้มีทุกอัน แม้แต่ พ.ร.บ.การชุมนุมก็ออกมาแล้ว ก็ยังออกมาเดินอยู่นั่น วันหน้าจะทำอย่างไร ตอนนี้มันผิดกฎหมายกันอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงเตือนเอาไว้ก่อน ยังให้เวลา ถือว่ายังปรับตัวกันอยู่ แต่ทุกคนก็ไม่กลัวกฎหมายเลย ถ้าเป็นอย่างนี้เขียนรัฐธรรมนูญอีกร้อยฉบับ ก็ไม่ได้เรื่อง เพราะรัฐบาลใครก็ไม่รู้เข้ามาจะทำหรือเปล่า ตามรัฐธรรมนูญ แล้วจะแก้รัฐธรรมนูญอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ และประชาชนจะตีกันอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะทุกคนไม่กลัวกฎหมายทั้งสิ้น ตรงนี้จะว่ากันอย่างไร วันข้างหน้าสื่อไปไล่เอาแล้วกัน วันนี้ก็กำลังทำทุกอย่างและผมก็ไม่ได้ห่วงว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามา เพราะท่านเป็นคนเลือกเข้ามา แต่ผมห่วงประเทศชาติจะอยู่ได้หรือไม่ เท่านั้นเอง ถ้าไม่ได้ ผมก็ไม่อยู่ด้วย ท่านก็อยู่กันไปผมถือว่าทุ่มเทให้ทุกอย่างแล้ว แม้แต่ชีวิตผมก็ให้ วันนี้ผมทุ่มเทชีวิตมีใครเสี่ยงเท่าผมบ้าง และผมเข้ามาเพื่ออะไร เพื่อประโยชน์หรือ สลึงนึงยังไม่ได้เลย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามถึงการที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ได้ระบุว่า ควรจะมีกลไกเข้ามาควบคุมรัฐบาลใหม่ ให้เดินตามกรอบปฏิรูปที่วางไว้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการชุดที่แล้วคิดมาว่า ควรจะมีกลไกเพื่อทำให้รัฐบาลหน้าสืบทอดในการแก้ปัญหาไประยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ตลอดชีวิต ตลอดชาติ หากอยากให้เป็นปรกติ หรือไม่ต้องมีกลไกอะไรเลย ก็ไม่ต้องร่างรัฐธรรมนูญ ตนก็ไม่ต้องเข้ามา ทำไมไม่คิดกันแบบนี้บ้าง

เมื่อถามว่า ที่ระบุว่าเสี่ยงชีวิตเข้ามา ตั้งแต่เข้าสู่ตำแหน่งมา มีใครข่มขู่ท่านหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเข้ามาแบบนี้ก็เสี่ยงกับการผิดกฎหมาย ถ้าตนไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ตนก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่สำเร็จแล้วจะเกิดอะไรขึ้น รู้กฎหมายตรงนี้กันหรือไม่ ตนรู้อย่างนี้ยังทำเลย เพราะเห็นคนไทยเดือดร้อนไม่ได้ โดยที่ไม่มีการแก้ไข ตนบอกหลายทีแล้ว ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มันแก้อะไรไม่ได้ มันมีตนคนเดียวที่แก้ได้ ด้วยกฎหมายของตน กฎอัยการศึกเท่านั้น เมื่อไหร่จะเข้าใจ ประชาธิปไตยไหนก็แก้ไม่ได้ เพราะมันติดอยู่อย่างนั้น ถ้าวันนั้นตนไม่เข้ามา วันนี้ก็ยังติดอยู่อย่างนั้นจนถึงวันนี้ แล้วตายอีกเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้ มันก็ไม่ยอมกันทั้งหมด รัฐธรรมนูญก็แก้ไม่ได้ กฎหมายก็แก้ไม่ได้ บริหารราชการก็ไม่ได้ ทุจริตก็เกิดขึ้น ทำไม่ได้ทั้งนั้น งบประมาณปี 2557 ก็ใช้ไม่หมด ตั้งงบประมาณปี 2558 ไม่ได้ วันนี้ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนทั้งหมด จะทำมาค้าขายอะไรกับใครเขาได้ งบประมาณไม่มี ทำไมไม่คิดตรงนั้นกันบ้าง อยากแต่ประชาธิปไตย

"เดี๋ยวย้อนกลับไปได้ไหม back to the pastอะไรซักอย่าง back to the future ไม่ได้แล้ว ดูซิวันนี้ทำใหม่เป็นร้อยเรื่อง กฎหมายสามสี่ร้อยฉบับ มีใครทำให้หรือไม่ แล้วถ้าไม่ทำ มันจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า ทำแล้วผมยังไม่รู้เลยเขาจะเชื่อฟังกันหรือเปล่า เพราะบ้านนี้สอนให้คนไม่เคารพกฎหมาย ไอ้ผมก็พยายามสอนให้คนเคารพกฎหมาย " พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีสมาชิกสปช. อยู่ถึง 60 คน และมีผู้ที่เคยโหวตไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับล่าสุดถึง 40 คน จึงถูกมองว่าเป็นการตอบแทนสมาชิกสปช. เหล่านี้ โดยการให้มาอยู่ในสปท. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนที่ให้ผ่านก็บอกว่าเข้าข้างตน คนที่ไม่ให้ผ่านก็บอกว่าเข้าข้างตนอีก มันจะบ้าหรือเปล่าวะ จะเอาอย่างไร คนเหล่านี้ก็คัดมาจากผู้ที่มีความรู้ในสิ่งที่ทำไปแล้ว ก็ต้องเอาเข้ามาบ้าง อีกพวกหนึ่งก็เอาเข้ามาเพื่อให้เกิดความสมดุล ก็มีพรรคการเมืองเข้ามาหลายคน ไม่เห็นหรือ อย่าบอกนะว่าไม่รู้เรื่อง อย่ามาบอกว่าไม่เกี่ยวข้อง อะไรก็ไม่เกี่ยวๆ ถึงเวลาบอกไม่รู้เรื่อง แล้วคนพวกนี้อยู่พรรคไหน จะลาออกอย่างไรตนไม่สนใจ ถือว่าเคยอยู่พรรคนั้นมาก่อน เข้ามาหมดก็เข้ามาหมด ฉะนั้นอย่ามาบอกว่าไม่รู้เรื่องอีก

เมื่อถามว่า ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำไมจึงไม่ระบุว่าประชามติต้องใช้เสียงข้างมากของ ผู้มีสิทธิออกเสียงออกเสียงทั้งหมด หรือผู้มาใช้สิทธิให้ชัดเจน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องให้ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญก่อน วันนี้ยังไม่มี เดี๋ยวเขาก็ต้องเขียน ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำไมเสียงข้างมากข้างน้อย จะเป็นปัญหาอย่างไร ตนไม่รู้ ใครจะมากจะน้อย จะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ตนอยากให้คนออกมาใช้สิทธิทั้งหมด ต้องรณรงค์แบบนี้ ให้ออกมาใช้สิทธิกันให้มากที่สุด ไม่ใช่ทั้งหมดมีสิทธิออกเสียง 40-50 ล้านคน แต่มาเลือกตั้ง 20 กว่าล้าน แล้วบอกว่านี่คือคะแนนเสียงของคนทั้งประเทศ ตนว่าไม่ใช่ คนที่พูดแบบนี้คิดผิด จะคิดในทางลบแบบนั้นไม่ได้ ต้องมีวิธีใหม่ คนไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ต้องมองไปข้างหน้า อย่างที่บอกตั้งแต่วันแรก มองให้พ้นตัวเองหน่อย ถ้าติดตัวเองจะไปไม่ได้ทั้งหมดทุกเรื่อง ติดนั่นติดนี่ เดี๋ยวเราไม่ได้ผลประโยชน์อะไรต่างๆ ก็แล้วแต่

**"ดิสทัต"พร้อมช่วยงาน"มีชัย"

นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 58 กล่าวถึงการกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องการได้เลขานุการของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 40,50 และปี 58 มาเป็นที่คณะที่ปรึกษา กรธ. ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการทาบทามมา ถ้าทาบทามมา ก็ต้องขอพิจารณาดูก่อนว่าจะรับตำแหน่งหรือไม่ แต่ขณะนี้หากต้องการให้ช่วยอะไร ก็พร้อมช่วย ซึ่งขณะนี้ในกรรมการกรธ. เองก็มีคนจากกฤษฎีกาไปเป็นกรรมการ กรธ.ด้วย

**"ขบวนการปชต.ใหม่"แห่ต้าน กรธ.-สปท.

เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (6 ต.ค.) ที่บริเวณถนนอู่ทองใน หน้ารัฐสภา นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นำโดย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ได้เดินทางมาคัดค้านการทำงานของ กรธ. และ สปท. โดยนายสิรวิชญ์ ได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า กรธ.ทั้ง 21 คน กำลังดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใต้ระบอบเผด็จการ ของคสช. ซึ่งขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เห็นว่าการกระทำของบุคลทั้ง 21 คนนั้น จะเป็นการผลิตกติกาแบบเผด็จการ เพื่อครอบงำสังคมไทยในระยะยาว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คงไม่ต่างฉบับก่อน คือ มีการบ่อนเซาะ องค์กรผู้แทนประชาชนให้มีสถานะอ่อนแอ และให้อำนาจมหาศาลแก่องค์กรที่ไม่มีความยึดโยงประชาชน หากรัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้ จะเป็นการปลูกผังความคิดเผด็จการอย่างรากลึกลงในระบอบการเมืองไทย และคงเป็นการยากที่ประชาธิปไตยจะฟื้นคืนมาได้อีก

ทั้งนี้ การชุมนุมอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ดุสิต จำนวน 40 นาย ซึ่งมีการปิดถนนอู่ทองใน บริเวณหน้ารัฐสภา และให้เวลาชุมนุม 30 นาที จากนั้นนักศึกษากลุ่มดังกล่าว ก็แยกย้าย โดยไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายแต่อย่างใด

***ประชุมกรธ.นัดแรกเน้นแก้ทุจริต-ปรองดอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมกรธ. นัดแรก เป็นการกำหนดให้นำสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญประเทศทุกฉบับตั้งแต่อดีตจนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบ มาศึกษา เพื่อนำส่วนที่ดีมาใช้

นอกจากนี้ คณะกรธ. ยังได้พิจารณาถึงกรอบการทำงานที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ด้วยว่ากรธ. จะมีขอบเขตในการเขียนร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจะต้องเขียนร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับ มาตรา 35 (4) ว่าด้วยการให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพ ในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และประชาชน ซึ่งนายมีชัย ได้มอบหมายให้ทุกคนไปศึกษาและเสนอความคิดเห็นมาให้ที่ประชุม กรธ. ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น